ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ การเปิดพื้นที่ทางศิลปะอันดิบเถื่อน และทรงพลังแห่งแดนอีสาน (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ การเปิดพื้นที่ทางศิลปะอันดิบเถื่อน และทรงพลังแห่งแดนอีสาน (1)

ปี2018 นี้ นับเป็นปีทองสำหรับคอศิลปะร่วมสมัยบ้านเราจริงๆ

เพราะนอกจากกำลังจะมีเทศกาลศิลปะร่วมสมัยครั้งใหญ่จัดติดๆ ถึงสองเทศกาล อย่าง เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่กรุงเทพฯ กลางเดือนตุลาคม และเทศกาลศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ที่กระบี่ ต้นเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะถึงนี้

ไหนจะมีเทศกาลศิลปะร่วมสมัย (ใต้ดิน) อย่างบางกอก ไบแอนเนียล ที่เพิ่งจบลงไปหมาดๆ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาอีกต่างหาก

และต้นเดือนตุลาคมนี้ก็ยังมีเทศกาลศิลปะร่วมสมัยจัดขึ้นในบ้านเราอีกงาน เทศกาลนั้นมีชื่อว่าเทศกาลศิลปะขอนแก่นแม่นอีหลี : เหลื่อม มาบ มาบ #1 (KHONKAEN MANIFESTO : FLASHY FLASHES #1)

หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ขอนแก่นเมนิเฟสโต้” นั่นเอง

ขอนแก่นเมนิเฟสโต้ เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคอีสานบ้านเราในจังหวัดขอนแก่น

เทศกาลนี้มีจุดมุ่งหมายในการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปวัฒนธรรมของชุมชนย่อยของพื้นถิ่นดินแดนอีสาน ที่ถูกควบคุมรวบอํานาจทางศิลปวัฒนธรรมผ่านการปกครองรวมศูนย์จากส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ หรือแม้แต่อำนาจของสถาบันทางศิลปะและวัฒนธรรม ที่กดทับ, ลดทอนคุณค่าของขนบธรรมเนียม, วิถีชีวิตชุมชน, ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น

จนทำให้ผู้คนท้องถิ่นไม่อาจแสดงออกถึงความเป็นตัวตนดั้งเดิมของตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ

รวมถูกผลักไสให้ถอยห่างออกไปจากกระแสหลักของการพัฒนาที่เน้นความทันสมัยและความเป็นศูนย์กลางเป็นหลัก

เทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้จึงเปรียบเสมือนกลไกในการคัดง้างการรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลางดังกล่าวด้วยปฏิบัติการทางศิลปะ ที่ไม่ได้ทำขึ้นในพื้นที่ทางศิลปะอย่าง พิพิธภัณฑ์, หอศิลป์ หรือสถาบันทางศิลปะที่ไหนๆ

หากแต่เป็นพื้นที่ธรรมดาสามัญอย่าง โกดัง, อาคารร้าง, ตึกเสื่อมโทรม และพื้นที่ชุมชนต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อดึงศิลปะออกไปอยู่กับชุมชน และเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นทางสังคม, การเมือง, วัฒนธรรม

และกระตุ้นให้เกิดการสนทนา แลกเปลี่ยน สื่อสาร ตั้งคําถาม ต่อรองกับอำนาจที่กดทับเหล่านั้น

เทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้ริเริ่มขึ้นโดยนักวิชาการ, อาจารย์ และนักวิจารณ์ศิลปะรุ่นใหญ่ผู้มีพื้นเพจากภาคอีสานอย่างถนอม ชาภักดี นั่นเอง

โดยเขากล่าวถึงที่มาของเทศกาลนี้ว่า

“จริงๆ ผมมีแนวคิดที่จะทำโครงการศิลปะในลักษณะนี้มาได้ปีสองปีแล้ว เพราะผมคิดว่าศิลปะไม่ควรจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์อีกต่อไป ศิลปะต้องเดินหน้าเข้าสู่ชุมชนและสังคม เพื่อให้ผู้คนในชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมให้มากที่สุด แล้วอันที่จริง บ้านเราเองก็ไม่ได้คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการแสดงงานศิลปะในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ด้วยซ้ำไป (สังเกตได้จากนิทรรศการศิลปะในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ ที่มีแต่คนดูหน้าเดิมๆ ที่มาดูงานกันในวันเปิดแค่เพียงวันเดียว ส่วนวันอื่นๆ ก็แทบไม่มีคนดูเลย)”

“ประจวบกับการที่ผมได้แนวคิดจากการไปดูเทศกาลศิลปะ เอะจิโกะ-ทสึมะริ ไทรแอเนียล (Echigo-Tsumari Triennale) (ที่จัดขึ้นในพื้นที่ชุมชนชนบทของเขตเอะจิโกะ ทสึมะริ จังหวัดนิกะตะ ประเทศญี่ปุ่น) มา 3-4 ครั้ง ทำให้เราคิดว่า การจะดึงศิลปะออกมาสู่ชุมชนได้อย่างไร นั่นคือประเด็นสำคัญ”

“การที่ผมเลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นสถานที่จัดงานแห่งแรก เพราะขอนแก่นมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การพัฒนาชาติที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มาปักหมุดการร่างนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2504 ที่ริมบึงแก่นนคร ด้วยสโลแกนที่ว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” อีกทั้งยังตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นมา”

“ผมก็เลยตามรอยจอมพลสฤษดิ์ ด้วยการจัดเทศกาลศิลปะในพื้นที่ที่เขาร่างคำประกาศ เพราะฉะนั้นคำว่า “Manifesto” (คำประกาศ) ในชื่อเทศกาล ก็ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร แต่เป็นคำประกาศของผู้นำ เราในฐานะผู้นำทางศิลปะ ก็ควรจะมี Manifesto ที่ขอนแก่นด้วย”

“แต่เราสร้างความขัดแย้งและสวนทางกับความเป็นเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ด้วยการจัดเทศกาลศิลปะ เพราะศิลปะต้องการพื้นที่ที่มีเสรีภาพในการแสดงออก นี่คือหัวใจสำคัญของคำว่า “Manifesto” ในกระบวนการทางศิลปะ เราใช้คำประกาศนี้ในฐานะหมุดหมายของวงการศิลปะไทย”

“เราจะพยายามจัดงานนี้ในทุกๆ สองปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ในปี 2020 หรืออีกสองปีข้างหน้า เราก็จะจัดที่ขอนแก่นกับอุบลราชธานีคู่ขนานกัน แต่จะขยับขยายและเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามแต่บริบทของพื้นที่แสดงงาน เพราะในเมื่อลักษณะของท้องถิ่นในแต่ละท้องที่นั้นมีความแตกต่างกัน เราก็ไม่ควรจะจัดเทศกาลศิลปะแบบเดียวกันในแต่ละพื้นที่ ขอนแก่นก็แบบหนึ่ง อุบลฯ อีกแบบหนึ่ง มหาสารคามก็อีกแบบหนึ่ง นครพนมหรือสกลนครก็อีกแบบหนึ่ง”

“เราพยายามจะจัดงานให้ครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคอีสานให้มากที่สุด เพราะศิลปะก็คือ คำประกาศ หรือ Manifesto รูปแบบหนึ่งของยุคสมัย ที่ไม่จำเป็นต้องทำในสื่อเดียว แต่มีความหลากหลายไม่สิ้นสุด”

ที่น่าสนใจก็คือ สถานที่แสดงงานหลักและสถานที่เปิดงานของเทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้นั้นไม่ใช่พื้นที่ทางศิลปะอย่างที่ถนอมกล่าวเอาไว้จริงๆ และอันที่จริง มันออกจะดิบเถื่อนเอาการด้วยซ้ำ เพราะเป็นอาคารเก่าโทรมที่ถูกทิ้งร้างในตัวเมืองขอนแก่นอย่างตึก GF นั่นเอง

“จริงๆ ตึก GF เดิมเคยเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ GF ซึ่งรุ่งเรืองมากในช่วงทศวรรษ 2530 และมาล้มละลายในช่วงฟองสบู่แตกในช่วงปี 2539-2540 เพราะฉะนั้น ตึกนี้ก็เลยเป็นเหมือนตัวแทนของทุนนิยมที่เติบโตและรุ่งเรืองมากในสมัยนั้น และล่มสลายในเวลาต่อมา”

“เราเลยเลือกตึกนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์เตือนใจว่า ตราบใดที่เราพึ่งพาเครือข่ายของความเป็นทุนมากจนลืมรากเหง้าของตัวเอง วันหนึ่งเราเองก็จะล่มสลายไปเช่นกัน”

“ศิลปะเองก็เช่นกัน เราควรจะกลับมาที่รากเหง้าพื้นฐานของความเป็นสังคมชุมชนมากกว่า ดังนั้น งานศิลปะในเทศกาลนี้จะพยายามให้มีลักษณะที่เชื่อมโยงกับชุมชนให้มากที่สุด และมีลักษณะของการเป็นงานเชิงทดลอง ที่ไม่ยึดติดกับแบบแผนและไม่ตายตัวให้มากที่สุด”

“ด้วยความที่ตึกนี้ถูกปิดตายมาตลอด 20 ปี โดยไม่เคยมีใครมาทำอะไรเลย จึงรกร้างมาก พอเราเปิดตึกนี้เพื่อจัดเทศกาลศิลปะ บางคนก็ช็อกว่ามันจะกลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะได้ยังไง? แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้แหละ ที่จะทำให้สังคมและชุมชนได้ตระหนักว่า พื้นที่แบบนี้ก็สามารถที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะได้ เหมือนกับพื้นที่แห่งนี้ถูกปิดตาย ถูกกดทับมา 20 ปี ภายใต้อำนาจของความ “ไม่มี””

“แต่วันหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ก็เกิด “มี” ขึ้นมา และเปิดให้คนเข้ามาดูชมได้ด้วยพลังของคนที่มาร่วมแรงร่วมใจทำงานศิลปะด้วยกัน”

ลักษณะเด่นอีกประการของเทศกาลศิลปะนี้ก็คือการเป็นพื้นที่แสดงงานแบบสาธารณะที่เปิดให้คนเข้ามาร่วมแสดงงานได้อย่างเสรี โดยไม่จำกัด ไม่มีการคัดเลือก คัดสรร หรือแม้แต่เชื้อเชิญศิลปินให้มาร่วมแสดงงานด้วยซ้ำไป

“ที่ผมทำแบบนี้ก็เพราะต้องการปฏิเสธความเป็นสถาบันของศิลปะ ที่นี่ไม่มีสถาบัน ไม่มีชนชั้น ไม่มีกำแพงกั้น ใครใคร่มาก็มา ใครมาก่อนก็ได้จับจองพื้นที่ก่อน ผมพยายามทำลายขนบของการเชื้อเชิญ เพราะคนส่วนใหญ่เคยชินกับการเชิญ ชอบสร้างสถานะตนเอง กูมีศักดิ์ศรี กูมีเกียรติมาก มึงไม่เชิญกูก็ไม่มา ผมก็เลยไม่เชิญเสียเลย ใครจะหมั่นไส้ก็ช่างมัน เพราะผมคิดว่าถ้าเราไม่เปิดพื้นที่ให้มีเสรีภาพ ความกลัวก็จะครอบงำเราตลอดเวลา”

เทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้ ประกอบด้วยผลงานศิลปะหลากหลายของศิลปินรับเชิญทั้งจากภาคอีสาน กรุงเทพฯ รวมถึงภูมิภาคและเชื้อชาติอื่นๆ ทั้งงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย, ศิลปะสื่อผสม/ผสมผเส, ศิลปะจัดวาง, ศิลปะแสดงสด, หนังสั้น, กวี, ศิลปะสาธารณะ, กราฟฟิตี้และสตรีตอาร์ต นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาทางศิลปะ, การแสดงดนตรีหมอลําพื้นบ้าน และกิจกรรมศิลปะกับชุมชน

นอกจากตึกร้าง GF แล้ว เทศกาลศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้ยังมีการจัดแสดงในพื้นที่ศิลปะทางเลือกอื่นๆ ในตัวเมืองขอนแก่นอย่าง YMD Art Space และ HUAK Society อีกด้วย

ถ้าใครอยากไปชมเทศกาลนี้ เขาก็เปิดแสดงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 6-26 ตุลาคม พ.ศ.2561 เวลา 10:00-19:00 น.

อ้อ ถ้าใครที่เข้าไปชมงานในตึกร้าง GF ก็ควรใช้ความระมัดระวังในการเดินชมงาน เด็กและคนชราควรมีผู้ปกครองหรือผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ (ก็มันตึกร้างนะคุณ!)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการได้ที่ http://khonkaenmanifesto.art/ หรือเข้าไปดูแผนที่ของสถานที่แสดงงานและตารางกิจกรรมได้ที่ https://bit.ly/2IKUey7

ตอนหน้าเราจะเล่าถึงรายละเอียดของผลงานแต่ละชิ้นและบรรยากาศในงานเทศกาลนี้กัน