ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต/’AMG Driving Experience’ ฝูง ‘เบนซ์’ ซิ่ง-เขย่า ‘สนามช้าง’

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ / สันติ จิรพรพนิต [email protected]

 

‘AMG Driving Experience’

ฝูง ‘เบนซ์’ ซิ่ง-เขย่า ‘สนามช้าง’

 

เข้าข่ายเบิลโชค 3 ชั้นกันเลยทีเดียวกับทริปล่าสุดของผมที่เดินทางไปร่วมกิจกรรม”Mercedes-AMG Driving Experience 2018″ ฝึกอบรมการขับขี่ ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เพราะนอกจากไปร่วมทดสอบรถ “Mercedes-AMG” ตระกูลตัวแรงของดาวสามแฉกที่จัดฝูงใหญ่มากันครบแทบทุกเซ็กเมนต์ รวมทั้งมีตัว “C 220 d” ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานแล้ว รวมแล้วมีรถทดสอบหนนี้ราวๆ 30 คัน

งานนี้ยังเปิดตัวรถอีก 3 รุ่นในตระกูล “Mercedes-AMG” ประกอบด้วย

Mercedes-AMG C 43 4MATIC Coup รุ่นประกอบในประเทศโฉมใหม่

Mercedes-AMG E 63 S 4MATIC+

และ Mercedes-Benz C 200 Coupe AMG Dynamic

นอกจากนี้ยังได้จับเข่าพูดคุยกับ “โรลันด์ เซบาสเตียน โฟลเกอร์” ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง

จึงถือว่าเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่ผู้บริหารป้ายแดงจากค่ายดาวสามแฉกเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์แบบเต็มๆ

 

ทริปนี้ผมอยากบอกว่าน่าจะเป็นครั้งแรกกระมังที่ผมเจอเพื่อนพี่น้องนักข่าวสายรถยนต์มากที่สุด เพราะมี 2 กรุ๊ปรวมกันราวๆ 150 คน!!!

กรุ๊ปแรกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตอนเช้า เพื่อร่วมกิจกรรม “Mercedes-AMG Driving Experience 2018” และร่วมงานเปิดตัวรถใหม่ช่วงเย็น

ส่วนกรุ๊ป 2 เดินทางจากกรุงเทพฯ ตอนบ่าย เพื่อไปร่วมงานเปิดตัวรถใหม่ และนอนค้าง 1 คืน ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงเช้าของอีกวัน

แน่นอนว่าผมเลือกที่จะไปกรุ๊ป 2 เพราะโดยธรรมชาติและการทำงานเป็นคนไม่ตื่นเช้าอยู่แล้ว

เดินทางจากสนามบินดอนเมือง ไปถึงสนามบินบุรีรัมย์ จากนั้นต่อรถบัสไปยังที่พักโรงแรมในพื้นที่สนามช้างฯ นั่นเอง

ช่วงเย็นเข้าร่วมงานเปิดตัวรถ 3 รุ่นใหม่ ที่จัดในสนามช้างฯ ซึ่งมีโชว์การขับรถในสนามโดยกลุ่มผู้ฝึกสอน ที่มีประวัติเชี่ยวชาญการขับขี่รูปแบบต่างๆ จากออสเตรเลีย มาโชว์การขับแบบน่าทึ่ง

ช่วงข้อมูลรถใหม่ทั้ง 3 รุ่น ผมขอยอกยอดไปสัปดาห์หน้านะครับ เพราะเนื้อหาค่อนข้างเยอะ ฉบับนี้ขอเน้นไปที่กิจกรรม “Mercedes-AMG Driving Experience 2018” เป็นหลัก

หลายท่านอาจสงสัยว่ากลุ่มนักข่าวสายรถยนต์ ยังต้องอบรมการขับขี่ด้วยหรือ เพราะแต่ละคนฝีมือไม่ธรรมดาอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคงมาขับรถทดสอบไม่ได้

ต้องสิครับ เพราะยิ่งอบรม ทักษะและความสามารถจะยิ่งดีขึ้นไปอีก

ที่สำคัญ ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการขับรถในสนามช้างฯ แบบเต็มรอบและหลายรอบ เพื่อซึมซับอารมณ์คล้ายๆ กับการแข่งขันก็ไม่ผิดนัก

 

ตื่นเช้าวันรุ่งขึ้น เดินทางไปยังสนามช้างฯ ที่อยู่ห่างโรงแรมนิดเดียวเท่านั้น

กรุ๊ปที่ 2 นี้มีนักข่าวที่เข้าอบรมรวม 67 คน เริ่มจากการแนะนำผู้ฝึกสอนจากออสเตรเลีย มีผู้ฝึกสอนคนไทยอีก 3 คน นำโดย “อั๋น” สิรคุปต์ เมทะนี นักขับและครูฝึกมากฝีมือของเมืองไทย

เริ่มจากพูดแนะนำกิจกรรมครั้งนี้ วิธีการฝึกอบรมแต่ละสถานี เหตุและผลในการอบรม รวมถึงได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ได้รับจากสมรรถนะ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของรถเมอร์เซเดส-เอเอ็มจี

จากนั้นแบ่งนักข่าวออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อความรวดเร็ว จะได้ไม่ต้องรอคิวนาน

การอบรมมี 4 สถานี

กลุ่มผมเริ่มต้นที่สถานี “Motorkhana” เป็นสถานีที่จำลองมาจากกีฬามอเตอร์สปอร์ต ผู้เข้าร่วมการทดสอบฝึกบังคับรถยนต์ในสนามจำลองเล็กๆ ที่ทำเลนซิกแซ็กไปมา มีโค้ง และกรวยเป็นตัวบังคับให้อยู่ในเลนเล็กๆ มีอุปสรรคมากมายภายในเวลาที่รวดเร็วที่สุด และปลอดภัยที่สุด โดยไม่ชนสิ่งกีดขวางใดๆ

การขับขี่หรือบังคับรถในเลนเล็กๆ แบบนี้ จริงๆ ก็ไม่ยากหรอกครับ แต่สถานีนี้วัดเรื่องความเร็วด้วย ทำให้แต่ละคนต้องใส่กันเต็มสปีด

จึงมีหลุดบ้าง หรือขับทับกรวยบ้าง ฯลฯ

 

ต่อมาย้ายไปสถานี “Cornering Theory” เป็นสถานีทดสอบการเข้าโค้ง ที่จะใช้พื้นที่โค้งภายในสนามช้างฯ ทั้งหมด 4 โค้งด้วยกัน ซึ่งแต่ละโค้งจะมีความกว้างแตกต่างกันไป

แต่ละโค้งจะมีสิ่งกีดขวางที่วางเป็นสัญลักษณ์ให้กับผู้เข้าร่วมการทดสอบได้ทราบถึงสิ่งที่ควรทำเมื่อเข้าโค้งนั้นๆ เช่น จุดที่ต้องเบรก จุดที่ต้องหักเลี้ยว หรือจุดเอเป็ก ซึ่งเป็นจุดที่สามารถเดินคันเร่งส่งรถออกไปจากโค้งได้ปลอดภัย และรวดเร็วที่สุด

ความรู้จากสถานีนี้ถือว่าใช้ได้จริง เพราะจะแนะนำการเข้าโค้งที่ถูกต้อง และทำความเร็วได้เหมาะสมที่สุด

“Out In Out” คือ 3 คำที่บอกถึงวิธีเข้าโค้งอย่างเหมาะสม นั่นคือ ถ้าจะเข้าโค้งขวา ก็ต้องขับชิดด้านซ้าย หรือด้านนอกก่อนเข้าด้านในของจุดที่โค้งที่สุด เมื่อออกจากโค้งก็ส่งคันเร่งให้ตัวรถออกด้านนอก

วิธีนี้นอกจากช่วยไม่ให้หลุดโค้งแล้ว ยังส่งให้ตัวรถทะยานออกจากโค้งอย่างรวดเร็ว

แต่บอกก่อนว่า บนถนนจริงๆ ต้องระมัดระวังรถที่แล่นตามหลังมาสักหน่อย

 

สถานีถัดไป “Brake and Swerve” เป็นการทดสอบระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบ ESP หรือช่วยการทรงตัว

วิธีการคือขับรถเข้าจุดในความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตร จำลองเหตุการณ์ว่ามีสิ่งกีดขวางด้านหน้า ที่คนขับต้องเบรกเต็มแรงแล้วหักหลบอย่างรวดเร็ว

สถานีนี้จะนำกรวยมาตั้งขวางถนน แล้วให้มีช่องด้านซ้ายกับขวา โดยมีสัญญาณไฟติดตั้งอยู่ที่ช่องทางทั้งสอง

เมื่อไฟติดขึ้น ผู้ขับขี่ต้องเบรกแล้วหักเลี้ยวไปยังช่องซ้ายหรือขวา ตามที่สัญญาณไฟติดขึ้นมา

เรียกว่าได้ฝึกการเลี่ยงอุบัติเหตุ และฝึกสายตากับการตอบโต้อย่างฉับพลัน

สถานีสุดท้าย “ESP Exercise” ทดสอบโดยอิงจากสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวัน กรณีผู้ขับขี่อาจเผอเรอ เช่น รับโทรศัพท์ หรือมองหาสิ่งของในรถขณะแล่นไปตามถนน แล้วจู่ๆ มีรถหรือคนตัดหน้า จนสลับเท้ามาที่แป้นเบรกไม่ทัน จึงต้องใช้วิธีหักหลบไปอีกเลน แล้วหมุนพวงมาลัยกลับมาเลนเดิมอย่างรวดเร็ว

ในการทดสอบกำหนดความเร็วไว้ประมาณ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ช่วงที่ผมทดสอบมีแรงเหวี่ยงค่อนข้างมากแต่เสถียรภาพการทรงตัวยังดีอยู่

เรียกว่าระบบ ESP ช่วยป้องกันอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำได้อย่างดี แม้จะหักพวงมาลัยซ้าย-ขวาอย่างรวดเร็ว

เนื้อที่หมด-หมดเนื้อที่ ว่ากันต่อสัปดาห์หน้ากับการทดสอบขับรถด้วยความเร็วสูงในสนามช้างฯ ซึมซับบรรยากาศการแข่งขันในสนามระดับโลกของเมืองไทย และข้อมูลรถรุ่นใหม่จาก “Mercedes-AMG” ที่เปิดตัวในงานนี้