จัตวา กลิ่นสุนทร : สองผู้ยิ่งใหญ่ “ศิลปิน” ต่างวัยระดับปราชญ์?

อยากเขียนถึงผู้ยิ่งใหญ่ 2 ท่าน ซึ่งได้ “เสียชีวิต” ไปแล้วในระยะเวลาที่ห่างกันหลายปี เนื่องจากว่ามีอายุแตกต่างกันกว่า 2 ทศวรรษ แต่พวกเรามักพูดคุยกันเสมอว่าเป็นการ “ตาย” ที่ไม่ได้ “ตาย” หายไปไหน

ยังคงเหลือสิ่งซึ่งเรียกว่า “เหนือกาลเวลา” คือชื่อเสียงและผลงานฝากไว้บนแผ่นดินนี้ทั้งที่เป็นรูปธรรม นามธรรมจนยากที่จะลืม

ทั้ง 2 ท่านมีอายุแตกต่างกันเฉียด 30 ปี และนับถือเป็นศิษย์อาจารย์กัน แต่ไม่เคยสอนสั่ง หรือศึกษาเล่าเรียนจากสถาบันเดียวกัน แต่ผูกพันกันในความคิดความเข้าใจโดยมีเรื่องราวของศิลปะเชื่อมโยง ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่เคยศึกษาในสถาบันศิลปะโดยตรง

แต่ว่าเป็นผู้รอบรู้ไปเสียแทบทุกเรื่องเพราะความอัจฉริยะ

 

ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี รู้จักคุ้นเคยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยผมเพียงเคยได้ยินข่าวมาบ้างเหมือนกัน

กระทั่งได้เข้ามาร่วมงานกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ซึ่งมีสำนักงานอยู่เลขที่ 12 อาคาร 6 ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ถึงได้เข้าใจชัดเจน

ครั้งแรกที่ก้าวขึ้นไปบนสำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งเปิดโล่งทั้งห้อง มีผนังยาวตลอด กับอีก 2 ด้านหัวท้าย ซึ่งแขวนภาพเขียนเป็นงานเพนต์สีน้ำมัน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ซื้อหาแบบช่วยกันสนับสนุนเป็นทุนการศึกษา โดยส่วนมากเป็นภาพของท่าน (พี่) ถวัลย์ มากกว่างานของคนอื่นๆ

เป็นงานเพนต์ยุคแรกๆ คิดว่ายังไม่ได้เดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ คือ เนเธอร์แลนด์ (Netherlands) เรื่องราวยังเป็นคนลากอวน ชาวประมงที่เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อก้มหน้าลงช้อนปลา มีพระอาทิตย์ดวงใหญ่เป็นฉากหลังเต็มเฟรม และ ฯลฯ

น่าจะตรงกับยุคสมัยที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) วิจารณ์ว่า “นกของนายบินไม่ได้ ม้าของนายก็วิ่งไม่ได้”

 

เมื่อผมลาจากสยามรัฐปี พ.ศ.2534 งานเพนต์ยุคแรกๆ ของท่าน (พี่) ถวัลย์ ยังคงแขวนอยู่อย่างเดียวดายไร้ผู้เข้าใจเหลียวแล ไม่ได้รับการดูแลรักษาจนกระทั่งผ้าใบหมดอายุฉีกขาด เพราะเป็นผ้าใบราคาถูกคุณภาพไม่ดี ซึ่งนักศึกษาศิลปะนิยมใช้ทำงานเรียนเนื่องจากมีทุนไม่มาก แต่เวลานั้นไม่น่าจะมีแคนวาส (Canvas) จากต่างประเทศคุณภาพดีๆ เข้ามาจำหน่าย แต่ถึงมีราคาคงสูงมาก

เท่าที่เห็นอย่างน้อยมีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ชำรุดเสียหายมากจนยากจะซ่อมแซมได้ ต่อจากนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสยามรัฐ หลังท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถึงแก่อสัญกรรม ก็ไม่มีใครรู้ว่างานยุคแรกๆ ของถวัลย์ ดัชนี อีกหลายชิ้นหายไปอยู่เสียที่ไหน

ไม่แน่บางทีอาจมีผู้เข้าใจเห็นคุณค่าแอบฉกไปก็ได้?

ถ้าหากรู้ว่าวันนี้งานจิตรกรรมของท่าน (พี่) มีราคาเป็นหลักล้าน จนกระทั่งมีคนต้องการได้ถึงขนาดแย่งชิง ฟ้องร้องกับทายาท อาจแอบนำเอาออกมาขายย่อมเป็นไปได้

หลังจากถูกอาจารย์ศิลป์ พีระศรี วิจารณ์แบบตรงๆ ท่าน (พี่) มุมานะศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะด้านพุทธศาสนา ปรัชญาจนได้ชื่อว่าเป็นศิลปินวาดรูปที่ทำงานทางด้านพุทธิปัญญา สอดแทรกเรื่องศาสนาพุทธลงไปในงาน

เมื่อเดินทางไปศึกษาต่อในราชวิทยาลัยแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ (Netherlands) กระทั่งจบปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ งานของท่าน (พี่) จึงเปลี่ยนไปเป็นที่ยอมรับว่าลึกซึ้งเป็นตัวของตัวเอง

โดยเฉพาะเรื่องราคาซื้อขายสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ เกินกว่าคนธรรมดาสามัญทั่วไปจะได้เป็นเจ้าของ

 

การสื่อสารในสังคมสื่อออนไลน์ทุกวันนี้ แม้จะต้องตรวจสอบกันแบบดับเบิลเช็กพอสมควรสำหรับเรื่องของข่าวต่างๆ ว่าจริง เท็จประการใด เพราะมักมีข่าวไม่จริงปะปนมาที่เรียกว่า Fake New แต่สำหรับความรวดเร็วนั้นเป็นเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสย่อมรู้ทั่วถึงกันทั้งหมด

บังเอิญได้เห็นคลิป (Clip) ท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี จากไลน์กรุ๊ปพูดเรื่องราวในวงการศิลปะพร้อมเรื่องการทำงานของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่กล่าวข้างต้นของประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วจนสามารถใช้คำว่า “ด๊อกเตอร์” นำหน้าได้ แต่ท่าน (พี่) ไม่เคยติดยึด

ท่าน (พี่) ถวัลย์พูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวในทวีปยุโรปรวมทั้งการสอนศิลปะ และบรรยายให้ความรู้แก่นักศึกษาศิลปะตามสถาบันต่างๆ เนื่องจากว่าท่านเป็นผู้มีทักษะในด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษาทีเดียว ระหว่างนั้นเกิดความคิดอยากเป็น “ศิลปินอิสระ” ไม่ต้องการกลับเมืองไทย

ซึ่งในที่สุดได้หลุดออกมาคำหนึ่งว่า

“ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยบอกว่า–หมาดีย่อมไม่อยู่ห่างเจ้าของ”

 

ท่าน (พี่) ถวัลย์เป็นคนรักสรรพสัตว์ ชอบโครงกระดูก เขาสัตว์ เขี้ยว งา ตั้งแต่ช้าง ม้า วัวควาย กระทิง ฯลฯ ไม่ใช่เพียงแต่สัตว์ในประเทศไทยเท่านั้น ทุกครั้งที่เดินทางไปพักผ่อนเพื่อทำงานยังบ้านพักของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีเวลาว่างก็จะออกตระเวนเพื่อซื้อหาเขี้ยว งา หนังสัตว์ เขาสัตว์ โดยเฉพาะเขา กะโหลก “ควายไบซัน” (Bison) เพื่อมาศึกษาเวลาเขียนรูปสัตว์

วันหนึ่ง 2 ศิลปินแห่งชาติ “กมล+ถวัลย์” ออกตระเวนไปในพื้นที่ซึ่งยังมีฝูงควายไบซัน (Bison) ตัวเป็นๆ ยืนอยู่กันเป็นกลุ่ม ควายไบซันเพศผู้ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งวิ่งตรงเข้ามายังท่าน (พี่) ถวัลย์ เหมือนจะทำร้าย ถึงจะตกใจแต่ยังยืนนิ่งสงบ

เมื่อควายตัวนั้นวิ่งเข้ามาถึงตัว เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเป็นแค่เพียงได้แค่หยุดดม คงคิดว่าศิลปินใหญ่จากประเทศไทยเป็นเพศตรงข้ามกับมันเพราะได้สูดดมกลิ่น

เนื่องจาก 2 ศิลปินแห่งชาติไปซื้อหาเขา กะโหลก คลุกคลีจนมีกลิ่นควายตัวเมียติดตัวมา

 

ครั้งสุดท้ายที่ได้พบพูดคุยกันเมื่อกว่า 4 ปีก่อนที่ “พิพิธภัณฑ์บ้านดำ จังหวัดเชียงราย” ท่าน (พี่) บอกกับผมว่า “ชอบหมา รักหมา–” ให้ผมพาครอบครัว และอย่าลืมเอาเจ้าหมา “บีเกิล” (Beagle) ใส่รถไปด้วย ไปพบกันที่บ้านของท่านที่กรุงเทพฯ เพราะท่านเคยเห็นเจ้าบีเกิลของสาวน้อยที่บ้านตัวนี้ ซึ่งมันมีชื่อว่าเจ้า “ผักกาด” มาแล้วครั้งหนึ่ง ที่ “บ้านศิลปินแห่งชาติ” (อาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ-เสียชีวิต) ที่ทางขึ้นเขาใหญ่ โคราช ซึ่งผมพาครอบครัวไปร่วมงานการเปิดบ้านศิลปินครั้งนั้นด้วยเมื่อกว่า 4 ปีก่อนเช่นเดียวกัน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่าก็เป็นคนรักหมา เพราะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องหมาอยู่บ่อยๆ เลี้ยงหมามากมายหลายรุ่นในชีวิตของท่าน ท่านเล่าให้ฟังระหว่างไปพักผ่อนยังเพิงพักเก่าๆ ริมหาดแม่พิมพ์ จังหวัดระยอง บนที่ดินของท่าน ว่าได้อุ้มเอาลูกหมาสีดำๆ เทาเข้มมาจากที่นี่แหละ และตั้งชื่อมันว่า “สีหมอก”

ก่อนจะได้หมาไทยหลังอานอีกตัวหนึ่งมาจากจังหวัดจันทบุรี ตั้งชื่อว่า “หัวแหวน” เป็นตัวเมีย สุดท้ายหัวแหวน+สีหมอกได้ผลิตลูกหลานออกมาไม่น้อย มีตัวหนึ่งรูปหล่อกว่าตัวอื่นๆ ท่านตั้งชื่อว่า “เสือใบ” ส่วนตัวขี้เหล่สักหน่อย ชื่อ “เสือบวม”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มอบหมายให้ขนตู้ขาหมูใบเก่าเป็นลายรดน้ำลงรักปิดทอง แต่ว่ามันค่อนข้างจะเลือนรางเต็มที เอาไปให้ท่าน (พี่) ถวัลย์เขียนลายเสียใหม่ เอาตามใจเลย จะ “–เขียนอะไรก็ได้” อาจารย์บอกแค่นั้น

ผมต้องเอารถและคนมาช่วยกันยกไปให้ แต่ไม่ได้พบกัน เพียงแต่เขียนข้อความทิ้งเอาไว้

เวลาผ่านไปเท่าไรไม่ได้จดจำ รู้แต่ว่านานมากจนลืมกันหมดไปแล้ว วันดีคืนดีท่าน (พี่) ถวัลย์ส่งข่าวมาว่า “ตู้ขาหมูเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว” จึงไปขนกลับมายังบ้านซอยสวนพลู

ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีเจ้าชายเจ้าของปราสาทในประเทศเยอรมนี ซึ่งติดตามงานของท่าน (พี่) ได้มาเห็นตู้ขาหมูดังกล่าว จึงตามหาจนได้พบ “ปราชญ์วาดรูป” ขอให้ไปเขียนภาพผนังในปราสาท

หลังจากตกลงกันแล้วท่าน (พี่) ใช้เวลากว่าครึ่งปี กับปราสาทแห่งนั้นจึงเสร็จ ก่อนกลับเมืองไทยเจ้าชายเขียนเช็คพร้อมลายเซ็นยื่นให้เป็นค่าสมอง+ฝีมือ ก่อนบอกให้ “ไปกรอกตัวเลขเอาเอง”

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันจากไป ไม่มีใครรู้ว่า “ถวัลย์กรอกตัวเลขลงไปจำนวนเท่าไร?”

 

กลุ่มเพื่อนหญิง-ชายสูงวัยนานๆ จึงมีโอกาสได้พบปะรับประทานอาหารด้วยกัน โดยมี (เจ้าสัวช้าง) ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นเจ้ามือ เพื่อแสดงความยินดีให้น้องๆ ที่ได้ดิบได้ดีในชีวิตราชการมีตำแหน่งถึง “อธิบดี” สนทนากันมากมายหลายเรื่องจนถึงราคาภาพเขียนของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี ที่มีตัวเลขสูงมากจน (1-3 ล้านบาท) ไม่น่าเชื่อ แต่เชื่อเถอะมันคือความจริง ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดการแย่งชิงกันขึ้นด้วยความโลภของคน

คิดถึง “ผู้ยิ่งใหญ่” ทั้งสอง จึงเพียงอยากรำลึกนึกถึง เก็บเอาบางสิ่งบางอย่างมาเล่าขาน ขณะเดียวกันต้องการให้คนแบบนี้มาเกิดบน “แผ่นดินไทย” บ่อยๆ

จะได้ไล่พวก “โง่แล้วขยัน” ให้มันพ้นๆ ไปเสียที จะได้สบายหู ไม่ต้องนั่งฟังมันมาพล่ามบ้าบอทวงบุญคุณ?