คนมีตังค์มาททางนี้! นี่คือ Scansonic HD ลำโพงระดับ High Performance ที่แบบว่า…

กับชื่อ Scansonic นั้น แม้จะเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักและคุ้นหูกันในแวดวงคนเล่นเครื่องเสียงบ้านเราไม่นานปี แต่หากย้อนกลับไปดูถึงที่มาที่ไปแล้ว ต้นกำเนิดของลำโพงจากเดนมาร์กแบรนด์นี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีความเกี่ยวพันกันอย่างเป็นสำคัญยิ่งกับชื่อ Raidho Acoustics อันเป็นค่ายลำโพงระดับ Super Hi-End สัญชาติเดียวกันนั่นเอง

และเป็นลำโพงแบรนด์ Raidho ที่มีราคาตั้งแต่คู่ละหลายๆ แสน ไปยันซิสเต็มลำโพงชุดละกว่าสิบล้าน (บาท)

ซึ่งหากพูดกันตามภาษาบ้านๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นค่ายที่ทำแต่ลำโพง Hi-End กับ Super Hi-End โดยเฉพาะก็ว่าได้

และนั้นจึงเป็นความท้าทายหนึ่งของใครบางคนใน Raidho Acoustics ที่ได้ตระหนักคิดในบางมุมที่ย้อนกลับ ทำนองว่า – นี่, เราจะไม่ทำลำโพงในระดับที่ใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ โดยมีคุณภาพเสียงอันเป็นที่ยอมรับในระดับความคุ้มค่าสูงสุดของเงินที่เขาจะจ่ายไปบ้างเลยหรือ

นั่นเองจึงเป็นที่มาของแบรนด์ Scansonic ลำโพงระดับ High Performance อันเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมใน Raidho Acoustics มากว่าสิบปี ซึ่งกำเนิดขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขของการออกแบบที่นอกจากจะนำวิวัฒน์แห่งเทคโนโลยีมาผสานเข้ากับประสบการณ์ได้อย่างถึงพร้อมแล้ว

ยังต้องสืบทอดความประณีต พิถีพิถัน ของงานฝีมือที่เป็นประเพณีและมรดกตกทอดของชาวสแกนดิเนเวียเอาไว้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย

และที่เป็นอีกเงื่อนไขสำคัญ นั่นก็คือสิ่งที่ดีที่สุดภายใต้งบประมาณที่ได้ถูกจำกัดเอาไว้อย่างชัดเจน สำหรับลำโพงแต่ละรุ่นในแต่ละซีรี่ส์

ซึ่งนั่นมันแน่นอนว่าในการออกแบบลำโพงแบรนด์ใหม่ จะต้องนำแก่นแท้อันสำคัญยิ่งของเทคนิคการออกแบบลำโพง Raidho มาใช้เป็นพื้นฐาน โดยที่แผงทวีตเตอร์แบบริบบิ้นจะต้องทำงานร่วมกับชุดตัวขับเสียงที่เป็นแผ่นไดอะแฟรม ซึ่งต้องมีน้ำหนักเบาและเป็นแผ่นบางมากๆ ได้อย่างลงตัว โดยมีความราบรื่นและต่อเนื่องกับการทำงานของมิดเรนจ์เป็นเนื้อเสียงเดียวกันอย่างสมบูรณ์

นอกจากนั้น การคัดสรรวัสดุที่นำมาขึ้นรูปเป็นตัวขับเสียง ทั้งในส่วนของแผงริบบอน ทวีตเตอร์ และการขึ้นรูปกรวยของไดรเวอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นวัสดุที่มีแผ่นบาง เบา และมีความแกร่งสูง โดยเฉพาะกับแผงทวีตเตอร์ที่ขึ้นรูปจาก Kapton-Aluminum ประกบเข้ากันแบบแซนด์วิชนั้น มีความบางและเบากว่าการขึ้นรูปด้วยวัสดุอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้า หรือวัสดุอย่างเซรามิก หรือโลหะอย่าง Beryllium หรือแม้กระทั่งพวก Diamond Dome ถึง 50 เท่า ซึ่งนอกจากจะให้รายละเอียดเสียงออกมาได้ในระดับ High Resolution ที่เหนือกว่าแล้ว ยังปลอดจากสีสันในน้ำเสียงอันเนื่องมาจากตัววัสดุเองอีกด้วย

จึงเมื่อนำลำโพงออกสู่ตลาด ทำให้ได้รับความนิยมในหมู่คนเล่นเครื่องเสียงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นที่ชื่นชมของบรรดานักวิพากษ์วิจารณ์เครื่องเสียงอีกมากกว่ามากด้วย ดังจะเห็นได้จากการได้รับรางวัลของนิตยสารต่างๆ มากมาย

โดยในการออกแบบและผลิตลำโพง Scansonic นั้น มี Mr.Ole Nielsen ซึ่งเป็นมือหลักในการปรับแต่งเสียงให้กับลำโพง Raidho Acoustics ทุกซีรี่ส์ และแทบจะทุกรุ่น มาทำหน้าที่ Production Manager ให้กับลำโพงค่ายนี้

หยิบเรื่องลำโพง Scansonic มาพูดคุยด้วยเที่ยวนี้ ก็เนื่องเพราะเดือนก่อนน้องนุ่งหอบหิ้วลำโพงค่ายนี้มาฝากคู่หนึ่ง บอกพี่ช่วยลองฟังดูหน่อยว่าเป็นไง เห็นข้างกล่องเขียนเอาไว้ด้วยตัวโต้งๆ ว่า MK5 ซึ่งน่าจะเป็นชื่อรุ่น และดูจากกล่องที่น้องเขาอุ้มมาแล้ว ก็ต้องเป็นพวก Bookshelf มากกว่าจะเป็นพวก 3 ชิ้น/ชุด อย่าง Sat/Sub System เป็นแน่ ซึ่งหลังจากแกะกล่องออกมาดูแล้วก็ใช่อย่างที่คิดครับ เพราะผู้ผลิตบอกว่าเป็น Stand-Mount Speaker คือให้ใช้งานประกอบขาตั้งนั่นเอง

ค้นหาข้อมูลแล้วไม่ได้อะไรมาก ในเว็บไซต์ผู้ผลิตเองก็แทบไม่มีข่าวอะไร ไปเจอแต่หมายข่าวแจกในเว็บอื่น ระบุว่า Scansonic MK5 เพิ่งถูกเปิดตัวออกสู่ยุทธจักรลำโพงเมื่อปลายไตรมาสแรกของปีนี้นี่เอง ด้วยการชูประเด็นว่าเป็นลำโพงในกลุ่มที่ “ใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้” อันน่ามหัศจรรย์ยิ่ง

เพราะเป็นลำโพงประกอบขาตั้งที่จัดอยู่ในระดับ High Performance อย่างแท้จริง

Model MK5 มีขนาดเล็กกะทัดรัด ในแบบ Compact Two-Way, Mini-Monitor โครงสร้างตู้แบบสี่เหลี่ยมปกติ หน้าแคบ ลึก และลบขอบมุมแบบไร้เหลี่ยมคมเป็นความโค้งมนแทน ระบุใน Press Release ว่ามีให้เลือกแบบผิวเปียโนสีขาว และสีดำ แต่ที่ได้มาลองครั้งนี้เป็นสีดำซึ่งมีลักษณะเป็นดำหม่น ไม่ใช่ดำแบบ Glossy-Black อันแวววาวที่คุ้นกันเวลาระบุว่าเป็น Black-Piano Finish เหมือนลำโพงอื่นๆ ในกล่องมีถุงมือขาให้มาด้วยเหมือนจะบอกอยู่ในทีว่าควรใส่ถุงมือก่อนจับต้อง เพราะอาจทำให้เกิดรอยนิ้วมือได้เหมือนพวกลำโพงผิวตู้แบบเปียโนทั่วๆ ไป แต่นี่มิพักต้องสวมใส่ก็พอจะได้อยู่ เพราะจับด้วยมือเปล่าก็มิได้เกิดริ้วรอยอะไรมากนัก

เป็นลำโพงที่พัฒนามาจากรุ่นเดิมคือ Model M5 การจัดวางไดรเวอร์ยังเหมือนเดิม คือทวีตเตอร์ที่เป็นแผง Planar Ribbon นั้นวางอยู่เหนือ Mid/Bass Driver ที่อยู่ในโครงสร้างเดียวกัน ใต้ชุดไดรเวอร์เป็นช่องสี่เหลี่ยมแคบแนวยาวเกือบเต็มความกว้างแผงหน้าตู้

เป็นลำโพงที่เปิดเปลือยเนื้อตัวให้เห็นแผงหน้าแบบชัดๆ เนื่องเพราะไม่มีแผงหน้ากากปิดเหมือนลำโพงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม, ส่วนที่เป็นแผงทวีตเตอร์นั้นมีตะแกรงโลหะโปร่งปิดเอาไว้ เพื่อมิพักต้องเป็นกังวลว่าแผงพลานาร์ ริบบอน ที่แลดูบางเฉียบนั้นจะถูกกระทบกระทั่งได้

แผงหลังของตู้มีชุดขั้วต่อลำโพงเป็นแบบ Binding-Post ติดตั้งอยู่บนแผ่นระบุชื่อแบรนด์และรุ่น พร้อม Type Number ของตู้ และบอกค่าอิมพีแดนซ์ กับระบุการใช้งานกับกำลังขับของแอมปลิไฟเออร์ แผงหลังตอนบนเซาะร่องเกลียวเอาไว้ให้สองชุด สำหรับประกอบเข้ากับชุดแขวนติดผนัง โดยมีอุปกรณ์สำหรับประกบส่วนนี้มาให้พร้อมสรรพ แต่ไม่มีขายึดจำพวก Bracket ให้มาด้วย เข้าใจว่าเป็น Option แยกซื้อ/ขายต่างหาก

ด้านใต้ตู้เซาะเกลียวร่องมาให้สองชุดเช่นเดียวกัน สำหรับประกอบเข้าขาตั้งแบบ Stand-Mount ที่มีออกแบบมาเป็นเฉพาะรุ่น แต่คงแยกซื้อ/ขายต่างหากเช่นเดียวกัน

แม้โดยภาพลักษณ์แล้วแทบจะแยกไม่ออก ว่ารุ่นที่เป็นพัฒนาการใหม่นี้จะแตกต่างกับรุ่นก่อนหน้านี้ที่ตรงไหน ผู้ผลิตบอกว่าให้ดูชื่อรุ่นที่มีตัวอักษร K เพิ่มเข้ามา เพราะนั่นมันหมายถึงกรวยที่เป็นแบบ Cone ของ Mid/Bass Driver ชุดใหม่ที่ขึ้นรูปด้วยวัสดุ Kevlar และทำงานร่วมกับชุดแม่เหล็กในระบบแขวนลอย

ขณะที่ชุดตัวขับเสียงเดียวกันนี้ซึ่งใช้อยู่ใน Model M5 นั้น เป็นการขึ้นรูปด้วยวัสดุที่ผสมผสานกันระหว่างกระดาษและโพลีโพรไพลีน (Paper-Polypropylene Compound Driver) ครับ