ผ่า “การลงทุนในธุรกิจการเมือง” เลือกตั้งครั้งนี้(ต้องมี)ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

พรรคการเมืองพรรคหนึ่งหากหวังผลในการลงเลือกตั้ง จำเป็นต้องมีทุนรอนก่อนลงแข่งขันเท่าไร จัดเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องใดบ้าง เป็นเรื่องที่คนอยากตั้งพรรคการเมืองต้องอ่าน

แต่สำหรับประชาชนทั่วไปยิ่งน่าอ่านว่าการเข้ามามีอำนาจทางการเมืองเขาต้องใช้เงินกันขนาดนี้ทีเดียวหรือ

การออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง ให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน มีรากฐานการสนับสนุนจากประชาชน ไม่ใช่พรรคของนายทุน

และทำให้การเมืองเป็นการเมืองต้นทุนต่ำ คือ คนไม่มีเงินมากมายก็สามารถเข้าสู่การเมืองได้โดยไม่ยาก

มาถึงวันนี้ วันที่ใกล้เลือกตั้ง สัญญาณต่างๆ ที่จะนำไปสู่ผลที่ต้องการดังกล่าวยังไม่เห็นชัดเจนนัก

ลองมาคิดดูว่า พรรคการเมืองหนึ่งๆ หากหวังผลในการเลือกตั้ง ต้องใช้เงินสักเท่าไร

โดยคำนวณในกรณีเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่หวัง ส.ส.ประมาณ 100 คนขึ้นไป ซึ่งจะสามารถวางตัวเป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไม่เป็นปัญหานัก

ประการแรก ค่าสมัครของผู้สมัคร 350 เขต และบัญชีรายชื่อ 150 คน

พรรคที่ต้องการได้คะแนนเสียงจำนวนมากต้องผลักดันตนเองให้สามารถมีผู้สมัครให้ครบทุกเขต เพราะมุ่งหวังที่จะเก็บคะแนน “ทุกเม็ด” เพื่อมาสะสมในการคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีภายใต้กติกาใหม่ “บัตรใบเดียว”

ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ครบ 150 คน แม้จะรู้อยู่ทั้งรู้ว่าหลังจากคำนวณคะแนนทั้งประเทศแล้ว จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่ออาจไม่ได้แม้แต่รายเดียวหากคำนวณแล้ว จำนวน ส.ส.ที่พึงจะมีน้อยกว่าจำนวน ส.ส.เขตที่ได้ไปแล้ว (เป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างมาก)

แต่ก็ต้องส่งชื่อให้ครบ หรือให้มากที่สุด

เพราะจะเป็นฐานในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียงที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แสดง

ดังนั้น พรรคใหญ่จะต้องเสียค่าสมัครจำนวนเต็ม 500 คน (350+150) คนละ 10,000 บาท เป็นเงิน 5,000,000 บาท

นี่เป็นก้อนแรกที่ต้องประเดิม

ประการที่สองที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งจะมีการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยมีฐานจากตัวเลขที่ถูกกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายในอดีต ปรับเพิ่มตามค่าครองชีพที่อาจเพิ่มขึ้นตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป และการตกลงตัวเลขที่เหมาะสมจากการเห็นตรงกันของพรรคการเมืองและ กกต.

ซึ่งหากจะยึดตัวเลขล่าสุดที่ กกต.เคยออกประกาศโดยการตกลงกับพรรคการเมืองคือ ผู้สมัครหนึ่งคนสามารถใช้เงินหาเสียงได้ 1.5 ล้านบาท และหากส่งชื่อผู้สมัครบัญชีรายชื่อกี่คน ก็เอามาคำนวณรวมในอัตราเดียวกัน

แม้ว่าการเลือกตั้งคราวนี้ กกต.เองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายบางอย่างในการหาเสียงให้แก่พรรคการเมือง เช่น เป็นผู้จัดหาการติดตั้งแผ่นป้ายเพื่อติดโปสเตอร์ตามแหล่งชุมชนต่างๆ และกำหนดให้การติดโปสเตอร์ต้องมีขนาด จำนวน และสถานที่ติดตามที่ กกต.กำหนด ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง

แต่ก็คาดได้โดยไม่ยากว่า การตกลงในการกำหนดค่าใช้จ่ายคงไม่แตกต่างไปจากเดิม คือประมาณ 1.5 ล้าน ต่อผู้สมัคร 1 คน ทั้งผู้สมัครเขตและบัญชีรายชื่อ

ดังนั้น เมื่อเอา 500 คน คูณด้วย 1.5 ล้าน ตัวเลขที่ออกมาจึงดูน่าตื่นตระหนกว่า ต้องมีอีก 750 ล้าน เพื่อการหาเสียงทั้งในระดับเขตและภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งพรรคใหญ่ที่มีทุนรอนคงอยากได้กรอบตัวเลขที่สูง เพราะจะสามารถใช้เงินเพื่อสร้างการยอมรับ ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งโฆษณาได้มาก ยิ่งโฆษณามาก ยิ่งได้เปรียบมากเป็นธรรมดา

ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงดังกล่าวกระจายลงไปตามวิธีการที่ใช้ในการหาเสียง

เช่น ค่าจ้างทีมงานผู้ช่วยหาเสียง ค่ายานพาหนะ รถแห่ เอกสารสิ่งพิมพ์ ป้าย การลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ รายการวิทยุ-โทรทัศน์ (หาก กกต.อนุญาต)

การหาเสียงทางอินเตอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันราวฟ้าดินได้ หากต้องจ้างโปรดักชั่นที่มีคุณภาพดูดีเป็นที่ประทับใจก็ราคาหนึ่ง แต่หากธรรมดาๆ ก็อาจจะอีกราคาหนึ่ง หากจ้างดารา ค่าตัวอาจพุ่งขึ้นไปเป็นแสนเป็นล้านก็ย่อมได้ ดังนั้น พรรคใหญ่จึงพอใจกับการได้กรอบวงเงินสูง ซึ่งเขาเชื่อว่าเขามีศักยภาพในการจ่าย ในขณะที่พรรคเล็กกลับอยากให้จำกัดวงเงินเพราะเขาคงไม่มีผู้สนับสนุนทางการเงินที่มาช่วยกันลงขันได้เท่าพรรคใหญ่

รายการค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเป็นรายการที่ผู้สมัครต้องรายงานต่อ กกต.ภายหลังการเลือกตั้งว่าได้ใช้จ่ายเป็นจำนวนจริงไปเท่าไร โดยแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายภายในเวลาที่ กกต.กำหนด มิฉะนั้นจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งการออกแบบระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าได้ใช้จ่ายจริงตามนั้นหรือไม่ เป็นระบบสารภาพเหมือนกับการยื่นรายการการเสียภาษี ดังนั้น สิ่งที่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจ่ายจริงอาจมากกว่าจำนวนเงินที่รายงาน

ยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้า ระบบการส่งผ่านข้อมูลถึงประชาชนอยู่ในอากาศ จับต้องไม่ได้ ไม่มีผู้ตรวจสอบได้ รายจ่ายบางประเภทอาจจ่ายตรงไปยังธุรกิจที่ประกอบการเรื่องนั้นๆ ในต่างประเทศ เช่น Facebook Youtube Twitter เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าการลงโฆษณาผ่านสื่อดังกล่าวได้ใช้จ่ายไปจริงเท่าไร ในเมื่อทุกอย่างเป็นความลับของลูกค้าที่ธุรกิจต้องรักษาและกฎหมายไทยไม่สามารถเอื้อมมือไปขอความร่วมมือได้

ประการที่สาม นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่เห็นๆ ในรายการค่าสมัครและค่าหาเสียงข้างต้น ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่หวังผลให้มี ส.ส. ในฐานะพรรคขนาดใหญ่บางพรรค ยังอาจมีรายการค่าใช้จ่ายที่เป็นวิชามารอีก เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อตัวผู้สมัครเกรดเอ ค่าใช้จ่ายในการซื้อตัวคู่แข่งไม่ให้ลงสนามแข่งขัน ค่าใช้จ่ายในการซื้อเสียงแบบโปรยและแบบหวังผล ค่าใช้จ่ายในการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดการหรี่ตาหากกระทำผิดหรือปัดเป่าคดีจากหนักเป็นเบาหรือให้ละลายหายไป เป็นต้น

สำหรับผู้สมัครเกรดเอ เช่น เป็นอดีต ส.ส.ในเขตนั้น มีฐานคะแนนเสียงที่ดี ทำการบ้านในพื้นที่โดยสม่ำเสมอ อาจเป็นที่หมายปองของพรรคการเมืองต่างๆ ในสถานการณ์ที่คะแนนพรรคยังมีความหมายต่อชัยชนะในพื้นที่ ผู้สมัครเกรดเอเหล่านี้จะยังคงผูกติดกับพรรคเดิมไม่ยอมแปรผัน แต่หากคะแนนนิยมของพรรคในพื้นที่เริ่มแกว่ง การเสนอตัวเลข 5 10 15 20 อาจปรากฏ ถือเป็นการลงทุนของพรรคเพื่อแจ้งเกิดในพื้นที่นั้นๆ

สำหรับผู้สมัครเกรดบี เช่น เป็นผู้ที่เคยสมัครแต่ได้คะแนนเป็นที่สองในเขตนั้นๆ หรืออาจไม่เคยสมัครแต่เป็นเพชรเม็ดงามในพื้นที่ หากสามารถทาบทามมาลงแข่งขันได้ก็อาจได้รับคะแนนเสียงพอสมควร

การเสนอตัวเลข 2-5 จึงเป็นตัวเลขที่ใช้ในจำนวนที่เหมาะสม

แต่สำหรับผู้สมัครเกรดซีหรือดี เป็นเรื่องที่พรรคคงแค่รับปากว่าจะช่วยค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่ต้องออกเงินเอง หรืออาจให้ออกไปก่อน แต่การช่วยเหลือจริงจะมากน้อยเพียงไรคงต้องแล้วแต่สถานการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้า

ค่าใช้จ่ายในการซื้อตัวคู่แข่งไม่ให้ลงสนาม เป็นวิชามารในอดีตอีกวิธีหนึ่ง เช่น ถ้าเห็นว่าคู่แข่งในพื้นที่มีคะแนนเสียงดี ถ้าหากอยู่ในสนามแข่งขันก็อาจเป็นภัยคุกคามต่อตน ก็อาจใช้วิธีการเสนอตัวเลขแก่คู่แข่งแบบไม่ต้องลงแต่ได้เงินไปเปล่าๆ ที่ตัวเลข 2-5 กรณีแบบนี้เคยเกิดขึ้นในบางพื้นที่ที่ผู้สมัครมีอิทธิพลสูง และผู้สมัครที่หลีกทางต้องตัดสินใจว่าจะเอาเงินหรือเอากระสุน ซึ่งเอาเงินย่อมปลอดภัยกว่าเอากระสุน

ค่าใช้จ่ายในการซื้อเสียงแบบโปรยในอดีตน่าจะเปลี่ยนเป็นแบบล็อกเป้าหวังผล

ซึ่งหัวคะแนนต้องทำบัญชีรายชื่อของคนที่จะจ่ายให้มาให้ดูก่อนและรับปากว่าหากจ่ายจะลงคะแนนให้แน่นอน ตัวเลขต่อหัวจึงสูงกว่าการซื้อเสียงแบบโปรยคือสูงถึง 500 บาทต่อหัว ซึ่งมีการหักค่าดำเนินการต่างๆ พอถึงชาวบ้านอาจเหลือเพียง 300-350 บาท จำนวนของการล็อกเป้าหวังผลคือประมาณ 20,000 เสียง ซึ่งจำนวนดังกล่าวหากมาสมทบกับคะแนนที่ตนเองได้รับจริงอาจกลายเป็น 40,000-50,000 คะแนนซึ่งสามารถชนะเลือกตั้งได้ แต่ถึงหากไม่ได้รับเลือกตั้ง การได้ถึง 20,000 คะแนนในเขตก็มีความหมายเพราะจะเป็นคะแนนที่ไม่ตกน้ำหายไป แต่จะไปรวมเป็นคะแนนคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะได้ทั้งประเทศ

ข่าวคราวที่ออกมาในระยะนี้จึงมีข่าวว่า พรรคการเมืองบางพรรคตั้งเป้า 20,000 เสียงในแต่ละเขต ด้วยเงิน 500 บาทต่อเสียง คิดเป็นเงิน 10 ล้านบาทต่อเขต หรือ 3,500 ล้านบาทต่อ 350 เขต เพื่อให้ได้ 7 ล้านเสียง คิดเป็น ส.ส.ที่พึงจะมี 100 คนในสภา

หรือเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อถึงคราวเลือกตั้ง