คำ ผกา : นักการเมืองหน้าใหม่ หัวใจดวงเดิม

คำ ผกา

ไม่รู้เหมือนกันว่าลึกๆ แล้วทุกคนเชื่อหรือเปล่าว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

ซึ่งลำพังการไม่มีความเชื่อมั่นในโรดแม็ปการเลือกตั้งอันถูกกำหนดตายตัวไว้แล้วโดยรัฐธรรมนูญควรจะถือเป็นวิกฤตขั้นสุดของการเป็นพลเมืองแห่งรัฐสมัยใหม่ที่ควรจะสามารถวางใจในกฎหมายอันเป็นลายลักษณ์อักษรได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับกลายเป็นว่า พลเมืองไทยนี้ค่อยๆ สั่งสม เรียนรู้ว่า รัฐที่เราสังกัดอยู่นี้ สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจโดยที่พลเมืองอย่างเรา “เรียนรู้” ว่า การทำอะไรตามอำเภอใจนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วด้วย

แต่ในความไม่ค่อยมั่นใจว่า การเลือกตั้งจะมีจริงหรือเปล่า? (ด้วยคำถามเช่นนี้ ก็ทำให้รู้สึกว่าการเลือกตั้งมีสถานะทางสสารคล้ายๆ ผี หรือวิญญาณ ที่เราต้องมาตั้งคำถามว่า มันมีจริงหรือไม่?) นักการเมือง พรรคการเมือง ต่างก็เคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก

และการเคลื่อนไหวนี้ก็เป็นไปอย่างพิลึกพิลั่นอย่างยิ่ง

พรรคการเมืองที่สถานะเป็นพรรคการเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว กลับไม่สามารถเคลื่อนไหว หาเสียง ลงพื้นที่อย่างเต็มที่ เพราะยังไม่มีการปลดล็อกเรื่องห้ามมิให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

แต่ในทางกลับกัน “กลุ่มการเมือง” ที่ยังไม่เป็นพรรคการเมือง กลับเดินสาย กระทำกิจกรรมที่เหมือนการหาเสียงได้เต็มที่และไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่พรรคการเมือง!!!

เช่น กลุ่มสามมิตร และพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังไม่ได้รับสถานะพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ

หนักกว่านั้น สมาชิกพรรคพลังประชารัฐบางคนยังเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ที่พอถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม ก็อ้างว่า “เราไม่ได้มาทำกิจกรรมพรรคในเวลาราชการ”

หรือถ้าถูกถามว่ามาหาเสียงหรือเปล่า? ก็ตอบว่า “เปล่า มาทำงานในฐานะข้าราชการ ไม่ได้มาในนามพรรค ส่วนจะผิดกฎหมายหรือเปล่า ให้ไปถาม กกต.”

พอมีคนไปถาม กกต. กกต.ก็บอกให้ไปถาม คสช. แต่ คสช.ก็เป็นรัฐบาลด้วย และคนเหล่านั้นก็อยู่ในรัฐบาล คสช.

เจอเข้าไปอย่างนี้ ประชาชนที่นั่งดูข่าว อ่านข่าวอยู่ก็ต้องจำนนต่อความหน้ามึน และเหตุผลมึนๆ ของคนเหล่านี้

และที่น่าชวนหัวไปกว่านั้นคือ มนุษย์หน้ามึนเหล่านี้ กล้าประกาศตัวว่า เราเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่

เราจะมาทำการเมืองแบบใหม่ ไม่น้ำเน่าแบบเดิม

เราต้องการอาสามาทำงานเพื่อชาติ

เราไม่ทำงานแบบนักการเมืองรุ่นเก่าที่หวังแต่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง บลา บลา บลา

ฉันฟังแล้วก็นั่งคิดว่าสำบัดสำนวนแบบนี้จะไปหลอกคนแบบไหนให้เชื่อได้?

แต่ทำเป็นเล่นไป คนแบบสุเทพ เทือกสุบรรณ คนแบบสนธิ ลิ้มทองกุล หลอกคนชั้นกลางที่เรียนหนังสือสูง แต่ไม่มี literacy ในการอ่านและการฟัง ออกมาล้มประชาธิปไตยจนบ้านเมืองพังพินาศมาแล้ว

สำนวนเชยๆ ประเภท อาสามาทำงานเพื่อชาติ เราจะล้างบางการเมืองน้ำเน่า มาทำงานการเมืองมีคุณภาพ ก็อาจจะเอาไว้หลอกคนที่เรียนหนังสือสูงแต่ไม่มีวิจารณญาณในการอ่านและการฟังซึ่งมีอยู่เยอะในสังคมไทย

ซึ่งคนที่พอจะมีวิจารณญาณอยู่บ้าง เมื่อฟังคำพูดเหล่านี้ก็ต้องเลิกคิ้ว กรอกตามองบน แล้วนั่งสงสัยว่า การเมืองใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่ที่ว่านั้นคืออะไร?

สิ่งที่สังคมไทยต้องการไม่ใช่ “การเมืองใหม่”

แต่คือการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง

ไม่แก้ปัญหาด้วยการเผาบ้านไล่หนู

ปราบคอร์รัปชั่นด้วยการเอาทหารมาทำรัฐประหาร

เราไม่ต้องการการเมืองใหม่ เราต้องการการเมืองบนกติกาประชาธิปไตยสากล ที่ชาวโลกเขาปฏิบัติกันอย่างเป็น “ธรรมดาสามัญ”

ดังนั้น ไม่ต้องข้ามช็อตไปพูดเรื่อง “เราคือนักการเมืองรุ่นใหม่”

แต่ต้องกลับมาพูดเรื่อง กลับไปสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารต้องลงจากอำนาจ

จากนั้น ประชาชนจะไว้วางใจใครให้เป็นตัวแทนของตนเอง เข้ามาทำงานในการเมืองระบบรัฐสภา ก็ต้องปล่อยให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของประชาชน

มันเรียบง่ายแบบนั้น โดยไม่ต้องมานั่งเคลมโดยลมปากว่า เราคือคนดี เราคือคนที่อาสามาทำงานให้บ้านเมือง ประชาชนเขาไม่ได้ไร้เดียงสาเสียจนนั่งฝันถึงการเมืองสีขาวบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งหญิงพรหมจรรย์

การเมืองน้ำเน่าที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ได้น้ำเน่าเพราะนักการเมืองสาดโคลนใส่กัน

ไม่ได้น้ำเน่าเพราะนโยบายประชานิยม

ไม่ได้น้ำเน่าเพราะพรรคการเมืองถูกชี้นำโดยนายทุนพรรค

ไม่ได้น้ำเน่าเพราะนักการเมืองมุ่งกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง

แต่น้ำเน่าเพราะวงจรการเกิดรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

น้ำเน่าเพราะรัฐธรรมนูญถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า

และน้ำเน่าที่สุดคือพอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเริ่มอำนาจให้ประชาชน (ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง) รัฐบาลแบบนี้กลับถูกพวก “คนดี” ที่อยากสร้างการเมือง “สีขาว” ขับไล่ไปจนถึงขั้นปูพรมให้รถถังมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีก

สำหรับฉัน นี่ต่างหากที่เรียกว่า “การเมืองน้ำเน่า”

การเมืองน้ำเน่าคือการเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชน

การเมืองน้ำเน่าคือการกระทำและคำพูดที่คิดว่า ประชาชนโง่มาก แค่พูดว่า เราจะอาสามาทำงานเพื่อชาติก็จะเคลิ้ม หนักกว่านั้น ตัวเองเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยฉ้อฉล กลับกล้าพูดออกมาเต็มปากเต็มคำว่าตัวเองจะเป็นนักการเมืองที่มาตรฐานสูงกว่านักการเมืองเก่า

(ดูข่าว “”สนธิรัตน์” ฟุ้ง มาตรฐานสูงกว่านักการเมืองเก่า ยันไม่ใช้ของราชการเอื้อ พปชร.” https://www.prachachat.net/politics/news-234559)

พิโธ่พิถัง คนที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงจริง สิ่งแรกเลยที่เขาจะไม่ทำให้ชีวิตแปดเปื้อน ด่างพร้อย คือรับเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อ้างว่าจะมาทำงานให้ประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ได้เชิญให้มา

ทุกวันนี้ที่พวกท่านพูดว่า เสียสละทำงานให้ประชาชนน่ะ ถามประชาชนสักคำหรือยังว่า เขาอยากให้มาหรือเปล่า?

มาโดยไม่ได้รับเชิญแล้วยังชอบทวงบุญคุณ

ทวงบุญคุณไม่พอ ยังกล้ามาพูดว่า สร้างมาตรฐานใหม่ สูงกว่าเดิม!!!!

ที่ตลกไปกว่านั้นในการลงพื้นที่ของกลุ่มคนที่อ้างว่าอาสามาทำงานเพื่อชาติ ไม่ได้หาเสียง แต่อยากมาใกล้ชิดประชาชน และรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนอย่างใกล้ชิด

อื้อหือ นี่ไม่ใช่ยุคกรุงสุโขทัยที่ต้องมาสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ที่เจ้าเมือง อันข้าราชการต้องมานั่งฟังประชาชนเรียงคิวมาบอกปัญหาทีละคน ทีละคน แล้วก็จะรับปากบอกว่าเรารับเรื่องไว้แล้ว เดี๋ยวรัฐบาลจะจัดการให้ วันนี้กลับบ้านไปนอนหลับพักผ่อนให้สบายใจ

ถ้ายังคิดว่าการบริหารบ้านเมืองเป็นแบบนี้ก็น่าจะยุบเลิกวิชารัฐประศาสนศาสตร์ไปเสีย เพราะทุกอย่างสามารถแก้ด้วยการให้ผู้บริหารมานั่งรับเรื่องร้องทุกข์ไปวันๆ

ในขณะที่เทคโนแครตผู้เริ่มหัดจะเป็นนักการเมืองกำลังแสดงวิสัยทัศน์ของการเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วยการลงพื้นที่ โดยบอกว่าไปพูดคุย ฟังเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านและตัวแทนประชาชนสี่ภาค มีไวยากรณ์การพบปะประชาชนแบบข้าราชการออกตรวจท้องที่

ดูนิทรรศการจัดบอร์ดแบบโรงเรียนมัธยม ปากก็บอกว่าไม่เอาการเมืองน้ำเน่า

อีกแขนหนึ่งก็อ้ารับนักการเมือง “หน้าเก่า” ที่ย้ายมาจากพรรค “เก่าๆ” ที่พวกท่านนั่นแหละประณามหยามเหยียดว่าเป็นพวกนักการเมือง “น้ำเน่า”

ตกลงพรรคพลังประชารัฐที่จะเป็นทั้งศูนย์รวมของเทคโนแครตที่ไม่มีความสามารถจะชนะการเลือกตั้งได้ด้วยตนเองแต่อยากมีอำนาจ มารวมกับกลุ่มนักการเมืองเลือดปลาไหลอยู่ไหนก็ได้ขอให้ได้เป็นรัฐบาล เดินสายต่อรองเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มของก๊วนกันไปวันๆ กับกลุ่มเอ็นจีโอเพื่อเอ็นจีโอผู้ประกาศตัวว่าไม่ศรัทธาในการเมืองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

และทั้งหมดนี้บอกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ รุ่นใหม่!

แต่อย่างที่ฉันยืนยันมาโดยตลอดว่า 12 ปีหลังการรัฐประหารปี 2549 ที่ประเทศไทยดูเหมือนจะถอยหลังเข้าคลอง

แต่จริงๆ แล้วมีพลวัตทางเมืองอันถือเป็นความก้าวหน้าที่น่าสนใจ นั่นก็คือ 12 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการ crystallized หรือเจียระไนความหมายของคำว่าประชาธิปไตย กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ออกจากกันจนแจ่มกระจ่าง

และได้ข้อสรุปออกมาแล้วว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แปลว่า ประชาธิปไตยปลอม ประชาธิปไตยของจริง ต้องไม่สร้อยห้อยท้าย และเรียบง่ายกว่านั้นคือ ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง แปลว่า ไม่มีประชาธิปไตย ไม่ต้องอ้างนู่นอ้างนี่ อ้างปฏิรูปประเทศ อ้างทำเพื่อชาติ เสียสัตย์เพื่อชาติ ถ้าอยากเป็นประชาธิปไตยต้องเลือกตั้ง ส่วนประชาชนจะเลือกใครก็เรื่องของเขา

เมื่อมีการเจียระไนประชาธิปไตยปลอมออกจาก “ประชาธิปไตย” ทำให้พรรคการเมืองไทยได้ขยับไปไกลกว่าการนำเสนอนโยบายปากท้องไปสู่การแสดงจุดยืนทางอุดมการณ์แบบชัดๆ ใสๆ เคลียร์ๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนจนสามารถจัดกลุ่มได้เลย

เช่น พรรคที่ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอารัฐประหาร ยืนอยู่ข้างเสรีนิยมประชาธิปไตยคือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคเกรียน พรรคประชาชาติ พรรคสามัญชน ฯลฯ

พรรค “อนุรักษนิยม” คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชล ฯลฯ

พรรค “ตัวแปร” (อุดมการณ์แปรผันได้) คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย ฯลฯ

นี่เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองไทยถูกผลักให้ต้องเลือกข้างทางอุดมการณ์ และต่อให้ไม่เลือกข้างก็ต้องประกาศให้ชัดว่าไม่เลือกข้าง

สําหรับฉันที่เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับพัฒนากรของประชาธิปไตยและมันได้พิสูจน์ว่า ประชาธิปไตยนั้นบางครั้งยิ่งถูกสกัดกลับยิ่งเติบโต และเข้มแข็งไปในทางที่เราก็ไม่คาดคิด

เช่น หากไม่มีวิกฤต คนอย่างหนูหริ่งก็อาจเป็นเอ็นจีโอใสๆ ทำงานกับเด็กที่เชียงราย ไม่มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

คือ คนอย่างธนาธรก็คงไปปีนเอเวอเรสต์ ฟินๆ รวยๆ ไม่มาทำพรรคการเมือง

หรือเราจะไม่ได้เห็นพรรคการเมืองที่เป็นโฉมหน้าของสามจังหวัดภาคใต้ที่ดูมีความหวังอย่างพรรคประชาชาติ หรือไม่ได้เห็นความกระตือรือร้นของคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าไปทำงานการเมืองและไม่ได้เห็นว่าอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจอีกต่อไป

นอกจากคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยจะถูก crystallized จนกระจ่าง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่อ้างว่าตัวเองเป็น “เลือดใหม่” ก็จะถูกเจียระไนออกมาเช่นกันว่า เป็นแค่เลือดใหม่ของเผด็จการในคราบนักเลือกตั้งหรือไม่