อติภพ ภัทรเดชไพศาล : เบโธเฟนกับภาษาของทวยเทพ ใน La Symphonie Pastorale ของ อองเดร ฌีด

ในบทความ Beethoven and the Birth of Romantic Musical Experience in France ของ James H. Johnson (19th-Century Music, Vol. 15, No. 1 [Summer, 1991]) อธิบายถึงลักษณาการที่ชาวฝรั่งเศสให้การตอบรับกับดนตรีของเบโธเฟนในช่วงทศวรรษที่ 1800 และ 1830 ว่าทั้งสองช่วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างมาก

นั่นคือ เมื่อ Symphony No. 1 ของเบโธเฟนได้รับการบรรเลงครั้งแรกในปารีสเมื่อปี 1807 ผู้ฟังและนักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศสส่วนมากไม่ประทับใจกับผลงานของเบโธเฟนโดยสิ้นเชิง

โดยนักวิจารณ์รายหนึ่งถึงกับกล่าวว่าดนตรีของเบโธเฟนเป็นเพียงการสำแดงออกซึ่งความ “ป่าเถื่อน” แบบเยอรมันเท่านั้น

และกระทั่งเมื่องานซิมโฟนีชิ้นสำคัญอย่าง Symphony No. 3 (หรืออีกนามหนึ่งว่า Eroica) ออกแสดงครั้งแรก ผู้เขียนอัตชีวประวัติของเบโธเฟนคือ Anton Schindler ก็ยังบันทึกไว้ว่าผู้ฟังบางส่วนถึงกับส่งเสียงหัวเราะด้วยความขบขัน

หลักฐานหลายชิ้นกล่าวตรงกันว่าในทศวรรษที่ 1800 งานของเบโธเฟนไม่ได้รับความนิยมในฝรั่งเศส โดยเฉพาะงานประเภทซิมโฟนีที่เห็นได้จากการถูกนำออกแสดงเพียงน้อยครั้ง

แต่ปี 1828 (หลังมรณกรรมของเบโธเฟนเพียงหนึ่งปี) กลับเป็นจุดพลิกผัน เมื่อมีการแสดงงาน Eroica อีกครั้ง และผู้ฟังจำนวนมากแสดงความประทับใจในผลงานชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งชื่นชม ทั้งตื่นตะลึง และแปลกใจ ที่เหตุใดผลงานชั้นเยี่ยมเช่นนี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการใส่ใจจากสาธารณชน

(Eroica ถูกเขียนขึ้นในปี 1806)

นับแต่นั้น งานซิมโฟนีของเบโธเฟนก็ได้รับการประเมินใหม่เป็นงานที่สูงค่า และได้รับความนิยมในหมู่นักฟังเพลงชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก

จนกล่าวกันว่าในการแสดงคอนเสิร์ต ทันทีที่ดนตรีจบท่อน ผู้ฟังจะพากันส่งเสียงโห่ร้องชื่นชมด้วยความพึงพอใจ

แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้ชาวฝรั่งเศสตอบรับดนตรีของเบโธเฟนแตกต่างกันได้ถึงเพียงนั้นในช่วงเวลาเพียงสองทศวรรษ?

James H. Johnson ให้คำอธิบายว่า สาเหตุของเรื่องนี้น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนผ่านทางสุนทรียศาสตร์ในหมู่ผู้ฟังดนตรีชาวฝรั่งเศส ที่ในช่วงปี 1800 ยังคงคุ้นเคยกับดนตรีแบบเดิมตามขนบ อันเป็นดนตรีที่ถือกันว่าสามารถสร้าง “ภาพ” ให้ปรากฏแก่จินตนาการของผู้ฟังได้

นั่นคือ ดนตรีดำรงอยู่ในสถานะของสัญลักษณ์ซึ่งสามารถแปลความหมายเป็นภาพ

ดังนั้น งานของนักแต่งเพลงอย่างไฮเดิน (Joseph Haydn 1732-1809) จึงได้รับความนิยมในปารีส โดยเฉพาะงานที่เสียงดนตรีสามารถบรรยายภาพของชื่อเพลงได้ชัดๆ เช่น Symphony No. 73 ที่มีชื่อรองว่า “การล่าสัตว์” อันเป็นงานที่ไฮเดินใช้เทคนิคการแต่งเพลงให้ผู้ฟังรู้สึกถึงเสียงของการควบม้า และยังใช้แตรเป่าด้วยท่วงทำนองเลียนเสียงแตรล่าสัตว์จริงๆ อีกด้วย

ส่งผลให้งานของเบโธเฟน ที่ไม่เน้นเรื่องการสร้าง “ภาพ” ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังในช่วงนั้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความนิยมในการฟังดนตรีของชาวปารีสเริ่มเคลื่อนออกจากเดิม และเปลี่ยนมาสู่การให้ความสนใจกับดนตรีที่แสดงความหมายทาง “อารมณ์” หรือ “ความคิด” บางอย่าง

และสุดท้าย ในช่วงหลังของทศวรรษที่ 1820 ด้วยอิทธิพลของกระแสโรแมนติก ภาษาของดนตรีได้ถูกยกระดับขึ้นอยู่เหนือความหมายใดๆ จนดนตรีกลายเป็นสิ่งที่ “ภาษา” ไม่อาจอธิบายอีกต่อไป

แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวดนตรีของเบโธเฟน และสอดคล้องกับข้อเขียนของนักเขียน-นักวิจารณ์สายโรแมนติกจิตนิยมจำนวนมากในขณะนั้น ทั้งในเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่ยกย่องดนตรีเป็น “ภาษาสากล” ที่ข้ามพ้นพรมแดนของถ้อยคำ

ส่งผลให้ชาวปารีสจำนวนมาก หันกลับมายกย่องชื่นชมเบโธเฟนในฐานะของนักแต่งเพลงโรแมนติกผู้เปี่ยมไปด้วยอัจฉริยภาพ

แต่งาน Symphony No. 6 ของเบโธเฟนกลับเป็นชิ้นงานที่แปลกประหลาดและผิดที่ผิดทาง

เพราะงานชิ้นนี้มีชื่อรองว่า Pastoral Symphony ซึ่งหมายถึงการชื่นชม “ภาพ” ธรรมชาติในชนบท โดยแต่ละท่อนของซิมโฟนีบทนี้ยังใช้ชื่อที่สื่อถึงฉากและเรื่องราวอย่างแจ่มชัด เช่น ในท่อนที่สอง ระบุว่าเป็น “ฉากริมลำธาร” (Scene by the brook) เป็นต้น

นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งจึงกล่าวติเตียนว่า Symphony No. 6 เป็นงานที่พ้นสมัย

แต่อย่างไรก็ตาม งานซิมโฟนีบทนี้ก็ได้รับการปกป้องจากนักเขียน-นักวิจารณ์ที่อยู่ฝ่ายเบโธเฟน โดยอธิบายว่า การรับฟัง Symphony No. 6 อย่างถูกต้อง ผู้ฟังต้องไม่เชื่อมโยง “เสียงเพลง” เข้ากับ “ภาพ” ใดๆ และควรเปิดจินตนาการให้กว้างขวางที่สุด

เพื่อให้เสียงเพลงนี้เป็นการชื่นชมธรรมชาติอย่างนามธรรม ที่ข้ามพ้นความเป็น “ภาษาสามัญ” ของมนุษย์ สู่ความเป็น “ภาษาของทวยเทพ” (divine language)

และด้วยแนวคิดแบบลัทธิโรแมนติกและความเชื่อว่าด้วยภาษาแห่งทวยเทพนี้เอง ที่ทำให้ตัวละครบาทหลวงในเรื่อง La Symphonie Pastorale ของ Andr? Gide ครุ่นคิดขณะตอบคำถามของเด็กสาวตาบอด ว่าเสียงเพลงของเบโธเฟนในท่อน “ฉากริมลำธาร” นั้นแท้จริงแล้วย่อมไม่เป็นสิ่งเดียวกับ “ฉากริมลำธาร” ในชีวิตจริงของมนุษย์

เพราะสำหรับเขาแล้ว เสียงเพลงของเบโธเฟนนั้น

“วาดภาพโลกเราไม่ใช่แบบอย่างที่เป็นจริง แต่ในแบบที่มันควรจะเป็น” ต่างหาก

thumbnail_LaSymphoniePastorale

เพลงรำลึกบาป

นิยายขนาดสั้นของ Andre Gide เรื่อง La Symphonie Pastorale ถูกเขียนขึ้นในปี 1919 ในรูปแบบบันทึกของบาทหลวงรูปหนึ่ง ซึ่งเก็บเด็กสาวจรจัดตาบอดนามแชร์ทรู้ดมาเลี้ยงและสั่งสอนให้รู้หนังสือและกิริยามารยาทแบบคนเมือง

บาทหลวงหลงรักเด็กหญิง แต่กลับไม่ตระหนักถึงความรักของตน (ในที่นี้ ผู้ที่ตาบอดจึงเป็นบาทหลวง ไม่ใช่เด็กสาว) เขาพยายามบอกเล่าถึงโลกที่สวยงามให้เด็กสาวตาบอดฟัง ทั้งที่นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

บาทหลวงพาเด็กสาวไปฟังการแสดงคอนเสิร์ตเพลง Symphony No. 6 หรือ Pastoral Symphony ของเบโธเฟน และพยายามนำความไพเราะของเสียงดนตรีมาเปรียบเทียบกับเรื่องของภาพที่เห็น เช่น เขาพยายามเปรียบเทียบเสียงของเครื่องเป่าบางชนิดด้วยสีแดงหรือสีส้ม และเปรียบเทียบเสียงของไวโอลินว่าเป็นเหมือนสีเขียว

แต่สุดท้ายเมื่อหญิงสาวถามว่าสีขาวนั้นเปรียบได้กับเสียงอะไร? เขาก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในความเป็นจริงว่า เสียงและสีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยสิ้นเชิง

และในทัศนะของเขา ภาพที่คนเราเห็นนั้นยังเต็มไปด้วยความบาป ขณะที่ความตาบอดของเด็กสาว กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เธอเป็นผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสาอย่างที่สุด

และเสียงดนตรีของเบโธเฟนก็หมายความถึงโลกสมบูรณ์แบบในอุดมคติ ที่เราไม่อาจพบเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ดังข้อความตอนหนึ่งในนิยายว่า :

วันนั้นคอนเสิร์ตแสดงชุดแซมโฟนีปาสโตราลพอเหมาะพอดี ข้าพเจ้าใช้คำว่า “พอดี” เนื่องจากว่าไม่มีงานดนตรีชิ้นใดที่ข้าพเจ้าอยากจะให้หล่อนได้ฟังมากไปกว่างานดนตรีชิ้นนี้ซึ่งก็คงจะเป็นที่เข้าใจกัน ถึงเราจะจากห้องแสดงคอนเสิร์ตมาตั้งนานแล้ว แชร์ทรู้ดก็ยังคงนิ่งเงียบเหมือนตกอยู่ในห้วงนึกฝันอันบรรเจิด

“สิ่งที่อาจารย์มองเห็นมันงามอย่างนี้จริงๆ หรือคะ” หล่อนกล่าวขึ้นในที่สุด

“งามพอๆ กับอะไรเล่า หนูที่รักของฉัน?”

“พอๆ กับ “ฉากริมลำธาร” ไงล่ะคะ”

ข้าพเจ้าไม่ได้ตอบหล่อนทันที เนื่องจากมัวแต่คิดตริตรองถึงความบรรสานกลมกลืนกันอย่างที่เหลือจะบรรยายได้ ซึ่งวาดภาพโลกเราไม่ใช่แบบอย่างที่เป็นจริง แต่ในแบบที่มันควรจะเป็น คือแบบที่ปราศจากความชั่วร้ายและปราศจากบาปทั้งปวง ก็ในเมื่อข้าพเจ้ายังไม่กล้าพูดกับแชร์ทรู้ดถึงเรื่องความชั่วร้าย เรื่องบาป เรื่องความตายเลย

(จาก เพลงรำลึกบาป หรือ La Symphonie Pastorale (1909) ของ อองเดร ฌีด แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล สำนักพิมพ์ต้นหมาก พ.ศ.2526)