คนมองหนัง – “แผลเก่า” (2520) : “ความขัดแย้ง” ในภาพยนตร์ และตัวตนของ “เชิด ทรงศรี”

คนมองหนัง

หลังจากอำนวยการบูรณะหนังไทยเรื่อง “สันติ-วีณา” (2497) กระทั่งได้รับการคัดเลือกเข้าไปฉายในสาย “คานส์ คลาสสิกส์” ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2016 และอีกหลายเทศกาลทั่วโลก

พ.ศ.2561 ผลงานการบูรณะหนังไทยเก่าโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จะได้ฤกษ์เข้าฉายในวงกว้างอีกหน

ผลงานที่ได้รับการบูรณะคราวนี้คือ ภาพยนตร์เรื่อง “แผลเก่า (2520)” ของ “เชิด ทรงศรี” ผู้กำกับฯ ผู้ล่วงลับ

“แผลเก่า 2520” ฉบับบูรณะใหม่เพิ่งไปเปิดตัวในสาย “ปูซาน คลาสสิกส์” ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน 2018 ณ ประเทศเกาหลีใต้

ก่อนจะเริ่มเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

แม้เทคนิคงานสร้างโดยรวมของ “แผลเก่า” ฉบับเชิด จะยังไม่สมบูรณ์แบบ หลายส่วนมีความบกพร่องตกหล่น บางส่วนอาจดู “เชย” หากวัดจากมาตรฐานยุคปัจจุบัน

แต่องค์ประกอบด้าน “โพสต์โปรดักชั่น” ข้อหนึ่ง ที่โดดเด่นสะดุดตามากๆ ของ “แผลเก่า 2520” ก็คืองานตัดต่อ/ลำดับภาพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาฉากที่ตัดสลับระหว่างเส้นเรื่องหลักกับการแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน รวมถึงการตัดสลับระหว่างการบรรเลงขลุ่ยไทยกับเครื่องเป่าฝรั่ง

นี่มิได้เป็นแค่เพียง “การเทียบเคียง” หรือ “การวางชน” เอามันเอาสนุก ทว่าเป็นการหยิบจับสองเหตุการณ์ที่ต่างบริบท มาเปรียบเทียบ/ปรับประสานต่อรองซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความคืบหน้า-ความเปลี่ยนแปลง-พลวัตของสถานการณ์ในภาพรวม

กล่าวได้ว่าการตัดต่อหลายๆ จังหวะของ “แผลเก่า” เวอร์ชั่นนี้ เป็นการลำดับภาพแบบ “Soviet montage” ซึ่งเคยทรงอิทธิพลในยุคสมัยหนึ่ง และมีศักยภาพสูงมากในทางการเมือง

แนวทางการลำดับภาพข้างต้นมีความสอดคล้องลงรอยกับกลเม็ดวิธีการนำเสนอ “เนื้อหาสาระสำคัญ” ใน “แผลเก่า 2520” อย่างน่าทึ่ง

ก่อนภาพยนตร์ “แผลเก่า” ฉบับเชิดจะเริ่มต้นเรื่องราว หนังได้ขึ้นข้อความที่เน้นย้ำถึงบทบาทในการอนุรักษ์/สำแดง “ความเป็นไทย” ของตนเอง

นี่คือถ้อยแถลง/ปณิธาน ที่ไม่เคยปรากฏชัดเจนในภาพยนตร์ “แผลเก่า” เวอร์ชั่นอื่นๆ

ขณะเดียวกัน น่าสนใจว่าช่วงเวลาการสร้างหนังเรื่องนี้ก็ใกล้เคียงมากๆ กับการก่อกำเนิดขึ้นของ “คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ” ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ยิ่งกว่านั้น หนังยังได้รับโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ที่ตลกร้ายคือ ภายใต้ฉากหน้า “ความเป็นไทย” ที่หนังนำเสนออย่างหลงรักและจริงใจ (ผ่านนาฏศิลป์พื้นบ้าน ตลอดจนบรรยากาศ/วิถีชีวิตแบบชนบท) นั้น กลับซ่อนเร้นไว้ซึ่ง “อัปลักษณะ” นานัปการของสังคมไทย

ตั้งแต่ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างคนสองกลุ่ม/ครอบครัวที่ไม่มีทางคืนดี/สมานฉันท์

การกดขี่ผู้หญิงในโลกของผู้ชาย (กระทั่ง “ขวัญ” เอง บุคคลคนเดียวที่เขารักก่อนตายก็คือ “พ่อ” ไม่ใช่ “เรียม” ที่ผันแปรน่าผิดหวัง)

การปะทะกันระหว่างยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง, ความผิดแผกระหว่างสังคมเมืองกับชนบท และความขัดแย้งทางชนชั้น

การถ่ายทอดภาพสังคมไกลปืนเที่ยงที่แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยความรุนแรงตลอดทั้งเรื่อง (“ไอ้ขวัญ” เป็นพระเอกที่ฆ่าคนตายเยอะมากๆ) และไม่เปิดโอกาสให้ตัวละครเอกได้ “ห่มผ้าเหลือง” หรือ “กลับตัวกลับใจ”

รวมถึงตำแหน่งแห่งที่ของ “เจ้าพ่อต้นไทร” ซึ่งเป็นสักขีพยานความรัก ความหวัง ความผิดหวัง และโศกนาฏกรรม ทว่าเยียวยาหรือช่วยแก้ไขปัญหาใดๆ ไม่ได้เลย จนมีสถานะประหนึ่ง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งไร้พลวัต”

คําถามต่อเนื่องคือ ถ้าการคัดสรรภาพเหตุการณ์ในสองบริบทที่คล้ายจะผิดที่ผิดทางมาวางต่อกัน นั้นนำไปสู่สถานการณ์หรือนัยยะความหมายใหม่ๆ

แล้วความย้อนแย้งหรือการปะทะกันระหว่างคำประกาศก่อนเริ่มเรื่องกับเนื้อหาสาระจริงๆ ในหนัง “แผลเก่า” ฉบับเชิด กำลังนำพาผู้ชม/คลี่คลายตัวเองไปสู่ผลลัพธ์อะไร?

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับการตีความโดย “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ในบทความสองตอนจบ ซึ่งเผยแพร่ผ่านมติชนสุดสัปดาห์ก่อนหน้านี้ คลิกอ่าน  1  2

เขาชี้ว่า “แผลเก่า 2520” อาจซ่อนนัยยะการวิพากษ์ “ความรุนแรง” กรณี 6 ตุลา และประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” หลังจากนั้น ไว้อย่างแนบเนียน

ตามความเห็นของศิโรตม์ “เชิด ทรงศรี” ได้หยิบยืมนิยายของ “ไม้ เมืองเดิม” มาใช้สอยเป็นเครื่องมือ “เปลี่ยนความเป็นไทย” และวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยอย่างมีชั้นเชิง

สำหรับเขา “แผลเก่าคืองานศิลปะที่ผู้กำกับฯ ชั้นดีของยุคทศวรรษ 2520 แชร์วิธีคิดเดียวกับปัญญาชนในสังคมที่เพิ่งผ่านการโค่นล้มเผด็จการทหารปี 2516”

ผลลัพธ์ซึ่งปรากฏใน “แผลเก่า 2520” จึงได้แก่ ภาวะขัดกันระหว่าง “ชาติในอุดมคติ” กับ “ชุมชนชาติจริงๆ” เพราะสิ่งที่เชิดมุ่งขับเน้นในผลงานคลาสสิคของเขาคือ “ความเป็นไทย” แบบ “ประชาชน” หรือวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวนาภาคกลาง มิใช่ “ความเป็นไทย” กระแสหลัก ที่อิงแอบแนบชิดกับอำนาจรัฐส่วนกลางและชนชั้นนำ

อย่างไรก็ดี ตัวตนของคนทำหนังชื่อ “เชิด ทรงศรี” นั้นเต็มไปด้วยปัจจัย-องค์ประกอบแวดล้อมมากมาย

หลายส่วนหนุนเสริมกัน ทว่าบางส่วนก็ย้อนแย้งกัน ไม่ต่างจากแนวทางการตัดต่อและภาวะปะทะสังสรรค์กันระหว่างถ้อยแถลงของผู้กำกับหนังกับเนื้อหาภาพยนตร์ ดังได้บรรยายไปก่อนหน้านี้

ผมไม่แน่ใจนักว่าเราจะสามารถประทับตราเชิดด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัว

ด้านหนึ่ง ไม่มีใครปฏิเสธว่าเชิดทำงานภาพยนตร์โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญญาชนฝ่ายซ้าย/ประชาธิปไตยคนสำคัญ

บทความของศิโรตม์ (“แผลเก่า, เชิด ทรงศรี และการวิพากษ์ความเป็นไทยหลัง 6 ตุลา” เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 28 กันยายน – 4 ตุลาคม 2561) ได้อ้างอิงบทสัมภาษณ์จากหนังสือ “12 ผู้กำกับหนังไทยร่วมสมัย” ซึ่งเชิดเปิดใจว่าภาพยนตร์ชีวประวัติ “จิตร ภูมิศักดิ์” คือหนังที่เขาอยากทำมากที่สุด

หลายปีก่อน ผมเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่งว่าเชิดสนใจจะดัดแปลงนิยายเรื่อง “ดิน น้ำ และดอกไม้” ของ “เสนีย์ เสาวพงศ์” เป็นภาพยนตร์

หลายคนทราบดีว่าหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเชิด คือ “ข้างหลังภาพ” (2544) จากบทประพันธ์ของ “ศรีบูรพา”

แต่ก็มีข้อเท็จจริงอีกด้านที่มิอาจเพิกเฉยว่าเชิดเคยทำภาพยนตร์ “ทวิภพ” (2533) จากงานเขียนของ “ทมยันตี” และ “เรือนมยุรา” (2539) จากนิยายของ “แก้วเก้า”

“เชิด ทรงศรี” ย่อมตระหนักดีว่าตนเองต้องเผชิญหน้ากับทางแพร่งแห่งความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในสังคมไทย

เพียงแต่เขา (และคนรุ่นเขาจำนวนมาก) อาจมีวิธีการรับมือหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความขัดแย้งดังกล่าว ที่แตกต่างไปจากบรรดาผู้กระตือรือร้นทางการเมืองยุคปัจจุบัน

“แผลเก่า (2520)” ฉบับบูรณะใหม่ จะเข้าฉายเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคมเป็นต้นไปในโรงภาพยนตร์สองแห่ง

วันที่ 18-24 ตุลาคม รอบเวลา 12.00 น. ณ โรงภาพยนตร์สกาลา สามารถซื้อบัตรล่วงหน้าได้ที่จุดจำหน่ายบัตร

วันที่ 18-21 ตุลาคม รอบเวลา 19.00 น. ณ เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ สามารถซื้อบัตรล่วงหน้าได้ที่จุดจำหน่ายบัตร

หรือ www.sfcinemacity.com