สุจิตต์ วงษ์เทศ / ภาษาและวรรณกรรม จากจีนสู่ไทย หลายพันปีมาแล้ว

กาน้ำและมีดสำริดในวัฒนธรรมจีน (ฮั่น) อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่คลองโพ ต.ท่าเสา อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ภาษาและวรรณกรรม

จากจีนสู่ไทย หลายพันปีมาแล้ว

 

จีนกับไทย (ตั้งแต่ยังไม่ไทย และยังไม่ติดต่ออินเดีย) ถ่ายเทส่งทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกันหลายพันปีมาแล้ว รวมทั้งด้านภาษาและวรรณกรรม

หลักฐานโบราณคดีพบในไทย ที่แสดงความสัมพันธ์จีนกับไทยไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว เช่น เครื่องปั้นดินเผา 3 ขา, เครื่องมือเครื่องใช้สำริดแบบฮั่น

เครื่องปั้นดินเผา 3 ขา เป็นวัฒนธรรมลุงชานในจีน บริเวณทางใต้ลุ่มน้ำฮวงโหต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำแยงซี มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว พบบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน กระจายลงไปถึงภาคใต้และคาบสมุทรมลายู (จากหนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ ชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 42-48)

เครื่องมือเครื่องใช้แบบฮั่น เป็นวัฒนธรรมสำริด เคลื่อนย้ายมาจากจีนราว 2,000 ปีมาแล้ว พบบริเวณลุ่มน้ำน่าน ที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม คลองโพ ต.ท่าเสา อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ (จากหนังสือ เมืองราด ของ พ่อขุนผาเมือง กรุงสุโขทัย และรอยเชื่อมในประวัติศาสตร์ไทย ของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555)

กาน้ำและมีดสำริดในวัฒนธรรมจีน (ฮั่น) อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว พบที่คลองโพ ต.ท่าเสา อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)
ลวดลายแบบจีน (ฮั่น) บนด้ามมีดสำริด

 

ภาษาและวรรณกรรม

 

ภาษาและวรรณกรรมไทยที่รับจากจีน เพราะมีพื้นที่ผืนเดียวต่อเนื่องกัน จึงถ่ายเทส่งทอดกันหลายพันปีมาแล้ว มีอยู่ในประเพณีพิธีกรรมและในชีวิตประจำวัน มีผู้สรุปไว้แล้วดังนี้

แถน เชื่อว่าเป็นคำร่วมกับคำจีนเรียก เทียน แปลว่า ฟ้า ตามที่พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) บอกไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนก (เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451)

สิบสองนักษัตร ไทยรับจากจีน (โดยเชื่อกันว่าจีนรับจากตะวันออกกลางอีกทอดหนึ่ง)

นามปีมหาจักร ของไทยในล้านนา ตรงกับภาษาจีนโบราณ เช่น

ล้านนาเรียก ปีกาบใจ้ ตรงกับจีนโบราณว่า กับจี้ (ภาคกลางเรียก ปีชวดเอกศก)

ล้านนาเรียก ปีกัดเม้า ตรงกับจีนโบราณว่า กี่เม้า (ภาคกลางเรียก ปีเถาะฉศก)

[สรุปจากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา ของ เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 34-35]

 

ปลาบู่ทอง

 

ปลาบู่ทอง มีกำเนิดเป็นนิทานของชาวจ้วง (พูดตระกูลภาษาไต-ไท ต้นกำเนิดภาษาไทย) มณฑลกวางสี ทางใต้ของจีน แล้วแพร่กระจายหลายทิศทางกว้างไกล มีบอกในเอกสารหลายเล่ม เช่น

(1.) จากซินเดอเรลลา ถึงปลาบู่ทอง โดย เสาวลักษณ์ อนันตศานนท์ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540, (2.) ชนชาติไทในนิทาน โดย ศิราพร ณ ถลาง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545, (3.) บทความเรื่อง “ชาวจ้วง-ลาว-ไท ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน-ปลาบู่ทอง-เต่าคำ” วรรณกรรมเกี่ยวกับผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่ของโลก โดย ทองแถม นาถจำนง ในหนังสือ ร่องรอยกาลเวลา : อาเซียนศึกษา (ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต บรรณาธิการ) เอกสารประกอบการสัมมนาแบ่งปันความรู้สู่สาธารณะ พ.ศ.2557 หน้า 35-50

ทางหนึ่ง กระจายไปกับตระกูลภาษาไต-ไท ตามเส้นทางการค้าจากทางใต้ของจีน เข้าถึงลุ่มน้ำโขง ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย

อีกทางหนึ่ง เข้าสู่ราชสำนักจีน พบหลักฐานเก่าสุดในหนังสือของจีน โดยต้วนเฉิงซี (ระหว่าง พ.ศ.1346-1406) แล้วแพร่หลายถึงยุโรป ถูกดัดแปลงเป็นเรื่องซินเดอเรลลา มีบันทึกโดยชาวอิตาลี พ.ศ.2180

[รายละเอียดอยู่ในข้อเขียนเรื่อง “ซินเดอเรลล่าและปลาบู่ทอง มีที่มาจากนิทานของชาวจ้วง?” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 28 กันยายน-4 ตุลาคม 2561 หน้า 82]

 

จีน (ฮั่น) ถึงสุวรรณภูมิและไทย ราว 2,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี (ซ้าย) เครื่องมือสำริดสมัยราชวงศ์ฮั่น จากจีนเหนือ และ (ขวา) กลองทองมโหระทึกสำริด จากจีนใต้ พบที่ม่อนวัดเกษมจิตตาราม ย่านคลองโพ ต.ท่าเสา อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์