วิเคราะห์ : ‘บิ๊กตู่’ เปิดเฟซบุ๊ก เดินหน้า ‘หาเสียง’ ?

แมลงวันในไร่ส้ม

 

‘บิ๊กตู่’ เปิดเฟซบุ๊ก

เดินหน้า ‘หาเสียง’

ย้ำสัญญาณ ‘เลือกตั้ง’

 

เป็นข่าวเกรียวกกราวเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เปิดเฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา – Prayut Chan-o-cha” ให้ประชาชนเข้ากดไลก์และติดตาม เสนอความคิดเห็นและคอมเมนต์เรื่องราวต่างๆ เริ่มตั้งแต่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา

ปรากฏว่าตลอดวันมีผู้สนใจเข้ามากดไลก์และกดฟอลโลว์ หรือติดตามอย่างต่อเนื่องคึกคัก

พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์

ในตอนเย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ว่า “ขอบคุณทุกคนมากที่ให้ความสนใจในการที่ผมเปิดเฟซบุ๊ก เห็นคนเขียนมาหามากมาย ผมดูแล้วส่วนใหญ่จะมาเขียนเอาสนุก ทั้งชอบทั้งไม่ชอบ เป็นเรื่องปกติ ผมเปิดเฟซบุ๊กเพราะต้องการทราบปัญหาของพี่น้องประชาชน ผมจะได้หาแนวทางให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงไปดูและแก้ปัญหา”

และ “ตอนนี้หากใครมีปัญหาหรือข้อแนะนำอะไรลองเข้าเว็บไซต์ของผม ผมมีทีมงานช่วยเอาข้อมูลมาให้ผมดูโดยตรง อาจจะตอบช้าบ้าง แต่ยังไงผมก็จะพยายามติดตามอ่านให้ได้มากที่สุดครับ www.prayutchan-o-cha.com”

ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตา ในห้วงเวลาที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ขณะที่หลายพรรคเดินไปไกลแล้วในแนวรบนี้ แม้นายกฯ จะมาช้าไปบ้าง แต่ด้วยฐานของทีมงาน และสถานะของนายกฯ ดึงดูดให้ประชาชนสนใจเข้ามารับฟังรับรู้

ไม่ว่าจะนิยมแนวทางการบริหารงานของ คสช. หรือไม่ก็ตาม

 

เช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกระแสตอบรับหลังเปิดเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ก็มีทั้งด่าทั้งชม ก็เป็นเรื่องธรรมดา” เมื่อถามว่าเรตติ้งดีหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ก็ดีดิ ดูเอาเอง”

ส่วนกระแสความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คราวก่อนที่มีการทำโพลสอบถามว่าอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ ปรากฏว่า 90% ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์เลย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับออกปากไม่อยากดูโซเชียลมีเดีย รวมทั้งข่าวในหนังสือพิมพ์

มาคราวนี้ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ระวัง จะโดนประชาชนคอมเมนต์ถล่มเพจจนต้องปิดหนีแน่นอน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องดูตัวเองด้วยว่าที่ผ่านมาได้บริหารประเทศอย่างไร ที่ พล.อ.ประยุทธ์เปิดเพจหวังโยนหิน แต่คาดว่าจะไปไม่รอดมากกว่า

และระบุว่า รัฐบาลเอาเปรียบพรรคอื่นๆ ที่ปล่อยให้สี่รัฐมนตรีเดินสายพบปะประชาชนได้ ต่อให้อ้างว่าเป็นวันหยุด ไม่ใช่เวลาราชการ ถามว่าพวกท่านก็มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ใครก็ต้องกลัว ต้องเกรงใจหรือไม่ แต่พรรคการเมืองและนักการเมืองถูกมัดมือชก ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งขัดหลักการประชาธิปไตย ขนาดจัดประชุมพรรคก็ยังส่งพวกสันติบาลหรือ กอ.รมน.ไปติดตาม แบบนี้เรียกคุกคามหรือไม่ ควรเลิกได้แล้ว

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นการเล่นตามเกมในการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน เพียงแต่ต้องเปิดกว้างให้ผู้อื่นสื่อสารในลักษณะเช่นนี้ได้อย่างเท่าเทียมด้วย ไม่ใช่ใช้อำนาจพิเศษห้ามคนอื่นทำ เป็นช่วงรอยต่อสำคัญว่าจะนำไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่ ถ้าการเลือกตั้งเสรีเป็นธรรมทุกฝ่ายก็ยอมรับ สถานการณก็จะคลี่คลายได้ แต่ถ้าไม่เสรีเป็นธรรม โดยยังใช้คำสั่ง คสช.ปิดกั้นอยู่ ก็จะเป็นต้นเหตุทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้กับดักต่อไป

หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้วันนี้อำนาจนอกเหนือ กกต.จะทำให้สถานการณ์คลุมเครือไปบ้าง แต่ถ้า กกต.ยืนหลักมั่น โดยต้องการสร้างให้ทุกฝ่ายศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อะไรที่เป็นอุปสรรคไม่ทำให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม กกต.ต้องสื่อสารไปถึงผู้มีอำนาจพิเศษ ทำให้กติกาทุกอย่างชัด แต่ถ้า กกต.ทำไม่ได้ ประเทศก็จะกลับสู่ความไม่สงบเรียบร้อยอีกครั้ง

 

และท่ามกลางคำถามว่า การเปิดเฟซบุ๊ก เข้าข่ายหาเสียงด้วยโซเชียลมีเดีย ที่รัฐบาลยังไม่ปลดล็อกหรือไม่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ชี้ว่า ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการหาเสียง แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการคุยกันในรายละเอียด โดยรับทราบเรื่องจากสื่อมวลชนเท่านั้น ยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้

อย่างไรก็ตาม นิยามของคำว่ากิจกรรมทางการเมืองที่มีระบุไว้ในคำสั่ง คสช.นั้น คสช.จะเป็นผู้ชี้ว่าสิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ ไม่ใช่ กกต. แต่ กกต.จะต้องดูว่าการกระทำใดๆ จะส่งผลเสียหรือส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นหรือไม่ เพราะไม่จำเป็นต้องมีใครมาบอกก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว

แต่ถ้าเห็นว่าการดำเนินการใดๆ ยังไม่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่จะกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นก็จะยังไม่ดำเนินการ

นายอิทธิพรกล่าวต่อว่า ทาง กกต.ได้เก็บข้อมูลทุกอย่างไว้แล้ว เช่น เรื่องการลงพื้นที่ของพรรคพลังประชารัฐ หากไม่ได้ใช้ทรัพยากรรัฐและเวลาราชการก็ถือว่าทำได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อมูลหลักฐานว่ามีการละเมิดกฎหมาย กกต.ต้องดำเนินการแน่นอน

ส่วนปัญหาเรื่องอำนาจทับซ้อนในการควบคุมตามกฎหมายที่คาบเกี่ยวกับการเลือกตั้งระหว่าง คสช.กับ กกต. ประธาน กกต.กล่าวว่า ไม่คิดว่าอำนาจทับซ้อนกันระหว่าง คสช.กับ กกต. แต่ต้องเข้าใจว่าคำสั่ง คสช.ถือว่าเป็นกฎหมาย ซึ่ง กกต.ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย

ปัจจุบันแม้ว่า คสช.มีคำสั่งคลายล็อกแล้ว แต่ประเด็นใดที่ กกต.เห็นว่าไม่มีความชัดเจนก็จะสอบถามไป รวมถึงมีความเห็นของ กกต.เองด้วย จึงขอยืนยันว่า กกต.ไม่อยู่ในฐานะที่จะเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผิดได้ ดังนั้น เวลานี้จึงไม่เห็นข้อเท็จจริงใดที่จะนำไปสู่ความกังวลว่าจะเกิดการเลือกตั้งที่ไม่น่าเชื่อถือ

ขณะนี้ กกต.อยู่ในช่วงการเตรียมการเลือกตั้ง การแบ่งเขต ที่ภายในวันที่ 17 ตุลาคม ทุกจังหวัดจะเสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นมายัง กกต.เพื่อพิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตที่ดีที่สุดต่อไป นอกจากนี้ เราก็จะเร่งรัดเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมือง

น่าติดตามว่าเพจของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเปิดได้ตลอดรอดฝั่ง หรือจะปิดหนีตามคำทำนายของสมาชิกพรรคเพื่อไทย

ที่แน่ๆ คือ เป็นอีกหนึ่งสัญญาณยืนยันว่ามีการเลือกตั้งแน่ และ พล.อ.ประยุทธ์จะลงสนามพันตูด้วย ค่อนข้างแน่นอน