กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “หนองโพ นมโค แท้แท้ (ของพ่อ)”

“Move Fast and Break Things”

(เคลื่อนที่รวดเร็ว และ ทำลายข้าวของ)

นี่คือ วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทระดับโลก ที่หลายคนรู้จักดี

ชื่อว่า “เฟซบุ๊ก (Facebook)”

ที่บริษัทเฟซบุ๊ก จะมี “กิจกรรม” ที่เป็นพื้นที่ให้พนักงานรุ่นใหม่ไฟแรง

มาประลองฝีมือ “แก้ไขปัญหา” ของบริษัท

โดยไม่ยึดถึอว่าเป็นงานของตัวเองหรือไม่

จะเป็น หัวหน้า หรือว่า ลูกน้อง ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

ไม่ใช่แค่ออก “ความเห็น”

ไม่ใช่ “ประชุม” ยาวๆ

แต่เป็นการ ตั้งทีม ลงมือ “ทำจริง”

สร้าง “ต้นแบบ” ขึ้นมาจริงๆ

เรียกได้ว่า “ทดลอง” กันให้เสร็จในชั่วข้ามคืน

ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ไม่ว่ากัน ขอให้ได้ “ทดลอง” ทำออกมา

ปุ่ม Like ที่เราท่านใช้กัน ก็เกิดจาก “กิจกรรม” นี้นี่เอง ที่เรียกว่า “แฮ็กกาธอน (Hackathon)”

อย่างที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ค บอกไว้

จะสร้างองค์กรแห่ง “นวัตกรรม”

คุณต้อง “ลองผิดลองถูก” มากกว่า “นั่งคิดนั่งประชุม”

 

เมื่อสมัยตอนผมเด็กๆ ผมเรียนที่โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง แถวถนนสาทร

ยังจำได้แม่นครับว่า ช่วงพัก จะต้องมีการ “ดื่มนม” กัน

นมถุงบ้าง นมกล่องบ้าง สุดแล้วแต่โรงเรียนจะจัดมาให้ทานกัน

แหล่ง “โปรตีน” ที่สำคัญสำหรับเด็กๆ วัยกำลังโต

ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ใครๆ ก็หาซื้อได้ ราคาย่อมเยา

แต่ทราบมั้ยครับ กว่าจะเป็นแบบนี้ได้

ย้อนไปแค่ชั่วหนึ่งอายุคน ประมาณ 70 ปีที่แล้ว

ผลิตภัณฑ์ “นม” เพียงอย่างเดียวที่มีจำหน่ายในประเทศไทยนั้น

คือ “นมข้นหวาน” ที่สารอาหารแทบจะเป็น “ศูนย์”

เพื่อนๆ ลองไปถามคุณพ่อ คุณแม่ ดูสิครับ

เชื่อว่า ส่วนใหญ่ ท่านโตขึ้นมาด้วย “นมข้นหวาน” ผสมน้ำ

ที่คุณปู่ คุณย่า หามาให้ทานกัน

แล้วประเทศเรา มาถึงจุดที่มี “นมโคสด” ดื่มกันทั่วประเทศ แบบนี้ได้อย่างไร

เดาสิครับ เดา

 

ก็จะ “ใคร” เสียอีก ที่ “รัก” เราเหมือนลูก

“พ่อหลวงรัชกาลที่ 9” ไงล่ะ

ปี พ.ศ.2506

หลังจากพระองค์ท่านรับรู้ถึงปัญหาเรื่อง “การขาดสารอาหาร” ที่จำเป็นของเด็กไทย

ก็ทรงปรึกษากับ กุนนาร์ ซอนเดอร์การ์ด นักวิชาการเกษตรชาวเดนมาร์ก

และทรงก่อตั้ง ฟาร์มทดลองโคนมส่วนพระองค์ขนาดเล็ก ขึ้นในบริเวณพระตำหนัก “สวนจิตรลดา”

รู้จักกันในนาม “ฟาร์มโคนมสวนจิตรลดา” นั่นเอง

เริ่มต้นด้วย “วัวนม” เพียงห้าตัวเท่านั้น

เป็นโครงการทดลอง “สาธิต” เพื่อเรียนรู้วิธีการผลิตนมโคอย่างถูกวิธี

ทรง “ลองผิดลองถูก” อยู่ระยะหนึ่ง จนได้ที่

และเปิดโอกาสให้ “เกษตรกร” เข้ามาเรียนรู้วิธีการทำฟาร์มโคนมอย่างถูกวิธี

สร้างเป็น “อาชีพ” ให้กับเกษตรกรนับร้อย ในช่วงแรก

เป็นที่มาของ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ที่หลายๆ คนในสมัยนี้รู้จักเป็นอย่างดี

และด้วยการดำเนินกิจการที่ดีมาก อาจจะถึงขั้น “ดีเกินไป”

ปี 2509 เกิดปัญหา “นมโค” ล้นตลาด

ราคา “นมโคพาสเจอไรซ์” ลดต่ำลงเข้าขั้นวิกฤต

ถึงขนาดที่หลายๆ ฟาร์มโคนม ต้องนำนมโคไปเลี้ยง “หมู”

เกษตรกรที่เปิดกิจการโคนมใหญ่โต ถึงขั้นเกือบจะต้องล้มละลาย

ครับ ตามสไตล์พี่ไทย ที่พอมีปัญหา ก็จะนึกถึง “พ่อ” เป็นที่พึ่งในยามยาก

เข้าถวาย “ฎีกา” กันเป็นการใหญ่ ขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือ

อีกคราหนึ่ง “ในหลวง” ทรงศึกษาหาข้อมูล

แล้วตัดสินพระทัยเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทุกข์ยาก ในการ “แปรรูป” นมส่วนเกิน

โดยก่อตั้ง “โรงนมผงสวนดุสิต” ขึ้นในพื้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อีก

ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในพิธีเปิดโรงงานว่า

“ขอให้โรงงานนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง ใครอยากได้ความรู้

ใครอยากที่จะทำกิจการโคนมให้สำเร็จ ให้ก้าวหน้า

และเป็นประโยชน์แก่ตน แก่เศรษฐกิจของบ้านเมือง

ก็ให้มาดูกิจการได้ทุกเมื่อ”

ในไม่ช้า หลังจากทดลองจนมี “ความเชี่ยวชาญ” แล้ว

โรงงานแปรรูปในสวนจิตรลดาก็สามารถผลิตทั้ง นมอัดเม็ด ชีส ไอศกรีม

หรือแม้แต่ เนย นมข้น ที่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าในสมัยนั้น

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโรงงานนมผง “หนองโพ” ขึ้นที่จังหวัดราชบุรี

เวลาผ่านไปจึงพัฒนาเป็น สหกรณ์โคนมหนองโพ ขึ้น

อย่างที่เราท่านได้รู้จักกันดีในปัจจุบัน

หนองโพ นมโค แท้ๆ

ทรงเปลี่ยนจากประเทศที่ ลูกเด็กเล็กแดง ต้องรับประทาน “นมข้นหวานผสมน้ำ”

กลายมาเป็น “นมพาสเจอไรซ์” ที่มีคุณค่าทางอาหาร ทัดเทียมกับต่างประเทศ

ภายในระยะเวลาเพียงแค่ “เจ็ด” ปี

จนคนไทยหลายคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า

นมโคไทย-เดนมาร์ค และ นมหนองโพ ที่เรารู้จักกันดี

เกิดขึ้นได้ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน

ที่ไม่รีรอ “ลงมือทำ” ทันที

 

หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินว่า

ในหลวง ไม่ทรงเสวยปลานิล เป็นอาหาร

ทำไมน่ะหรือ?

ปี 2508 ทรงใช้บ่อดินในวังสวนจิตรลดา เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ “ปลานิล”

ที่ได้รับมาจาก สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต

เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทานง่าย มีโปรตีนสูง

เมื่อทรง “ทดลอง” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ทรงแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ

ตั้งแต่วันนั้น ปลานิล เป็นพันธุ์ปลาที่เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากที่สุดในประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ทรงเพาะเลี้ยงเองเหมือนลูก จึงไม่ทรงโปรดที่จะเสวย นั่นเอง

 

จากเรื่องราวข้างบนนี้ จะเห็นว่า “พ่อหลวง” ลงมือแก้ปัญหาทันที

ไม่รอให้ทุกอย่างพร้อม

ทรงเชื่อใน “การทดลอง” มากกว่า “การวิเคราะห์” จากความรู้ในหนังสือ

หรือแม้กระทั่ง “ผู้เชี่ยวชาญ”

โครงการพระราชดำริ หลายพันโครงการที่นานาชาติยอมรับ

ยกย่องให้เป็น “นวัตกรรม” ระดับโลก ก็หลายโครงการ

ล้วนเกิดขึ้นจาก “เล็ก” ไป “ใหญ่” ทั้งสิ้น

“เล็ก” คือ ทดลองทำเองที่บ้านพ่อ

“ใหญ่” คือ ให้ลูกได้เอาออกไปใช้ประโยชน์

วิธีการสร้างสรรค์งาน ที่ไม่ต่างเลยกับ “องค์กรระดับโลก” อย่างเฟซบุ๊ก ที่เน้นการ “ลงมือทำ”

นำไปสู่ “ความยั่งยืน” เหมือนต้นไม้ที่มี “รากแก้ว” ที่แข็งแรง


ตรงกันข้ามกับขั้นตอนมากมาย ในรูปแบบของ “ราชการ” ที่ทำให้การดำเนินงาน “ล่าช้า”

ประชุมกันสิบรอบ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ไม่กล้าตัดสินใจ

กลัวความรับผิดชอบ ต้องตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานให้วุ่นวาย

แถมหลายครั้งก็ “รั่วไหล” ไม่โปร่งใส จบลงที่โครงการ “สุกเอาเผากิน”

ช่างน่าเสียดาย

 

กายพ่อ กลับคืนสู่ ท้องฟ้า

แต่ ภาพพ่อทรงงานยังตราตรึง ในหัวใจ

ขอเพียงลูก “เดินตาม”