ผู้ไม่อาจอำนวยยุติธรรม ให้คนอื่น “ผู้คุ้นชินสื่อสารทางเดียว” : โดยสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————–

“ผู้คุ้นชินสื่อสารทางเดียว”

—————-

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดช่องทางโซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ,ไอจี ,ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์

มีคำปฏิเสธจาก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกฯ ตัวตั้งตัวตี ในเรื่องนี้

“ยืนยันว่าการเปิดช่องทางทางโซเชียลของนายกฯ ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างแน่นอน เพราะนายกฯ ยังไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะร่วมกับพรรคการเมืองไหนอย่างไร”

ไม่รู้ จะปฏิเสธไปทำไม

ด้วยใคร-ใคร ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นการเมือง และโยงไปถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วย

ถลำเข้าไปเกือบทั้งตัวแล้ว

ทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องชี้แจงอะไรเลยจะดีกว่า

เพราะมันนำไปสู่ บรรทัดฐานเบี้ยวๆบูดๆ

คือคนอื่นห้ามใช้โซเชียลหาเสียงเด็ดขาด

ซึ่งก็ไม่ได้มีมาตรฐานอยู่นั่นเองว่า อะไรคือ หาเสียง หรือไม่หาเสียง ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของคสช.เป็นหลัก

ไม่ถูกใจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจถูกวินนิจฉัย ว่า ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ได้ง่ายๆ

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นไว้ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 ตุลาคม 2561

น่าสนใจมาก

โดย บอกว่า

” ที่พล.อ. ประยุทธ์ ใช้สื่อโซเชี่ยลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ว่าต้องวาง ตัวอย่างไร

เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถใช้ช่องทางตรงนี้ได้

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบทบาทของพล.อ. ประยุทธ์ มีความสับสนว่า เป็นอะไรกันแน่ เพราะเหมือนว่าเป็นทุกอย่าง

สับสนในการวางตัวของพล.อ.ประยุทธ์

วิจารณ์กันว่าใกล้ถึงวันเลือกตั้งรัฐบาลจึงใช้ช่องทางต่างๆสื่อสารกับประชาชนก็เห็นว่าเป็นปกติไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน

(แต่)เราก็อยากจะเรียกร้องให้แข่งขันกันด้วยความยุติธรรม

การใช้สื่อโซเชี่ยลจึงต้องคำนึงว่าต้องไม่ให้เกิดประโยชน์ขัดแย้ง

..สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือเมื่ออยู่ในสถานะของผู้ที่มีอำนาจมากกว่าชาวบ้าน การใช้สื่อ โซเชี่ยลยิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะชาวบ้านจะเชื่อถือมากกว่าอย่างอื่น ”

ตามความเห็นของ “ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต” ไม่ได้ห้ามให้พล.อ.ประยุทธ์ ใช้โซเชียล

ใช้เลย แต่ ต้องไม่สับสนในตนเอง

คือเดี๋ยวเป็นผู้เล่น

เดี๋ยวเป็นผู้คุ้มกฎ

ซึ่งไม่อาจอำนวยยุติธรรม ให้คนอื่นได้

ที่สำคัญจะมีจุดยืนต่อความเป็น “ไซเบอร์ธิปไตย”อย่างไร

ด้วย”ไซเบอร์ธิปไตย”นี้เปิดกว้างกับการชอบ-ไม่ชอบอย่างแทบไร้ข้อจำกัด

หากจะหวังให้คน”ชอบ”อย่างเดียวไม่ได้

ซึ่งอาจขัดความรู้สึกของคนที่คุ้นชินกับการสื่อสารทางเดียวหรือ”พูดคนเดียว”

ที่จะโน้มเอียงว่า โลกไซเบอร์ มันไม่เชื่อง คุมไม่อยู่

อาจเผลอ หรือ จงใจ ใช้อำนาจพิเศษออกกฎหมายคุมมันเสียเลย

อย่างตอนนี้ ก็มีเสียงวิจารณ์ขรมว่า รัฐบาลและคสช. กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ…. ออกมา ไม่สอดคล้องตามหลักสากล มุ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ไม่มีหลักการตรวจสอบถ่วงดุล

เสียงค้านหนักจนพล.อ.ประยุทธ์ สั่งให้ชะลอ ไปก่อน

ซึ่งก็มีเสียงแซวๆว่า ที่ชลอไม่ใช่เพราะเป็นมีจิตวิญญานดิจิติตอล

แต่เพราะใกล้เลือกตั้ง กลัวเสียแต้มมากกว่า

หากไม่มีเรื่องนี้ รับรอง พ.ร.บ.ไซเบอร์ ฉลุยไปแล้ว!

——————-