รู้จัก “มะเดื่อเกลี้ยง” สรรพคุณเพียบ! แก้เบาหวาน – ทานเป็นยาระบาย

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เดื่อเกี้ยง”

เดื่อเกลี้ยง หรือมะเดื่อเกลี้ยงมีอีกชื่อเรียกว่า เดื่อน้ำ เดื่อป่า เดื่อใหญ่ มีชื่อภาษาไทยอื่นว่า มะเดื่อไทย มะเดื่อชุมพร มะเดื่ออุทุมพร มะเดื่อหอม มะเดื่อดง หมากเดื่อ เดื่อเลี้ยง (อีสาน) หรือกูแซ (ใต้)

มะเดื่อเกลี้ยง หรือมะเดื่ออุทุมพร เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มียางขาวคล้ายน้ำนม เป็นสมาชิกในวงศ์เดียวกับขนุนคือวงศ์ MORACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ficus racemosa L. ทรงพุ่มกว้าง ลำต้นเกลี้ยง ช่อดอกและผลเกลี้ยง จึงได้ชื่อว่า “มะเดื่อเกลี้ยง”

ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ บางครั้งพบริมธารน้ำ

มักจะพบในความสูง 350-650 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

สําหรับมะเดื่อเกลี้ยงหรือมะเดื่ออุทุมพรถือเป็นไม้มงคล ปลูกในบ้านได้ ในอดีตนิยมใช้ไม้มะเดื่อในพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน โดยใช้ทำพระที่นั่ง หรือไม่เช่นนั้นก็ใช้ทำกระบวยตักน้ำเจิมถวาย หรือทำหม้อน้ำในพระราชพิธีดังกล่าว

มะเดื่อออกดอกและติดผลตลอดทั้งปี ช่อดอกของมะเดื่อมีลักษณะพิเศษคือ มีลักษณะกลมแป้นหรือรูปไข่ เกิดจากฐานรองดอกแผ่ออกหุ้มดอกไว้ภายใน ออกเป็นพวงมองดูคล้ายผล เมื่อยังเป็นดอกอยู่จะมีขนาดเล็ก สีเขียว เมื่อติดผลจะขยายขนาดขึ้นและเปลี่ยนเป็นสีแดงม่วง สุกมีรสฝาดอมหวาน รับประทานได้

มะเดื่อไทยกับแมลงหวี่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันเพื่อการสืบพันธุ์ ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน กล่าวคือ มะเดื่อได้แมลงหวี่เป็นตัวถ่ายเรณู โดยจะคลานเข้าทางรูเปิดตรงปลายผล หากผ่าดูจะเห็นเป็นแผ่นซ้อนกันแน่น จึงทำให้มีเฉพาะแมลงหวี่เท่านั้นที่สามารถมุดเข้าไปช่วยผสมเกสรได้

จากนั้นแมลงหวี่ก็จะวางไข่ออกลูกหลานไว้ภายในช่อผลมะเดื่อ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลสุกของมะเดื่อจะมีแมลงหวี่อยู่ภายใน ทำให้คนไทยไม่นิยมกินผลสุกของมะเดื่อแบบมะเดื่อญี่ปุ่นหรือมะเดื่อฝรั่ง

แต่มะเดื่อนั้นเป็นยาสมุนไพรที่คนโบราณคุ้นเคยกันดี

คนไทยใช้รากมะเดื่ออุทุมพรเป็นยาแก้ไข้ นิยมใช้ผสมเครื่องยาในตำรับยาห้าราก หรือเบญจโลกวิเชียร ซึ่งประกอบด้วย รากขิงชี่ รากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม และรากมะเดื่ออุทุมพร มีสรรพคุณกระทุ้งพิษต่างๆ หรือถอนพิษต่างๆ

เปลือกต้น ใช้แก้อาเจียน แก้ท้องเสีย หรือธาตุพิการ

ผลดิบใช้แก้เบาหวาน

ส่วนผลสุกอาจใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูก

แต่คนล้านนานิยมนำช่อดอกหรือผลอ่อนสด รสจืด เนื้อกรอบ มากินกับน้ำพริกกันมากกว่าจะกินผลสุก