“ประยุทธ์” สั่งเนรมิตทางด่วนใต้ดิน ทะลวงรถติดมหาโหดเมืองกรุง ประเดิม “บางนา-พระราม 3”

รถติดทั่วกรุงยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยแก้ไม่ตก ส่วนหนึ่งมาจากถนนทุกสายล้นทะลักไปด้วยรถยนต์มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี สวนทางกับโครงข่ายถนนที่มีอยู่ไม่เพียงพอรองรับ

ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า ยังมีไม่เพียงพอตอบโจทย์การเดินทาง คนกรุงส่วนใหญ่จึงไม่ยอมทิ้งรถไว้ที่บ้านแล้วหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ

ที่ถูกจับตามองและกำลังเป็นที่สนใจขณะนี้คือ การก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนใต้ดิน ที่กระทรวงคมนาคมจะนำมาเป็นตัวชูโรง

ทะลวงปัญหารถติดเมืองกรุง

 

แนวคิดนี้จุดพลุโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ฝากเป็นการบ้านให้กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาโครงการ เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานคร ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ผลพวงจากการที่ “บิ๊กตู่” ได้เห็นของจริงในต่างประเทศ เลยปิ๊งไอเดียอยากนำมาเป็นโมเดลต้นแบบในการแก้วิกฤตจราจรในประเทศไทย

งานนี้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เด้งรับสุดตัว มอบเป็นโจทย์ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ในหลากหลายแนวทาง

นายอาคมระบุว่า พื้นที่กรุงเทพฯ มีข้อจำกัดในการหาพื้นที่จะสร้างโครงข่ายถนนใหม่มารองรับให้เพียงพอกับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับปัจจุบันมีการปิดถนนสายหลักหลายเส้นทางสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งกว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลาอีกหลายปี ทำให้การจราจรวิกฤตหนักขึ้น

“ต้องมีมาตรการอื่นๆ มาช่วยบรรเทาปัญหา เช่น ทำยังไงจะกระตุ้นให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มคิดถึงการสร้างทางลอดหรืออุโมงค์ เช่น เส้นทางจากตะวันออกไปตะวันตก ที่มีปัญหารถติด ต้องมีอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเหมือนในต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะพื้นที่มีไม่พอจะสร้างถนน

ส่วนทางยกระดับหากสูงขึ้นระดับ 3 และ 4 อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ”

 

จากการบ้านที่สั่งด้วยวาจา ล่าสุด “สนข.” ศึกษาความเป็นไปได้ใกล้แล้วเสร็จ เบื้องต้นขีดแนวไว้ 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางสำโรง (แยกบางนา)-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 2.เส้นทางถนนรามคำแหง-รัชดาภิเษก และ 3.เส้นทางจากแยกเกษตร-วิภาวดีรังสิต

ที่พร้อมมากที่สุดคือ เส้นทางแยกบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อแก้รถติดย่านสาทร สีลม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมากนัก ไม่ต้องเวนคืนที่ดินจำนวนมาก ส่วนอีก 2 เส้นทางอยู่ระหว่างกำหนดจุดที่จะเชื่อมหัวและท้ายกับโครงข่ายถนนหรือทางด่วนเพื่อระบายรถได้มากที่สุด ไม่ให้เกิดปัญหารถติดตามมาภายหลัง

รูปแบบโครงการจะเป็นอุโมงค์ลอดใต้ดินลึก 13 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร และมีด่านเก็บเงิน 2 จุด คือ ต้นทางบริเวณแยกบางนา และปลายทางที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ตัวอุโมงค์และทางลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ทาง สนข.กำลังศึกษาการก่อสร้างของหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐและมาเลเซีย

แนวเส้นทางจะเริ่มจากแยกบางนา จากนั้นมุดลงใต้ดินวิ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านบางกระเจ้า ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่เป็นกระเพาะหมู ไปสิ้นสุดบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงที่ต่อกับถนนพระราม 3 รวมระยะทาง 9 ก.ม. ส่วนจุดเชื่อมต่อหัวและท้ายอยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ แต่คาดว่าจะเชื่อมกับโครงข่ายทางด่วนบางนา-ชลบุรี กับทางด่วนขั้นที่ 1

สอดรับกับที่นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะเสนอผลศึกษาความเป็นได้โครงการดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา

นอกจากนี้ สนข.อยู่ระหว่างศึกษาเป็นโมเดลก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และทางยกระดับเชื่อมโครงข่ายทางด่วนในอีกหลายพื้นที่ เพื่อทะลวงคอขวด และแก้ปัญหารถติดพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นทางเลือกเพิ่มให้ผู้ใช้ทาง โดยจะนำร่องในพื้นที่ที่รถติดหนักสุด เช่น สาทร สีลม นราธิวาสราชนครินทร์ เป็นอันดับแรก

“การสร้างทางด่วนเป็นอุโมงค์ใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นออปชั่นหนึ่งที่จะนำมาแก้ปัญหารถติดในระยะยาว ต้องศึกษาความเป็นไปได้ก่อนว่าจะคุ้มหรือไม่ เพราะค่าก่อสร้างสูง ต้นทุนเฉลี่ยต่อกิโลเมตรน่าจะเกิน 1,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินของสายสีน้ำเงิน ส่วนจะแพงหรือถูกอยู่ที่รูปแบบก่อสร้างและราคาที่ดิน”

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ สนข.ตั้งอยู่บนพื้นฐานมาจากการศึกษาโมเดลของต่างประเทศ เช่น ที่เมืองชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่น สร้างเป็นอุโมงค์ 6 ช่องจราจร ค่าก่อสร้างอยู่ที่กิโลเมตรละ 10,000 ล้านบาท ประเทศมาเลเซียเป็นอุโมงค์ 2 ช่องจราจร รองรับทั้งรถยนต์และเป็นทางน้ำผ่านในบางเวลา กิโลเมตรละ 3,000 ล้านบาท ส่วนเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอุโมงค์ 6 ช่องจราจร กิโลเมตรละ 10,000 ล้านบาท สำหรับประเทศไทยคาดว่าจะออกแบบเป็นอุโมงค์ขนาด 2 ช่องจราจร

“คอนเซ็ปต์อุโมงค์ทางด่วนใต้ดินต้องสร้างอยู่ถนนเดิม ช่วงหัว-ท้ายต้องเชื่อมกับทางด่วนปัจจุบัน เพื่อระบายรถออกไปยังนอกเมืองได้ เช่น เส้นทางจากบางนา-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงบางนาจะเชื่อมกับทางด่วนบางนา-ชลบุรี ส่วนช่วงถนนนราธิวาสราชนครินทร์กำลังดูจุดเชื่อมต่อ”

 

นอกจากอุโมงค์ 3 เส้นทางดังกล่าวแล้ว นายชยธรรม์กล่าวว่า สนข.ยังได้รับโจทย์จากกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาปรับรูปแบบการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ศึกษาไว้ในแผนแม่บท จำนวน 11 แห่ง ที่ยังไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ โดยจะปรับเป็นอุโมงค์ใต้ดินแทน เพื่อเชื่อมการเดินทางพื้นที่ฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี แก้ปัญหาการจราจรในอนาคต

“สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 โครงการ ที่อยู่ในแผนแม่บท ทุกสะพานมีความจำเป็น เพราะจะมาช่วยบรรเทาการจราจรได้ เนื่องจากสะพานที่มีอยู่ปัจจุบันไม่เพียงพอรองรับ และบางโครงการมีประชาชนคัดค้าน ก็มาดูว่าจะปรับรูปแบบการก่อสร้างจากสะพานเป็นอุโมงค์ใต้ดินแทนได้หรือไม่ และพื้นที่ไหนบ้าง ทั้งหมดกำลังดูความเป็นไปได้”

ถือเป็นโปรเจ็กต์มาสเตอร์พีซอีกชิ้นในยุค “รัฐบาลทหาร” บริหารประเทศ แต่จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ยังต้องรอดูต่อไป

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ สนข.เตรียมไว้ และน่าจะสามารถดำเนินการในทันทีนั้น นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า มีทั้งมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะนำมาแก้ไขปัญหาจราจรภายในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยเฉพาะถนนลาดพร้าวและถนนรามคำแหง

โดยจะนำโครงข่ายรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และมีแผนลงทุนในอนาคตมาวิเคราะห์ว่ามีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นกี่จุด เช่น เรือ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน

นอกจากนี้ จะปรับเส้นทางรถเมล์ที่ซ้อนทับรถไฟฟ้า และเพิ่มเส้นทางใหม่ เป็นฟีดเดอร์ป้อนคนมาใช้บริการรถไฟฟ้า อีกทั้งจะเพิ่มเส้นทางเดินเรือเพื่อเป็นทางเลือกมากขึ้น

เช่น คลองแสนแสบ จะเพิ่มการเดินเรือรูปแบบชัตเติลโบ๊ต ไปถึงมีนบุรี แก้ปัญหารถติดรามคำแหง ซึ่ง สนข.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด จะแล้วเสร็จใน 1 เดือนนี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินพิจารณา

 

แน่นอนว่า สนามเลือกตั้งลั่นระฆังเมื่อไหร่ ปัญหารถติดหนึบกวนใจคนกรุง น่าจะเป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่นักการเมืองทุกพรรคแข่งกันนำเสนอเป็นทางเลือกใหม่

จึงไม่ต้องแปลกใจ หากตอนนั้นจะมีสารพัดโปรเจ็กต์มาแย่งซีนอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินของ “บิ๊กตู่” ที่ชิงเปิดตัวออกมาก่อนแล้วในเวลานี้