เปิดใจดับเบิลซีไรต์หญิง “วีรพร นิติประภา” : มุมมองการต่อสู้-อยู่รอดของ “กระดาษ”

นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักแหม่ม “วีรพร นิติประภา” เจ้าของฉายา ดับเบิลซีไรต์หญิงคนแรก ที่ได้รางวัลจากเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต มาแล้วรอบหนึ่ง จนต้องพิมพ์เพิ่มอีกหลายครั้ง มาวันนี้เธอพา พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ไปคว้าซีไรต์อีกรอบ วันนี้เราเลยชวนวีรพรมาสนทนาหลายประเด็นน่าสนใจ

: ช่วงเวลาแห่งการเขียนพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

ตอนนั้นเพิ่งเขียน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” เสร็จ ก็ส่งให้สำนักพิมพ์มติชน แล้วก็ตอนนั้นเขายังไม่มี บ.ก.เล่ม ก็รอ ช่วงระหว่างที่รอตอนนั้นก็ขึ้นเรื่องใหม่เลย แต่จะว่าไปแล้วเขียนไส้เดือนตาบอดฯ เพื่อหาวิธีเขียนสำหรับเรื่องนี้แล้ว พอเสร็จไส้เดือนฯ แล้วก็เขียนต่อได้เลย ไม่ได้เป็นช่วงเวลาพิเศษใดๆ ในชีวิตเลย เราก็มีทางเลือกไม่มากมาย คิดไว้อย่างเดียวคือว่าเผื่อ บ.ก.เขาไม่สนใจไม่ซื้อไส้เดือนตาบอดฯ เราก็จะได้บอกเขาว่ายังมีอีกเล่มหนึ่ง คิดง่ายๆ แค่นั้นจริงๆ ก็ทำงานได้ต่อเนื่องเลย

สำหรับการเขียนเรื่องจะเขียนในช่วงเช้า ตนเองมักจะมีปัญหาในการเขียนช่วงบ่าย คือมันรู้สึกไม่ค่อยเฟรช ตอนบ่ายมักจะใช้เวลาเสิร์ชอินเตอร์เน็ตท่องไปในเพจต่างๆ ที่มีรูปเก่า การนั่งดูรูปเก่า ย้อนไปดูว่าช่วงนั้นถนนลาดยางหรือยัง ถามว่าเราไปดูตรงนั้นทำไม เพราะว่ามันจะนำมาซึ่งความเข้าใจในระบบของกรุงเทพฯ และท้องถิ่นอะไรอย่างนี้ด้วย เราก็พยายามปะติดปะต่อภาพ นอกเหนือจากการหาข้อมูลอื่นๆ ที่ก็ต้องนั่งไล่หา keyword ไปเรื่อยๆ และบางครั้งเราเข้าไปอ่านเพื่อจะพาเราไปสู่ keyword ที่จะพาเราไปสู่เรื่องที่เราอยากจะอยากรู้อีกทีหนึ่ง

: การเล่าถึงความเป็นจีน “เสื่อผืนหมอนใบ”

ต้องบอกว่า พล็อตเรื่องของพุทธศักราชอัสดงฯ มีมาก่อนในใจแล้ว เพราะมีความรู้สึกอยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวคนจีนซึ่งเป็นครอบครัวใกล้ๆ กับตัวเอง และอยากเขียนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เขียนเรื่องมายาคติของการมองว่าคนจีนต้องเป็นพวกที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

มันฟังดูแล้วคล้ายๆ กับว่าคนส่วนหนึ่งกำลังให้ภาพว่าบ้านนี้เมืองนี้อุดมสมบูรณ์ก็หอบผ้าหอบผ่อนเข้ามาอยู่ ซึ่งมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เขาเข้ามาทำงาน แต่ปัญหาก็คือพอทำงานเสร็จแล้วจะกลับบ้านก็กลับไม่ได้ มีเรื่องราวสงครามเกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมืองจีน แต่คิดว่าเสื่อผืนหมอนใบที่เป็นเสื่อผืนหมอนใบจริงๆ ก็คงมี เช่น ในเรื่องก็จะมีการเล่าถึงคนขายเกลือ เราพยายามจะบอกว่าคนจีนที่เข้ามาอย่างที่เห็น ไม่ใช่ว่าคนทุกคนที่จะประสบความสำเร็จนะ มันไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ ที่อพยพมาแล้วจะต้องเป็นเช่นนั้นหมด ยังมีพวกที่ร่ำรวยจากที่มีทุนอยู่แล้ว ก่อนมาขยายทุนที่บ้านเมืองนี้ เพราะว่าคนจีนทำการค้าเก่งกว่าอะไรทำนองนั้น

ขณะเดียวกันยังมีคนจีนไปทำสวนผัก ไปรับจ้างทำด้านการเกษตร แต่ที่ผ่านมาภาพที่ถูกนำเสนอส่วนใหญ่เราจะได้เห็นแนวประสบความสำเร็จ จริงๆ มีไม่กี่รายที่เสื่อผืนหมอนใบแล้วร่ำรวย

แต่ว่าภาพคนไทยเข้าใจและเห็นมาส่วนใหญ่คือ มีความ อดทนขยัน รวย มาจากการนั่งอมก้อนหินคั่วเกลือกินกับข้าวต้ม มีปลาเค็มแขวนอยู่กลางบ้าน นั่งดูไปแล้วก็กินข้าวต้ม ดิฉันพยายามเสนอภาพที่คิดว่ามันไม่ค่อยได้ถูกเสนอในนิยายทั่วไป

: ทำไมมีฉากหลังเป็นการเมือง

สาเหตุที่ต้องเลือกช่วงการเมืองหลังสงครามเพราะคิดว่า สิ่งหนึ่งที่คนไม่ค่อยคิดกันก็คือว่าปัญหาของโลกทั้งหมดในวันนี้และตอนนี้ ณ จุดนี้ของกาลเวลา มันล้วนแต่เป็นปัญหาที่มาจากช่วงเวลาหลังสงครามทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีอาหรับสปริงไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในแอฟริกา ปัญหาใน South East Asia ดิฉันมองว่าเรายังติดอยู่ตรงนั้นอยู่เลย เราไม่ยังไม่ได้ไปไหนไกลจากช่วงเวลาหลังสงครามเท่าไหร่นัก และการที่เราเลือกพูดถึงช่วงเวลานั้นจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าอะไรที่พัดพาเรามาถึงจุดนี้ มาถึงจุดที่เราอยู่ (มั้ง)

: การตั้งชื่อทำไมต้อง “ทรงจำของทรงจำ”

คิดว่ามันคือทรงจำที่เรากะพร่องกะแพร่ง หนึ่งคือความทรงจำของเรื่องที่เป็นเรื่องเล่า คือเป็นเรื่องความทรงจำอยู่แล้วใช่ไหม แล้วมันเป็นสิ่งที่อยู่ในเรื่องเล่าและมันเป็นความทรงจำของทรงจำอีกทีหนึ่ง อีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งมีความรู้สึกว่าในบางครั้งหลายๆ อย่างก็เป็นความทรงจำที่มันถูกสร้างขึ้น เป็นความทรงจำที่เราไม่ได้มีอยู่ในความทรงจำที่เราได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่เราอีกทีหนึ่ง อะไรทำนองนั้น

: อยากให้คนมี “ความทรงจำ” ต่อเราในแบบไหน ?

โอ้ย ใครอยากจะจำอะไรก็จำ ต้องขอโทษไม่ค่อยสนใจ (หัวเราะ) ไม่ค่อยมีคำคาดหวังว่าคนอยากจะจำในแบบไหน หรือคนจะจำหนังสือในแบบไหนด้วยซ้ำ แต่ว่า “การได้ดับเบิลซีไรต์” เขาก็คงจำอยู่แล้วแหละว่ายายคนนี้ได้ 2 ครั้ง

: มุมที่แฟนๆ สะท้อนมาหลังอ่านจบ

ความทรงจำที่เรามีเกี่ยวกับตัวเรามันกะพร่องกะแพร่งแค่ไหน กับแค่คำถามว่าตกลงแล้วเราเป็นคนจีนหรือคนไทยกันแน่ นี่คือคำถามง่ายๆ ในหลายๆ ครั้งคนอ่านก็มาเล่าให้ฟังว่าหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเขาก็กลับไปถามปู่ย่าตาทวดว่าครอบครัวมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งดิฉันว่าเป็นเรื่องที่งดงามเรื่องหนึ่งที่ควรจะสงสัยว่าเขามาจากไหน อย่างน้อยที่สุดเราไม่ค่อยถูกสอนให้สนใจในเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ว่าเรามาจากไหน ใครเป็นใคร เราไม่ได้ใช้แซ่แล้วมีนามสกุลเรื่องนี้ก็สำคัญ ทำให้ความเป็นเราต่างออกไปเรามีนามสกุลไทย แต่หน้าเราไม่เหมือนคนไทย เรามีผิวสีขาวเรามีตาตี่ เราแปลกแยกหรือเราไม่แปลกแยกอะไรพวกนี้ ซึ่งนอกเหนือจากการพยายามเข้าใจเส้นประวัติศาสตร์ว่าด้วยสังคมการเมืองมันเปลี่ยนไปแค่ไหนอย่างไร เหมือนเราได้กลับมาสำรวจตัวเอง ผ่านเส้นที่มันไม่สมบูรณ์ของเรื่องเล่าของตัวเอง

บางครั้งคนที่อ่านแล้วก็จะเห็นว่ามีเรื่องบางเรื่องอยู่ๆ ก็หายไปเฉยๆ ซึ่งมันก็เหมือนในชีวิตจริงว่าที่บางคนเข้ามาแล้วก็หายไปจริงๆ เช่น ครูไก่ขันในเรื่อง ถ้าคุณศึกษาจริงๆ คุณจะรู้ว่าประวัติศาสตร์ช่วงสงครามของเรา เราเป็นฮับของสายลับ มีสายลับของทุกชาติชุมนุมอยู่ในประเทศเรา เมื่อคุณเห็นสภาพการณ์หลังสงครามของเรามีการแทรกแซงของต่างชาติหรือการแทรกแซงกันเอง มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นเยอะพอสมควร

: ถ้ามีคนเอาเรื่องไปสร้างภาพยนตร์

ขายเลยค่ะ ใครอยากซื้อบอก แต่แพงหน่อยนะตอนนี้ (หัวเราะ) ในมุมส่วนตัวไม่แน่ใจ แต่คิดว่าคนรุ่นหลังๆ อาจจะสนใจเสพภาพยนตร์มากกว่า แต่ว่ามันก็จะมีหลายอย่างที่ตกหล่นไปจากในหนังสือ ซึ่งก็แล้วแต่ตัวบุคคล ดิฉันเองไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ กับสื่อยุคใหม่

: มองว่ากระดาษอ่อนแรงลงไหม?

ซีไรต์เล่มที่แล้วค่อนข้างจะขายได้เยอะ ไม่ค่อยเชื่อ Fact อันนี้ เชื่อเพียงว่านักเขียนต้องทำงานหนักขึ้น คุณต้องเขียนเรื่องที่สนุก คุณต้องเขียนเรื่องที่ชวนติดตาม คุณต้องใช้ภาษาที่สวยงามพอ ที่คุณจะได้เปรียบหนังที่ไม่มีเวลาในการเล่าเรื่องสวยๆ งามๆ มีการใช้คำพูดหยาดเยิ้มอะไรทำนองนั้นมากกว่า ไม่คิดว่าทุกวันนี้ปัญหาคือเนื้อกระดาษ แต่มองว่าตัวผู้เขียนเองนั่นแหละ คุณก็ต้องพึงสังวรไว้ว่าคุณไม่ได้ทำงานแข่งขันกับนิยายด้วยกันอีกแล้ว คุณต้องแข่งกับภาพยนตร์ แข่งกับ netflix แข่งกับเพลง Facebook LINE Instagram ทุกอย่าง ดังนั้น คุณจำเป็นต้องมีภาพที่ชัดเจนในหนังสือคุณ

อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการเล่าเรื่องไป จากที่อดีตเช่นเรื่องกระแสสำนึกอาจจะต้องลดลงไป ในโลกที่มี Visual เยอะขนาดนี้ คุณต้องมีฉากเยอะขึ้นอะไรแบบนี้หรือเปล่า ตัวเองก็ได้แต่ทำการทดลอง แต่ไม่สามารถสรุปได้ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องเหล่านี้ น่าจะเป็นเรื่องของนักวิชาการด้านที่จะเป็นตัวพิเคราะห์และเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ถ้าคุณเขียนหนังสือมาแห้งๆ ไม่สวยมันก็จะยากต่อการติดตามนะ

เราก็ต้องคิดตลอดว่าจะทำอย่างไรให้คนอ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย นั่นคือเป้าหมาย

สนใจหนังสือคลิกสั่งซื้อได้เลยที่นี่