ฉัตรสุมาลย์ : ฤาไม่มีเถรวาทแท้ สิ่งใดคือแก่นแท้ที่ถูกละเลย

ในงานปิดการประชุม ABC (Asian Buddhist Connection) International Conference ที่วัดศากยะวนาราม เมืองจิปานัส ประเทศอินโดนีเซีย

ท่านธัมมนันทาในฐานะประธานของงานประชุม กล่าวขอบคุณและกล่าวชื่นชมเจ้าภาพท้องถิ่นคือนิกายพุทธยานและสมาคมสตรีชาวพุทธอินโดนีเซีย วันนั้นมีพระภิกษุมาหลายรูปทั้งนิกายพุทธยานเอง เถรวาท และมหายานจากเกาหลี

ท่านธัมมนันทาก็เลยพูดประเด็นที่เราชาวพุทธมักจะผิดพลาดในการเน้นรายละเอียดแต่ทิ้งหลักการ

เวลาที่เราเป็นชาวพุทธนิกายเถรวาทนั้น เราต้องตั้งท่าให้ถูกว่า เราเป็นชาวพุทธ และคำว่านิกายเถรวาทนั้นมาขยายคำว่าชาวพุทธ ก่อนที่เราจะไปเป็นอื่น ไม่ว่าจะเป็นเถรวาท มหายาน หรือวัชรยาน เราต้องเน้นความเป็นชาวพุทธ เมื่อเราเน้นความเป็นชาวพุทธเราก็อยู่ร่วมกันได้ ทำงานด้วยกันได้ ชื่นชมซึ่งกันและกันได้

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเราไปเน้นที่รายละเอียด คือเน้นความเป็นเถรวาท และทิ้งความเป็นชาวพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่

เมื่อพระพุทธเจ้าให้บวชนั้น ไม่มีภิกษุสายเถรวาทหรือมหายานนะ ให้บวชเป็นภิกษุเท่านั้น เถรวาทนี้มาเพิ่มเติมกันเอาเอง

ลูกๆ หลานๆ ที่ไม่คุ้นกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนาอาจจะถามว่า อ้าว เหรอ นึกว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติเถรวาทมาตั้งแต่ต้น

หามิได้ค่ะ

 

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เกิดปัญหาว่า มีพระภิกษุสูงวัยที่เพิ่งบวช เห็นผู้คนยังร้องไห้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ท่านก็เปรยว่า ดีแล้วที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ไปได้ มิฉะนั้น หากยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ก็จะบัญญัติวินัยมากมายให้เราต้องถือปฏิบัติ

นัยว่าพระมหากัสสปมหาเถระ พระผู้ใหญ่ที่เคร่งครัดในข้อวัตรฝ่ายธุดงค์ ท่านเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องประชุมสงฆ์เพื่อที่จะตกลงกันถึงพระธรรมที่จะสืบทอดลงไปถึงอนุชนรุ่นหลัง เพียง 3 เดือน หลังจากที่ถวายเพลิงพระพุทธสรีระ ก็จัดให้มีการนิมนต์พระภิกษุผู้ทรงความรู้ ทรงจำพระธรรมวินัยให้มาสวดร่วมกัน

การประชุมครั้งนั้นเรียกว่าสังคายนา นับเป็นปฐมสังคายนา สังคายนา แปลโดยศัพท์คือการมาสวดพร้อมกัน

 

ไม่ใช่ว่าสมัยนั้นไม่มีอักษรเขียนนะคะ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์และศิลปะต่างๆ ดังที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่ประเพณีค่ะ คำสอนในพระศาสนา ไม่ว่าในศาสนาใดถือว่าศักดิ์สิทธิ์ มีวิธีรักษาไว้โดยสอนจากปากสู่ปาก ที่เรียกว่ามุขปาฐะ

วิธีการสอนและถ่ายทอดแบบนี้ เป็นวิธีการรักษาคำสอนในศาสนาในสมัยนั้น จึงเน้นที่การท่องจำ ประมาณว่า ลูกศิษย์ต้องมาต่อกับอาจารย์ทีละวรรค วันนี้สอนไปวรรคหนึ่ง พรุ่งนี้ต้องมาทบทวนวรรคที่เรียนไปแล้ว จึงจะต่อวรรคใหม่ให้ ประมาณนั้น

ที่เรียกว่าอุปนิษัท แปลว่า เข้ามานั่งใกล้ คือเข้ามานั่งใกล้อาจารย์ เพื่อเรียนรู้ศาสนาพุทธก็เช่นกัน เน้นการสืบทอดโดยการท่องจำ

เมื่อพระมหากัสสปะนิมนต์พระภิกษุที่จะมาสังคายนานั้น ท่านก็น่าจะเลือกที่นิมนต์รูปที่มีความทรงจำดี เพื่อมาช่วยกันทรงจำคำสอนของพระพุทธองค์

 

คนที่ทรงจำเป็นเลิศและถ่ายทอดเป็นเลิศได้รับการยอมรับโดยพระพุทธเจ้าคือ พระอานนท์พุทธอนุชานั่นเอง

แต่ดูเหมือนว่าพระมหากัสสปะมีเงื่อนไขด้วยว่า เป็นพระอรหันต์ล้วน มีปัญหาว่า พระอานนท์มหาเถระ ขณะนั้นยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์

แต่ในท้ายที่สุดในคืนนั้น หลังจากที่มีความเพียรมากแล้ว ท่านก็ผ่อนลง กำลังจะลงเอนนอน วาระจิตของท่านก็สุกงอมถึงความหลุดพ้นในขณะนั้น รุ่งขึ้นท่านจึงเข้าร่วมประชุมสงฆ์ได้โดยที่ท่านเองก็เป็นอรหันต์

มีปัญหากับข้อมูลเหมือนกัน นักวิชาการที่ศึกษาข้อมูลตามพระไตรปิฎกก็จะมีปัญหาอยู่บ่อยๆ ไม่รู้จะไปตรวจสอบข้อมูลอย่างไรเมื่อข้อมูลขัดแย้งกัน

ตรงนี้ก็เหมือนกันค่ะ ที่ว่า พระอรหันต์ 500 รูปที่รับนิมนต์มาเข้าร่วมสังคายนานั้น ใครเป็นคนตรวจสอบว่าท่านเป็นพระอรหันต์ทั้ง 500 รูป

มีอยู่คราวหนึ่ง พระสารีบุตรนั่งอยู่กับพระพุทธเจ้า มีพระภิกษุผ่านเข้ามา พระสารีบุตรไม่ทราบว่าพระภิกษุรูปนั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าต้องทรงยืนยันว่า สารีบุตร พระภิกษุรูปนี้ ท่านบรรลุอรหันต์แล้ว

ข้อมูลตรงนี้ เรานึกถึงว่า ในบรรดาสาวกของพระพุทธองค์นั้น พระสารีบุตรนับว่าเป็นอัครสาวกผู้เลิศด้วยปัญญา ก็ยังมีเล็ดลอดไปว่า ท่านไม่รู้ มีแต่พระญาณของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะทรงหยั่งรู้ได้โดยสมบูรณ์

 

ย้อนกลับมาที่พระอรหันต์ 500 รูปที่เข้าร่วมประชุมสังคายนาครั้งนั้น ก็สามารถตั้งคำถามได้ตามแบบนักวิชาการว่า ใครว่า

พื้นที่ตรงนี้ไม่พอให้เราลงรายละเอียดเรื่องปฐมสังคายนา เพราะตั้งใจจะพูดถึงเถรวาทนะคะ

ในการประชุมครั้งนี้ ได้ทบทวนว่า พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้ โดยการถ่ายทอดของพระอานนท์ ว่า ในอนาคตข้างหน้า อาบัติเบาที่จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ หากสงฆ์เห็นควร ก็ให้เพิกถอนได้

ปรากฏว่า คณะสงฆ์ที่ว่าเป็นพระอรหันต์ 500 รูปนั่นแหละไม่รู้ว่าอาบัติเบานั้นประมาณไหน

พระมหากัสสปมหาเถระ ผู้เป็นประธานการสังคายนา ก็เลยเสนอว่า ไม่รู้ว่าจะขีดเส้นตัดตรงไหนว่า ตรงนี้นะที่เป็นอาบัติเบา ก็เลยเสนอว่า ขอรักษาไว้ทั้งหมด

ไม่มีการเพิ่มเติมของใหม่ ไม่มีการเพิกถอนของเก่า

นี้ถือว่าเป็นมติของที่ประชุมของพระภิกษุที่ว่าเป็นอรหันต์ 500 รูป

ที่ใช้คำว่า ถือว่าเป็นมติของที่ประชุม จริงๆ แล้วในการเกิดขึ้นนั้น เราเห็นได้ว่า เป็นข้อเสนอของพระมหากัสสปะ ผู้เป็นประธานสงฆ์รูปเดียว แต่เมื่อเสนอขึ้น แล้วไม่มีใครคัดค้าน โดยพุทธประเพณี ให้ถือว่าเป็นการยอมรับ

ในการทำสังฆกรรมอื่นๆ ก็เป็นแบบเดียวกัน มีพระภิกษุเป็นผู้สวดประกาศถาม ถามสามครั้ง ทุกรูปนิ่งเงียบ ก็ถือว่าที่เสนอนั้นยอมรับ

 

ทีนี้มาถึงเรื่องที่ว่า ในความเป็นจริงนั้น มติที่รับนั้น ปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า

เวลาผ่านไป 2,600 ปี บริบทสังคมก็เปลี่ยน ศาสนาพุทธก็เผยแผ่ออกไปไกลจากฐานที่ตั้งเดิมหลายพันกิโลเมตร แล้วยังต้องถือวินัยตามเดิมอยู่

จะเป็นไปได้ไหมเนี่ย

พระพุทธองค์นั้น ท่านทรงทราบอยู่แล้วว่า มันทำไม่ได้ จึงอนุญาตไว้ตั้งแต่ต้น แต่ก็มีคนที่จะรักษาของเดิมไว้ไม่เพิกถอน ไม่มีการเพิ่มของใหม่เข้ามา

ได้แต่คิด แต่ทำไม่ได้

ถามซื่อๆ เลย มหาเถรสมาคมที่ควบคุมสงฆ์ไทยอยู่นี้ ของใหม่หรือของเก่า เพิ่งเกิดขึ้นใช่ไหม

รัฐเข้ามาแทรกแซงไหม

ทำไมยอมให้รัฐเข้ามาแทรกแซงได้เล่า

เพราะบริบทสังคมมันเปลี่ยนไปไง

ภิกษุสงฆ์ไทยกระดิกตัวไม่ได้เพราะท่านถูกครอบสามระดับ ท่านรู้ตัวไหม

 

ระดับแรก ก็เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสอาจจะมีคำสั่งที่ไม่ได้เป็นไปตามพระธรรมวินัย แต่พระภิกษุก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะมิฉะนั้น ก็จะไม่มีวัดอยู่

ครอบที่สอง คือพระธรรมวินัย บางรูปก็ปฏิบัติตามพระวินัย แต่ไม่เอื้อต่อพระธรรม ก็ไปไม่รอด บางรูปก็เคร่งตามตัวหนังสือ โดยไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของพระวินัยก็ปวดหัว น้อยรูปที่จะอยู่ได้ตามพระธรรมวินัยแท้ๆ หลายรูปก็ต้องอยู่แบบทนอาบัติ ด้วยติดกับข้อตกลงจากปฐมสังคายนาซึ่งถือเป็นที่มาของการถือตามวาทะของพระเถระ จนกลายมาเป็นเถรวาทนี้แหละ

ครอบที่สาม คือ กฎหมายของทางรัฐที่มาในรูปของกฎหมายสงฆ์ มาในรูปของ พ.ร.บ.ในการปกครองคณะสงฆ์

พระภิกษุไทยจึงไม่ได้มีอิสระอย่างที่คิด

 

ตามพระธรรมวินัย ท่านสามารถบวชให้ภิกษุณีได้ เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต (โอ ภิกษุ ตถาคตอนุญาตให้เธอบวชภิกษุณี…จุลวรรค วินัยปิฎก) แต่ภิกษุไทยทำไม่ได้ เพราะพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2471 สั่งห้ามมิให้พระภิกษุไทยบวชภิกษุณี และคำสั่งจากมหาเถรสมาคม พ.ศ.2557 ตอกย้ำและเลยเถิดไปจนถึงห้ามไม่ให้มีการอุปสมบทภิกษุณีในประเทศไทย ทั้งภิกษุในเถรวาทจากประเทศอื่นก็เข้ามาบวชให้ไม่ได้

การกระทำแบบนี้ ไม่ใช่รักษาของเก่า แต่เป็นการไม่รักษาของเก่า จริงไหมพระคุณท่าน ก็ไหนว่าเถรวาทจะรักษาของเดิม ไม่เพิกถอนของเดิม ไม่มีการเพิ่มเติมของใหม่ไง

เวลาที่พระอุปสมบทนั้น ท่านต้องตอบพระคู่สวดใช่ไหม ว่าไม่ได้รับราชการ แล้วที่รับนิตยภัตกันทุกเดือนนั้น ไม่ใช่การรับเงินเดือนหรือ

พระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านไม่ได้แม้แต่จะเป็นสมเด็จ ท่านไม่ได้เป็นเจ้าคุณด้วย ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ของใหม่หรือ

ผู้เขียนจึงชื่นชมคณะสงฆ์ลาวที่ท่านประกาศสละออกจากสมณศักดิ์ต่างๆ เมื่อ พ.ศ.2539 แล้วกลับมาเป็นพระภิกษุเท่าๆ กันในพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์

คณะสงฆ์ไทยมาไกลแล้ว คงจะกลับไปตั้งต้นใหม่ยาก ก็ต้องทนอาบัติกันไป อยากจะพูดแต่เพียงว่า อย่าไปอ้างนักหนาว่าเป็นเถรวาท เถรวาทที่มีอยู่นี้ก็ไม่แท้ เราควรกลับไปสู่ความเป็นชาวพุทธแท้กันดีกว่าไหม

จากบทความที่เพิ่งเขียนไปเร็วๆ นี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนซื่อมากๆ ให้เรารู้ตรง รู้ในทุกข์ และออกมาจากทุกข์

ในตำแหน่งหัวโขนที่เขาใส่ให้ท่านโดยที่ท่านไม่ได้แสวงหานั้น ท่านก็อาจจะใช้หัวโขนนั้นให้เป็นประโยชน์ในการนำพาชาวพุทธเข้าใกล้ความเป็นพุทธให้มากเถิด