อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ความสัมพันธ์ จีน-ปากีสถาน ทางยุทธศาสตร์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ครอบคลุม 3 เส้นทางหลัก กล่าวคือ ยุโรป เอเชียกลาง เอเชียใต้และอินโดจีน ซึ่งสองอันหลังนี้เชื่อมต่อกันอย่างใกล้ชิด

แต่ในเวลาเดียวกันพื้นที่หรือประเทศไหนที่ BRI ลากผ่านต่างมีปัญหาหรือเป็นข้อถกเถียงทั้งสิ้น

ในกรณีนี้อยากเสนอให้ดูปากีสถานประเทศที่เป็นทั้งพันธมิตรทางการเมืองการทหาร อีกทั้งยังมีระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานของตัวเองอีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวในสื่อมวลชนเปิดเผยอย่างกว้างขวางว่า ปากีสถานเป็นประเทศที่กำลังหาวิธีช่วยให้ตัวเองหลุดพ้นอย่างยากลำบากจากหลายๆ ด้านของยุทธศาสตร์จีนคือ Belt and Road Initiative

ผู้นำคนใหม่ของปากีสถาน นายกรัฐมนตรี Imran Khan และคณะรัฐมนตรีของเขามีข้อเสนอให้ตรวจดูเงื่อนไขข้อตกลงของสัญญาและเงินกู้กับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้ตกลงกันไว้กับรัฐบาลปากีสถานชุดก่อน

ทั้งนี้ นาย Imran Khan สัญญาว่าจะแสดงรายละเอียดต่างๆ ของสัญญาและการกู้เงินจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งสู่สาธารณะ

การเจรจาใหม่ระหว่างปากีสถานกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุทธศาสตร์ BRI มีผลอย่างมากคือ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor-CPEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือหลักของจีน ปากีสถาน ที่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ให้กู้เงินมูลค่า $ 62 Billion

ในขณะที่ตอนนี้ปากีสถานเป็นประเทศที่มีวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว

 

ผลกระทบของ CPEC

CPEC และความไม่สมดุลของการค้าทวิภาคีระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับปากีสถานอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของปากีสถานอยู่แล้ว และยิ่งมีวิกฤตมากขึ้นเมื่อรวมการไหลเข้ามาของการค้าทวิภาคีของ CPEC ปากีสถานมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 6% ของ GDP ของปากีสถาน โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.7% ในปี 2016

การขยายตัวของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีสาเหตุจากการนำเข้าจำนวนมากของเงินทุนและวัสดุก่อสร้างที่เข้ามาในโครงการ CPEC โครงการก่อสร้างเหล่านี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นการส่งสินค้าออกของประเทศ โครงการก่อสร้างเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากการกู้ยืมเงินรัฐบาล ไม่ใช่การลงทุนโดยนักลงทุนจีน อันก่อให้เกิดหนี้สาธารณะของรัฐบาลปากีสถานซึ่งขณะนี้ต้องจ่ายคืนเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจตอนนี้คือ ใครจะเป็นผู้กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจของปากีสถาน

ปากีสถานนั้นต้องการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจนี้ โดยแนวคิดพื้นฐาน มีข้อเสนอแนะว่า น่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) IMF จะเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินฉุกเฉินแก่ปากีสถาน จริงๆ แล้วปากีสถานไม่ใช่ผู้กู้หน้าใหม่ของ IMF เพราะปากีสถานเคยรับเงินกู้ฉุกเฉินจาก IMF มาถึง 12 โครงการเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ IMF มีลักษณะการเมืองมากกว่าปกติ วุฒิสมาชิกและกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยืนยันให้ IMF ปฏิเสธการกู้ยืมเงินฉุกเฉินแก่ประเทศที่กู้ยืมเงินจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อันได้แก่ ศรีลังกา จิบูตี (Djibouti) และปากีสถาน

มีความเป็นไปได้มากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นผู้กอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจปากีสถานโดยให้ปากีสถานได้รับเงินทุนจากจีนต่อไป

จะเห็นได้ว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ CPEC อย่างมากว่า CPEC ไม่ได้เป็นอะไรเลย CPEC และ BRI มักมีแต่การเฉลิมฉลองโดยสื่อของรัฐบาลปากีสถาน แต่สื่อรัฐบาลก็มีการวิจารณ์น้อยมาก

 

ความสำคัญของ CPEC

ความจริงแล้ว CPEC มีความสำคัญต่อทั้งกับปากีสถานและสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งจะไม่มีการหยุดหรือยกเลิก CPEC

สำหรับปากีสถาน CPEC เป็นจักรกลในการลงทุนและพัฒนาที่สำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้มีเงินลงทุนเข้ามาและลดการชะงักงันทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมโยงให้ประเทศปากีสถานมีความสำคัญอย่างมากทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นมีบทบาทอย่างมากและยาวนานทางด้านความร่วมมือทางด้านการทหารกับปากีสถาน เพื่อให้ปากีสถานมีสถานะและสมรรถนะทางทหารเท่าเทียมได้กับอินเดีย

สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน CPEC เป็นเรือธงของ BRI ของจีนซึ่งถูกโจมตีและกล่าวหาว่ามีความฉ้อฉนต่อมาในภายหลังในศรีลังกา จิบูตีและมาเลเซีย หากมองอย่างง่ายๆ CPEC สำหรับจีนใหญ่โตเกินกว่าจะล้มเหลวเหมือนกับที่ BRI เกี่ยวข้อง เมื่อเป็นดังนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจะก้าวเข้ามาเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้กับปากีสถาน และคาดหวังว่าให้การเจรจาใหม่ระหว่างของฝ่ายเรื่อง CPEC และความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศมีข้อจำกัด

ผลก็คือ การเจรจาเหล่านี้ที่นายกรัฐมนตรี Imran Khan เคยสัญญาทั้งตอนหาเสียงเลือกตั้งและเมื่อชนะการเลือกตั้งได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของปากีสถานแล้วจะเป็นเรื่องเล็กน้อยและระยะสั้น

น่าสนใจ ที่สำคัญ BRI ยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนลากผ่านไปที่ไหนก็มีแต่ปัญหาที่คล้ายคลึงกันคือ ปัญหาหนี้สิน มีแต่ข้อสงสัยในเป้าหมายของทางการจีน มีแต่ความเคลือบแคลงว่า มหายุทธศาสตร์นี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่

หนี้ ความสงสัยและพิธีกรรมของรัฐเป็นประเด็นครับ