วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / The Good Place : ศีลธรรมคือการทำแต้ม (2)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

The Good Place

: ศีลธรรมคือการทำแต้ม (2)

 

ในตอนแรกๆ สถาปนิกไมเคิลจะฉายหนังประกอบการปฐมนิเทศ ซึ่งจะบอกแต้มศีลธรรม เช่น ถ้าช่วยชีวิตคนจะได้ +4,000 แต้ม แต่การทิ้งสารพิษลงแม่น้ำนั้นไม่ดี ถ้าทำจะได้ -9,610 แต้ม

ถ้าการกระทำนั้นดีอย่างชัดเจน เช่น นางเอกซึ่งถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นทนายผู้เข้าไปช่วยเด็กในแอฟริกา ก็จะเหมือนผู้ที่ยึดถือศีลธรรมแบบอื่นๆ คือได้แต้มมาก

ตัวอย่างบนชาร์ตนี้คือ เลิกทาส +814,092.09 แต้ม, บริจาคเลือด +898.48 แต้ม, บริจาคเงินเกินสิบหกเปอร์เซ็นต์ของรายได้และไม่ออกชื่อ +87,419.95 แต้ม, รับอุปการะผู้ลี้ภัย (จากซีเรีย จำนวนห้าคน เป็นเวลาสามปี) +272,775.62 แต้ม, ไม่กินเนื้อหรือเป็นชาวเวแกน +485.30 คะแนน, ยอมให้รถคันอื่นแทรกเข้ามาในแถว +12,118.13 แต้ม, เอาถุงผ้าไปใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต +1,958.96 แต้ม, รับเลี้ยงหมาจรจัด +485.30 แต้ม

ไมเคิล เชอร์ ผู้สร้างซีรี่ส์ชุดนี้เคยทำ Parks and Recreation และ Brooklyn Nine-Nine ซึ่งเป็นหนังตลกที่เสียดสีเรื่องนี้มาก

เขาบอกว่าได้ไอเดียทำ The Good Place ขณะอยู่บนถนนในแอลเอ เมื่อได้เห็นคนขับรถทำอะไรห่วยๆ เขาพูดกับตัวเองว่า ‘ถ้าถูกสอดส่องอยู่ละก็ แม่งจะถูกลบคะแนนไปเจ็ด!’

เขาบอกว่า ถ้าพยายามหาศีลธรรมที่แน่นอนและเป็นสากลจากตัวเลขนี้ ก็จะมีปัญหา ‘เรื่องใหญ่ๆ ไม่สำคัญเท่าเรื่องเล็กๆ ในหนัง เราจะเห็นสูตรคณิตศาสตร์ที่ชัดเจนกว่าและตลกกว่า’ เช่น ถ้ากินเจหรือเป็นมังสวิรัติจะได้ 425.94 แต้ม แต่ถ้าไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยจะได้ 9875.37 แต้ม

การบอกว่า ‘ฉันเป็นคนดี’ เป็นการยกตัวเองหรือกดดันผู้อื่นด้วยคุณค่าบางอย่าง การไม่กินเนื้อนั้นดี เพราะทำให้ไม่เกิดการฆ่าสัตว์และย่อมมีผลยาวไกล แต่มันเป็นเรื่องส่วนตัว หรือแค่การเลือกว่าจะกินอาหารชนิดไหน การพูดให้คนอื่นฟังคือการสอน ซึ่งหมายถึง ถ้าไม่ทำคือคนเลว ถ้าทำอย่างนี้จะถูกหักคะแนน และการไม่พูดถึงมันจะทำให้ได้คะแนน

แต้มจึงขึ้นกับผลที่มีต่อคนอื่นด้วย เช่น การอ่านนิตยสารขณะรอหมอ แล้วฉีกหน้าที่มีโฆษณายาชนิดหนึ่งซึ่งแก้อาการภูมิแพ้ จะได้ +2 คะแนนสำหรับการรักษาตนเอง อาจจะถูกหักคะแนนไปหนึ่ง เพราะฉีกนิตยสารที่ไม่ใช่ของตัวเอง

แต่ที่สำคัญคือ ถ้าในเวลาต่อมา คนที่มีอาการภูมิแพ้เช่นกัน มาเปิดนิตยสารแต่ไม่เห็นโฆษณานั้น และต้องมีอาการนั้นไปอีกนาน หมายความว่า คะแนนที่ถูกหักไปหนึ่ง จะกลายเป็น -13 แต้ม

และไม่มีหลักการแน่นอนหรือค่าคงที่ เช่น ถ้ารักทีมฟุตบอลทีมหนึ่งมากเป็นพิเศษจะเสียคะแนนเท่ากับทำลายแนวปะการัง (-99.15 ไม่ใช่แค่ -53.83) หรือแย่กว่าการไม่ให้ทิปถึง 15 เท่า (-6.83)

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

เขาตอบว่ารักทีมฟุตบอลชื่อแยงกี้ก็เหมือนรักบริษัทไมโครซอฟต์ คนจำนวนมากรักทีมนี้ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่เคยแคร์คนดูเลย สิ่งนั้นแสดงว่าคุณเป็นคนดี แต่จะได้แต้มหรือไม่ ขึ้นต่ออะไรอีกหลายอย่าง ทำให้การรักแยงกี้อาจจะไม่ถูกนับ พูดง่ายๆ เขากำลังบอกว่า “ทีมแยงกี้นั้นเลว ถ้าใครรักก็น่าจะไปหาหมอโรคจิต”

และ “ถ้าคุณไม่ให้ทิป แล้วทำให้บ๋อยโมโหจนลาออกจากงาน แล้วไปเรียนต่อจนกลายเป็นหมอ และค้นพบวิธีรักษาโรคร้าย คะแนนที่ถูกหักจะลดลง แต่ถ้าคุณไม่ให้ทิป แล้วทำให้เขาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้องและกลายเป็นคนไร้บ้าน การกระทำนั้นจะแปลว่าเลว”

ตัวเลขอื่นๆ ก็ไม่เป็นระบบ บางอันมาจากชีวิตจริง เช่น “ยอมเข้าคิวรอเครื่องเล่นที่พาร์กในฮิวสตัน ได้ +61.14 แต้ม” มาจากประสบการณ์จริงของผู้สร้างตอนอายุ 13 ขวบ เชอร์บอกว่า “เรายืนรอถึง 2 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่ได้เล่นเพียง 53 วินาที” ส่วนอันที่บอกว่า “ยอมอ่านหนังสือและคุยกับพ่อตา ทั้งๆ ที่ไม่เคยสนใจเรื่องนั้นเลย” เป็นผลงานของทีมผู้เขียนบท และเพราะหนังมีผู้ดูในประเทศต่างๆ มากมาย และผู้สร้างไม่อยากให้แลดูเป็นแบบตะวันตกมากเกินไป จึงเปลี่ยนกีฬาเป็นเบสบอลเป็นคริกเก็ต

บางอันเป็น “มารยาท” หรือ “คำแนะนำ” ธรรมดา เช่น ผลักประตูให้ผู้อื่น 4,090 ครั้ง จะได้ +8,815.23 คะแนน

แต่มารยาทนั่นแหละสำคัญมาก เพราะไม่ได้เป็นเพียงแบบแผนความประพฤติด้านกิริยาวาจาเท่านั้น แต่ขึ้นต่อการกำหนดของตัวเองหรือคนกลุ่มเดียว อีกทั้งกลายกฎเกณฑ์ที่เอาศีลธรรมมากำกับ และกีดกันคนอื่นได้อย่างแยบยล

ทั้งๆ ที่มีหลักการที่วกวนจนหาระบบไม่ได้ ชาร์ตเหล่านี้บอกว่า ศีลธรรมมาจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล มีความสำคัญในขั้นคอขาดบาดตาย และนับเป็นแต้มได้

การวัดพฤติกรรมด้วยตัวเลขเกิดขึ้นทั่วโลก The Good Place ใช้แต้มในชาร์ตมาสะท้อนความคลั่งศีลธรรมและมารยาทในอเมริกา แต่ในขณะเดียวกัน ก็สะท้อนความเป็นจริงในสังคมอื่นๆ เช่น การวัดด้วยแต้มสังคมในจีนด้วย

สำหรับไทย ศีลธรรมถูกใช้เป็นยาครอบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าคิว แต่งกาย และการสะกดคำ นอกจากนั้น ยังแก้ปัญหาได้สารพัด เช่น ปัญหาจราจร ความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปกป้องภูเขาทั้งลูกและโลกทั้งใบ

เมื่อถูกเอาไปใช้ในการเมือง ก็ยิ่งเห็นผลได้ชัด เช่น เพื่ออ้างว่าประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ไม่ได้มีความหมาย แต่ “พลเมืองดี” ต่างหากที่เป็นกำลังที่แท้จริงของประเทศชาติ รวมทั้งการประณามนักการเมืองและคนอยากเลือกตั้งว่าเห็นแก่ตัว และอามิสสินจ้าง

กรณีล่าสุดคือ การที่รัฐบาลไทยบัญญัติกฎระเบียบต่างๆ สำหรับสื่อมวลชน แต่เรียกมันว่ามารยาทหรือคำแนะนำ เช่น ต้องยืนห่างนายกรัฐมนตรีเกินห้าเมตร รวมทั้งต้องแต่งกายให้ถูกต้อง หากฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษมากมาย

การเคร่งศีลธรรมแต่ปาก หรือทำแต้มเพื่อ “ยกตัวเอง” กำลังแพร่หลาย มีทั้งในรูปของโพสต์ ตำราเรียน สิ่งพิมพ์ หนัง และการรณรงค์ของกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่ปรากฏทั้งในสื่อมวลชนและสื่อสังคม

สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้คนรับฟังแต่ความเห็นของคนในกลุ่มของตน และผลก็คือ สื่อเหล่านั้นกลายเป็น Echo Chamber

  นั่นคือ ทำให้ทุกคนคิดเหมือนๆ กันและพูดตามๆ กัน