สัจนิยมเหนือจริง ของกายภาพแห่งมหรสพ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อ่าน สะท้อนตัวตน ผศ. ทัศนัย เศรษฐเสรี กับ ผลงานศิลปะการเมืองอันแหลมคม 2475 เคยอดข้าว112 ชั่วโมง

ในวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ความรุนแรงและนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ท่ามกลางการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น มีนิทรรศการศิลปะของศิลปินผู้หนึ่งถูดจัดขึ้นในวันนี้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งแน่นอนว่านิทรรศการครั้งนี้ย่อมมีประเด็นและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นแฟ้นกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นแม่นมั่น

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า WHAT YOU DON”T SEE WILL HURT YOU

เป็นผลงานศิลปะชุดล่าสุดของ ทัศนัย เศรษฐเสรี

ศิลปินและอาจารย์ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผู้เป็นศิลปินที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติทางสังคมและการเมืองผ่านการทำงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ทัศนัยเชื่อว่างานศิลปะนั้นเป็นมากกว่าการสะท้อนตัวตนของศิลปินเอง

หากแต่ยังต้องเป็นปรอทในการวัดอุณหภูมิของสังคมด้วย

เสรีภาพมีความสำคัญยิ่งในการสร้างผลงานทางศิลปะ

และประชาธิปไตยคือหนทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น

ในปี 2544 เขาร่วมกับเพื่อนศิลปินอีกสามคนทำ “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หรือเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และมีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทัศนัยได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ คสช. หยุดการจำกัดเสรีภาพนักวิชาการและนักศึกษา

โดยกล่าวว่า ถ้าแม้แต่เสรีภาพทางวิชาการยังถูกละเมิด เราก็ไม่มีทางหวังได้ว่าเสรีภาพในการแสดงออกแบบอื่นๆ จะได้รับการเคารพ

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1890-3

นิทรรศการศิลปะครั้งล่าสุดของทัศนัยชุดนี้ ดำเนินอยู่ในการท้าทายขนบของการมองและพาผู้ชมไปสู่สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้อย่างชัดเจน

ทัศนัยปักหมุดงานศิลปะชุดนี้จากการค้นหาภาพถ่ายสถาปัตยกรรมอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและการสร้างสังคมไทยให้ทันสมัยเพื่อนำมาเป็นฉากหลังสุดของชิ้นงาน

อาทิ ภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475, สถานีรถไฟหัวลำโพง และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ทัศนัยมีความเชื่อว่า สถาปัตยกรรมเหล่านี้มิได้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ก่อรูปด้วยคอนกรีตจนมีรูปทรงงามแปลกตา

ทว่า ถูกก่อขึ้นมาด้วยสถาปัตยกรรมทางสายตาของผู้คนที่เห็นพวกมันยืนเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านในสังคมและความรุนแรงทางการเมืองหลายช่วงสมัย

โดยเขาทำการเปลี่ยนพื้นที่ฉากหน้าของสถาปัตยกรรมหรือพื้นที่เกิดเหตุทางการเมืองให้เป็นเสมือนโรงมหรสพขนาดใหญ่ ด้วยการอำพรางภาพเหล่านั้นให้พร่าเลือนด้วยสีสัน เส้นสาย สัญลักษณ์ ร่องรอยขีดทับ ตัวหนังสือ และพื้นผิวขรุขระ ที่เกิดจากการใช้วัสดุต่างๆ อย่างกระดาษหลากสีสัน กระดาษพิมพ์ตัวหนังสือ วัสดุต่างๆ อย่างทองแดง ไปจนถึงผ้าจีวร และหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สี มาแปะทับและปะติด (Collage) อันเป็นพื้นฐานดั้งเดิมของการประดับประดาในงานเฉลิมฉลองตามประเพณีไทย

จนคล้ายกับงานจิตรกรรมแบบนามธรรม (Abstract) และกึ่งนามธรรม (Semi-Abstract) ที่ให้ความรู้สึกทั้งตระการตาและชวนหดหู่

กลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันของช่วงเวลาต่างๆ ที่ถูกกำหนดด้วยประสบการณ์ร่วมทางการเมืองซึ่งถูกจดจำในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปของผู้ชมแต่ละคน

 

“งานชุดนี้มันเกิดมาจากความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ผมรู้สึกคนเดียว หากแต่เป็นคนจำนวนมากในสังคมนี้ที่รู้สึกถึงการที่ประชาชนหรือสามัญชนไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าไปร่วมกำหนดพัฒนาการทางสังคมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือแม้กระทั่งการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง และก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ได้หมายความว่าสังคมไม่ได้มีการตื่นตัว หรือว่าประชาชนไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะกลไกทางวัฒนธรรมอะไรบางอย่างที่มันไม่เห็นความสำคัญของประชาชนหรือสามัญชน ซึ่งชื่องานมันมาจากความคิดตรงนี้”

ที่บอกว่า “สิ่งที่เรามองไม่เห็นกำลังทำร้ายเรา” มันก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นซะเลยทีเดียว แต่เราไม่สามารถจะตัดสินได้ว่า สิ่งที่เราเห็นหรือสิ่งที่เรารู้นั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะเราไม่เคยเข้าสู่กระบวนการการตรวจสอบ ศึกษา หรือขุดคุ้ยอย่างจริงจัง

ถึงแม้จะมีความพยายามของหลายคนที่จะศึกษามัน แต่มันก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ชัดเจน

ในสังคมที่พัฒนาแล้ว กลไกทางสังคมและวัฒนธรรมมันเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และมีช่องทางที่จะพูดหรือแสดงออก ไม่ว่าสิ่งที่พูดนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม สังคมมันจะตรวจสอบกันเอง ว่าสิ่งที่แต่ละคนพูดมันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือแค่ไหนอย่างไร

“ผมว่าตรงนี้ต่างหากที่ทำให้เราเห็นความเป็นจริงทางสังคม มันไม่ได้มาจากงานวิจัยของนักวิชาการ หรือหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเท่านั้น มันเป็นเรื่องของทุกคน”

“ผมคิดว่าโครงสร้างทางวัฒนธรรมการเมืองไทยมันไม่มีกลไกแบบนี้ มันก็เลยทำให้เราคิดว่าสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งที่เราไม่เห็น มันเป็นแค่เรื่องเล่าที่พร่าเลือนและยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน และผมคิดว่าการที่เราอยู่กับสังคมที่มันไม่มีอะไรชัดเจนเลย แม้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนเนี่ย ผมว่ามันเจ็บปวดนะ”

 

อย่างในนิทรรศการนี้มันก็มีทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ปี พ.ศ.2519, พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535, การสลายการชุมนุมปี พ.ศ.2553 หรือเหตุการณ์ตั้งแต่ตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475 ของคณะราษฎร หรือแม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับหัวลำโพงก็ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง

แต่มันกำลังพูดถึงโครงสร้างอำนาจที่มันเป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมือง

อย่างกรณีหัวลำโพงซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย รัชกาล 5 ตัวสถานีหัวลำโพงเองมันก็เป็นสัญลักษณ์ของการรวมอำนาจเข้าสู่รัฐศูนย์กลาง จนทำให้เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ และเกิดการเดินทางของทรัพยากร/ผู้คนจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวง

และจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนเหล่านี้ถูกมองว่าไม่ได้มีสิทธิมีเสียงหรือมีความเป็นคนเทียบเท่ากับชนชั้นกลางในเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการถูกตราหน้าว่าไม่มีความรู้ก็ดี เสียภาษีน้อยก็ดี

หัวลำโพงมันมีนัยยะอะไรหลายๆ อย่างทางสังคมที่มันซ่อนอยู่จำนวนมาก ซึ่งมันไม่ได้เป็นนัยยะทางการเมืองโดยตรง

แต่มันพูดถึงความรุนแรงทางสังคมและโครงสร้างของชนชั้นนำ

เพราะฉะนั้น งานชิ้นนี้จึงไม่ใช่งานที่มุ่งเป้าในการนำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b8%a8%e0%b8%b4%e0%b8%a5%e0%b8%9b%e0%b8%b0-1890-1

“งานชุดนี้จริงๆ ผมไม่ได้เริ่มจากความคิดว่าจะทำให้มันเป็นนามธรรม หรือกึ่งนามธรรมเป็นอันดับแรก แต่ผมเริ่มต้นจากความคิดที่จะทำให้มันเป็นมหรสพ เป็นความตื่นตาตื่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพบว่ามันฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองไทย เวลาเราเข้าไปร่วมในมหรสพเนี่ย สิ่งหนึ่งที่เราพบว่าเป็นลักษณะของมันคือมันมีความยิ่งใหญ่ มีความมหึมา มีความอลังการ”

“ขณะเดียวกันมันมีความน่ากลัว มีความพึลึกพิลั่น มีความน่าสยดสยองอยู่ในตัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นมหรสพในรูปแบบไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เวลามีการจุดพลุ เราจะตกใจกับเสียงพลุ แสงไฟ และรู้สึกไม่มั่นใจว่าพลุมันจะระเบิดใส่เราหรือไม่ และในอีกด้านนึง ความยิ่งใหญ่และความน่าสะพรึงกลัวของมหรสพมันทำให้ตัวเรารู้สึกเล็กลง จนแทบจะไม่มีตัวตน และหลงทางไปกับความตื่นตาตื่นใจของมัน”

“นักวิชาการอย่าง กีย์ เดอบอร์ด ก็พูดถึง The Society of the Spectacle หรือ สังคมแห่งมหรสพ โดยที่เขาพยายามที่จะเชื่อมโยงความเป็นมหรสพสมัยใหม่เข้ากับลัทธิทุนนิยม เขาบอกว่าบทบาทของปัจเจกชนในสังคมทุนนิยมที่พัฒนาแล้วนั้นเป็นเพียงแค่ผู้ชมที่เฝ้ามองสิ่งที่ตระการตาโดยที่เราไม่สามารถที่จะใช้เหตุผล หรือมีสติหรือสำนึกอะไรกับมัน เราเป็นแค่ผู้ชมที่ไม่มีความรู้สึกรู้สา ซึ่งผมรู้สึกว่าสังคมไทยมันไม่ใช่แค่สิ่งที่ กีย์ เดอบอร์ด พูด แต่มันมีเรื่องความมหัศจรรย์แฝงอยู่ในลักษณะของความเป็นมหรสพด้วย”

“ซึ่งตรงนี้ผมก็ค้นพบว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า “สัจนิยมเหนือจริง” (Magical Realism) ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของวัฒนธรรมไทยที่มันลอยเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางสังคมหรือการทำงานของรัฐในรูปแบบไหนก็ตาม หน้าที่สำคัญของชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองก็คือ การประกอบพิธีกรรม”

“เราจะเห็นว่าสังคมไทยที่ถึงแม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นสังคมที่พัฒนาผ่านความเป็นสมัยใหม่มาสักระยะนึงแล้ว แต่ยกตัวอย่างในเหตุการณ์น้ำท่วม แทนที่ผู้ว่าฯ กทม. จะใช้หลักเหตุผลหรือวิทยาศาสตร์ในการจัดการน้ำ แต่กลับไปบวงสรวงทำพิธีไล่น้ำแทน หรือแม้กระทั่งในร้านสะดวกซื้อ เราก็จะเห็นว่ามีตะกรุด มีพระเครื่องขายอยู่”

“อันนี้มันคือภาพของสังคมไทยที่แม้จะมีรัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปกี่ฉบับ แต่สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ปัจเจกชนไม่สามารถใช้เหตุผลได้ เพราะรูปแบบของวัฒนธรรมแบบนี้ และมโนทัศน์แบบนี้มันก็ผลิตซ้ำเป็นภาพแทนฉายแสดงอยู่ทุกวี่ทุกวันในรูปแบบต่างๆ ในสื่อสาธารณะก็ดี แม้กระทั่งวัฒนธรรมการจัดแสดงนิทรรศการ เราก็จะเห็นนิทรรศการที่มันเชิดชูความคิดของลัทธิสัจนิยมเหนือจริงและความเป็นมหรสพทางการเมืองแบบนี้อยู่ตลอดเวลาเป็นสิบๆ ปีแล้ว ความมหัศจรรย์ของมันก็คือความเหนือจริงนี้กลับกลายเป็นความจริงอีกชุดนึง”

“อย่างตัวผมเองก็ไหว้ศาลพระภูมิ เชื่อเรื่องผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังเหนือธรรมชาติ เพราะผมเกิดและเติบโตเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมนี้ มันเขยิบเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันและเข้ามากำกับสำนึกของเราในระดับจินตนาการ ในระดับความรู้สึก ซึ่งมีพลังมากกว่าอำนาจการกดขี่ทางการเมืองเสียอีก ผมเพียงแค่ใช้ความสามารถที่ผมมีความถนัดในการใช้ภาษาในการแสดงออกทางศิลปะแบบนี้”

“แต่สถานะของผมก็เป็นแค่สามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกที่ผมมีอยู่ในใจและพยายามจะระเบิดมันออกมาก็ไม่ได้สูงส่งอะไร ผมว่าทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน คนอื่นอาจจะใช้การพูด การเขียน หรืออะไรก็ตาม ผมไม่ได้คิดว้าผมค้นพบอะไรที่พิเศษ มันเป็นความรู้สึกร่วมทางสังคมของคนร่วมสมัยมากกว่า”

“เพียงแต่ผมพูดออกมาด้วยภาษาทางศิลปะเท่านั้นเอง”

 

นิทรรศการศิลปะ WHAT YOU DON”T SEE WILL HURT YOU จัดแสดงที่แกลเลอรี่เวอร์ และ คาเทล อาร์ตสเปซ, ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม – 20 พฤศจิกายน 2559

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจไปชมก็เข้าไปสอบถามข้อมูลได้ที่ facebook Gallery VER หรือ อี-เมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 08-9988-5890

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์ เวอร์