ย้อนอดีต “ชลบุรี” จากป่าเขาไร้ผู้คน สู่ยุคโชติช่วงชัชวาล และอนาคตของพื้นที่

มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส

 

EEC ในอดีต : ชลบุรี

 

เห็นคนกำลังสนใจเรื่อง EEC กัน

มองบ้านมองเมืองอยากร่วมขบวน จะพาไปมอง EEC ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกบ้าง

แต่เมื่อผู้เขียนเป็น สว. เลยอดไม่ได้ที่จะพูดเรื่องเก่าๆ เพราะคนเจนเอ็กซ์ เจนวาย หรือแม้แต่รุ่นเบบี้บูม

คงนึกไม่ถึงว่า ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทยในอดีตนั้น มีเพียงหมู่บ้านชาวประมงริมทะเลเท่านั้น ส่วนพื้นที่ภายในจะเป็นป่าเขาไร้ผู้คน

แม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็แค่กล่าวถึงบ้านบางทราย และบางปลาสร้อยเท่านั้น

ต่อมาถึงจะมีการสถาปนา บางทราย เป็นเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร มีเหตุการณ์บันทึกว่า เมื่อออกเมืองชลบุรี ได้ยกพลทั้งหมดไปช่วย อยุธยาต่อต้านพม่า

ครั้นเมื่อกองทัพพม่าเข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ ทัพของพระเจ้าตากฯ จำต้องยกทัพผ่านชลบุรี ด้วยมีสภาพเป็นเมืองร้าง ไปพักในพื้นที่ไกลออกไป อันเป็นที่มาของชื่อที่ตั้งทัพพระยา ที่ต่อมาแปรเปลี่ยนเป็น พัทยา ในปัจจุบัน

ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หมอบรัดเลย์มีบันทึกเรื่องราวอยู่บ้างเกี่ยวกับบางปลาสร้อย อ่างศิลา และเขาเขียว และในรัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกการเสด็จประพาสทางชลมารคไปเกาะสีชัง

ทรงแวะประทับที่อ่างหินหรืออ่างศิลา

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ น่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเวลานั้นมีปัญหาโจรผู้ร้ายชุกชุมในหลายมณฑลทั่วราชอาณาจักร จึงทรงมีพระบรมราชโองการฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมและเกษตราธิการ เป็นผู้บัญชาการ และให้เมืองชลบุรีเป็นศูนย์บัญชาการ ในการปราบโจรในภูมิภาคตะวันออก

ระหว่างปฏิบัติภารกิจ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พบว่า ในพื้นที่ป่าเขานั้น เต็มไปด้วยไม้กระยาเลย ที่กำลังเป็นที่ต้องการทั้งในและต่างประเทศ จึงได้ก่อตั้งบริษัทศรีมหาราชา ขึ้นในปี พ.ศ.2440

และในปี พ.ศ.2451 ก็ได้รับสัมปทานทำไม้ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณว่าเท่ากับอำเภอเมืองชลบุรี ศรีราชา และบางละมุง ในปัจจุบันรวมกัน

โดยในระยะแรกนั้น มีบริษัทกิมเซ่งหลีร่วมลงทุน ต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัท บอร์เนียว จำกัด

เสียดายว่า ด้วยราชกิจต้องไปรบทางภาคเหนือและปราบโจรในที่ต่างๆ ทำให้กิจการค้าไม้ขาดทุนอย่างมาก จนเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีล้มละลาย

ในขณะที่พื้นที่ป่าที่เคยมีไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น เปลี่ยนสภาพกลายเป็นที่โล่ง นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม ประเภทพืชไร่ ได้แก่ อ้อย สับปะรด และมันสำปะหลัง

รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ในเวลาต่อมา

 

อย่างไรก็ตาม กิจการทำไม้ในครั้งนั้น ได้ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างมาก อาทิ การก่อสร้างทางรถไฟ เพื่อขนไม้จากป่าภายในมายังท่าเรือ บริเวณเกาะลอยที่ศรีราชา ผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นทำงานในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อเสริมกำลังในการป้องกันสยามประเทศทางทะเล กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ก่อตั้งสถานีกองทัพเรือที่บางพระ อู่ตะเภา และสัตหีบ ในปี พ.ศ.2465 ซึ่งต่อมา กองทัพเรือได้ยกระดับให้สัตหีบเป็นฐานทัพเต็มรูปแบบเช่นในปัจจุบัน

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ได้ย้ายไปเปิดสอนที่ศรีราชา ที่โรงเรียนมีพื้นที่กว้างขวางกว่าห้าร้อยไร่

ครั้นเมื่อมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและอาหาร บาร์เดอร์จึงทดลองปลูกสับปะรดเพื่อรับประทานและจำหน่าย

อันเป็นที่มาของสับปะรดศรีราชา ที่มีชื่อเสียงว่า ผลโตรสดี จนทุกวันนี้

สิ่งที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการก่อสร้างถนนสุขุมวิท ในปี พ.ศ.2493 ทำให้รถยนต์สามารถวิ่งเลียบแนวชายฝั่ง จากกรุงเทพฯ ไปจนถึงหาดเล็ก ในจังหวัดตราดได้

ทางหลวงหมายเลข 3 นี้ นอกจากจะนำพาให้ผู้คนย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกมากขึ้นแล้ว ชายหาดที่สวยงามตั้งแต่บางแสน ชลบุรี ไปจนถึงหาดแม่รำพึง ระยอง ได้กลายเป็นสถานตากอากาศยอดนิยมของคนไทยแทนที่หัวหิน สถานที่ตากอากาศแห่งแรกของไทย ที่อยู่ชายฝั่งทะเลตะวันตก

ระหว่างสงครามเวียดนาม มีการตัดทางหลวง 304 เพื่อเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ เชื่อมระหว่างท่าเรือและสนามบินอู่ตะเภา กับฐานทัพอเมริกันในโคราช ทำให้ภาคตะวันออกกับภาคอีสาน เชื่อมต่อกันโดยไม่ต้องเดินทางผ่านกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ชายหาดพัทยายังถูกเลือกให้เป็นที่พักระหว่างรบของทหารอเมริกัน ทำให้มีชื่อเสียงในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ นับแต่นั้นมา

เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด สำหรับชุมชนในภาคตะวันออก กรมชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำบางพระ ที่มีความจุถึง 110 ล้านลูกบาศก์เมตร

รวมทั้งประกาศให้พื้นที่อ่างเก็บน้ำและพื้นที่โดยรอบ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ในปี พ.ศ.2515

รวมทั้งประกาศให้พื้นที่เขาเขียวและเขาชมพู่ เนื้อที่อีกเกือบแสนไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในปี พ.ศ.2519

ความที่เล่ามาทั้งหมด เป็นสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ในยุคโชติช่วงชัชวาล เมื่อรัฐบาลประกาศ โครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ที่เป็นต้นทางของอีอีซีในตอนนี้