ในประเทศ/ล่อกันนัว ปชป. เหลืออด พลังดูด พลัง พปชร.

ในประเทศ

 

ล่อกันนัว

ปชป. เหลืออด

พลังดูด พลัง พปชร.

 

นาทีนี้คงไม่มีพรรคไหนมรสุมเข้าถึงขั้นทอร์นาโด จนเกือบต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเท่าพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว

ดูจากอาการเลือดไหลไม่หยุด อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถูกดูดรัวๆ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทอร์นาโดแวะไปสร้างบาดแผลให้พรรคเพื่อไทยอยู่พักใหญ่

จนถึงขั้นนายใหญ่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขับร้องบทเพลง “ไปดีเถิดนะ พี่ขออวยพร…” ส่งตรงไปยัง ส.ส.อีสานที่ประกาศย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐให้เจ็บจี๊ด

พร้อมกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีด้วยว่า “เป็นเรื่องที่ผมต้องแสดงความยินดีกับพรรคเพื่อไทยที่บุคคลเหล่านี้ออกไปจากพรรค เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้คัดนักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาบ้าง เป็นเรื่องที่ดี”

ขณะที่ “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่สะทกสะท้าน

นอกจากจะไม่ตีโพยตีพายแล้ว ยังให้สัมภาษณ์ในทำนองที่ว่า ไม่มีปัญหา คนเพียงพอที่จะสนับสนุน อาจจะมีมาทาบทามบ้าง แสดงเจตจำนงออกจากพรรคไปแล้วบ้าง แต่ก็น้อยมาก จนแทบไม่ต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา

แม้ผลโพลสำรวจล่าสุด พรรคที่ประชาชนอยากให้จัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ก็โดนพรรคพลังดูดน้องใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐแซงไปแล้วก็ตาม

 

สวนทางกับลูกพรรคอย่าง น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.พรรค ออกโรงโพสต์เฟซบุ๊กมาฉะเต็มที่แบบอดไม่ได้

เธอขอใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์คนโดนพลังดูดของพลังประชารัฐสักหน่อย

ก็ทำไงได้ คนจะไปก็ต้องปล่อยเขา ยิ่งเจอข้อเสนอบางอย่าง แล้วจิตใจไม่มั่นคงพอก็คงยากที่จะปฏิเสธ แม้จะเคารพการตัดสินใจในการเลือกแนวทางการเมืองของทุกคน

แต่ยังไม่วายมีแช่งเบาๆ รู้ว่าย้ายพรรคไปก็สอบตกอย่างแน่นอน หรือยิ่งเพิ่มโอกาสสอบตก หรือว่ามีสิ่งอื่นที่เย้ายวนกว่าการได้เป็นนักการเมือง

น.ส.รัชดายังบอกถึงกรณีที่คนพลังประชารัฐดูดคนประชาธิปัตย์จนมาทับเขตเลือกตั้งของ ร.ต.ปรพล อดิเรกสาร อดีต ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชาชนและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งวางตัวนายปริญญา วันทา ที่ปรึกษา อบจ.สระบุรี เอาไว้แล้ว กลับมีแกนนำบางคนไปทาบทาม น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย อดีต ส.ส.สระบุรี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมงานด้วยว่า เป็นเพราะการสร้างพรรคการเมืองที่ไม่ได้เริ่มด้วยอุดมการณ์ แต่ใช้แรงจูงใจหรือเงื่อนไขบางอย่างให้คนย้ายพรรค

“ก็ขำดีนะ ดูดคนจากประชาธิปัตย์จนเพลินมาทับเขตเลือกตั้งตนเอง เขามีพลังดูด เรามีพลังสร้าง”

 

เอาเข้าจริง ปรากฏการณ์ “ดูด” ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ในวงการการเมือง 20 ปีที่ผ่านมา พรรคของนายทุนต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงนายทุนทหาร ได้ใช้กลยุทธ์เพื่อการดูด ทั้งรายบุคคล รายกลุ่มการเมือง แม้กระทั่งการดูดแบบยกพรรค เป็นทางลัดด้วยการกวาดต้อนอดีต ส.ส.เข้าพรรค ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกโดยเฉพาะในยุคพรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์

อีกหนึ่งในกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันก็ยังคงนำมาใช้อยู่ คือการบีบให้ต้องย้ายสังกัด หรือยุบพรรคปิดตายคู่แข่งด้วยคดีต่างๆ อย่างคดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ของตระกูลลิปตพัลลภเข้าไปพัวพัน

และท้ายที่สุด นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ต้องออกมาประกาศยุบพรรคชาติพัฒนา เพื่อรวมกับพรรคไทยรักไทย

หรือกรณีนายสนธยา คุณปลื้ม อดีตสมาชิกพรรคชาติไทยของนายบรรหาร ศิลปอาชา ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคพลังชล) ถูกบีบจากคดีของบิดา นายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแสนสุข จ.ชลบุรี ในคดีทุจริตซื้อที่ดินทิ้งขยะเขาไม้แก้ว บังคับให้ต้องลาออกจากต้นสังกัดเดิม พร้อมๆ กับ ส.ส.กลุ่มบุรีรัมย์ของนายเนวิน ชิดชอบ ไปอยู่ใต้อาณัติของนายทักษิณถึง 26 คน

และล่าสุดตระกูลคุณปลื้มก็ถูกดึงมาช่วยงานรัฐบาลอีกครั้งโดยอ้างการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี

 

เงื่อนไขแบบเดียวกันนี้ยังถูกนำมาใช้อีกครั้ง ในการดึงคนไปร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ ในกรณีของนายธรรมวิชญ์และนายอรรถพล โพธิพิพิธ บุตรชายของนายประชา โพธิพิพิธ หรือกำนันเซี้ยะ อดีต ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน จากคดีบุกรุกที่ดินราชพัสดุ จ.กาญจนบุรีถึงราชบุรี โดยมีการอ้างว่าผู้มีอำนาจจะช่วยดูแล ลักษณะเดียวกับที่เคยมีข้อครหาดีลการเมืองของพรรคพลังชล

นับว่าหลักการนี้ถือเป็นตลกร้ายการเมืองไทย ตามที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เคยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าคนที่บอกจะทำการเมืองใหม่ กำลังใช้สารพัดวิชามารแบบการเมืองเก่า เพื่อปูทางสู่อำนาจ

ความจริงวันนี้ พรรคใหม่ได้นักการเมืองคนเก่า แต่พรรค (เก่าแก่) อย่างประชาธิปัตย์ กำลังสร้างนักการเมืองใหม่

นายบุญยอดบอกมาแบบนี้ก็คงไม่แปลก เนื่องจากมานั่งนับนิ้วไล่ดูแล้ว อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่โดนกระแสดูดย้ายค่ายไป รวมกับอดีต ส.ส.ที่ย้ายสังกัดตามนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไปตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย อาทิ นายธานี เทือกสุบรรณ นายเชน เทือกสุบรรณ

หรือกรณีของนายชื่นชอบ คงอุดม อดีต ส.ส.กทม. บุตรชายของนายชัชวาลย์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไทของบิดานั้น ก็เกินกว่าที่นิ้วทั้งสองมือจะนับไหว

 

ความพยายามของพรรคพลังประชารัฐที่จะดึงตัวอดีต ส.ส. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.กทม.) ของพรรคประชาธิปัตย์ให้ย้ายสังกัดในขณะนี้ ยังคงเดินหน้าเต็มกำลังสูบอย่างต่อเนื่องไม่ได้ลดหายไปไหน โดยก่อนหน้านี้สามารถดึงตัวอดีต ส.ส.กทม. อย่าง 3 ทหารเสือ กปปส.

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งนายณัฏฐพล และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี ที่ย้ายสังกัดแล้วแน่นอน

ส่วนอดีต ส.ส.กาญจนบุรีนั้น นายปารเมศ โพธารากุล (กำนันบอย) ที่โดนทาบทามแต่ยังไม่ตัดสินใจ แต่นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร ประกาศจุดยืนหนักแน่นว่าจะยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นผู้ตั้งไข่ทางการเมืองให้ต่อไป

ท่ามกลางการประกาศของแกนนำพรรคพลังประชารัฐที่ต้องการให้ จ.กาญจนบุรีต้องได้ ส.ส.ทั้ง 4 เขตยกจังหวัดเพื่อเป็นทีมเดียวกันในการพัฒนาจังหวัดไปทิศทางเดียวกัน

 

และล่าสุด 3 อดีต ส.ก.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ อดีต ส.ก.พระนคร, นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา อดีต ส.ก.คลองเตย และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ อดีต ส.ก.ดอนเมือง ที่ไปปรากฏตัวในการเริ่มคิกออฟหาเสียงของ 3 รัฐมนตรี ว่าที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐ โดยมีกระแสข่าวว่าถูกนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ-อดีต ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ ดึงตัวไป

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พลังดูดของพลังประชารัฐยังคงหมุนวนดึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปอย่างต่อเนื่อง ไม่สิ้นฤทธิ์

หนึ่งในผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก กลับประกาศเย้ยคู่แข่งในศึกชิงหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่า หาก นพ.วรงค์ได้เป็นหัวหน้าพรรคเลือดสีฟ้า ‘พระแม่ธรณีบีบมวยผม’ อดีต ส.ส.ที่คิดจะย้ายพรรครวมทั้งที่ย้ายไปแล้ว จะกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค จะได้เห็นเลือดไหลกลับเข้าประชาธิปัตย์

รวมถึงมีผู้สมัครเลือดใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานและเหนือจะมาร่วมงานกับพรรคด้วย

 

นาทีนี้ก็คงได้แต่ลุ้นกันไป แม้ดูแล้ว โผหัวหน้าพรรคดูจะไม่พลิก แต่ก็แอบเอาใจช่วยเล็กๆ ว่าจะดึงคนกลับมาได้ จนกว่าจะถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 หรือวันสุดท้าย คนที่ลงสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองที่จะลงไม่น้อยกว่า 90 วัน หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

กว่าจะถึงวันนั้น พายุของพลังดูดจะเปลี่ยนไปทางใด การย้ายพรรค หรือสังกัดพรรค จะยังคงขยับเขยื้อนไปอีกแค่ไหน คงต้องรอถึงเส้นตายเวลานั้น

พรรคประชาธิปัตย์อาจจะทำใจกับปรากฏการณ์พลังดูด หรือตกใจยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้