ทำไม ? กระแสการวิจัย “ปัญญาประดิษฐ์” ในจีนถึงแรงแบบหยุดไม่อยู่

ธุรกิจพอดีคำ : “สปุตนิก”

เราทุกคนล้วนแต่มีวิชาที่เราชื่นชอบในวัยเด็ก ใช่มั้ยครับ

ไม่ว่าจะเป็นเลข วิทยาศาสตร์ ศิลปะ พละ

ต้องมีสักวิชาที่เราชอบและเฝ้ารอ

ของผมก็เช่นกันครับ

ตอนเด็กๆ ผมชอบเรียนอะไรที่เกี่ยวกับ “อวกาศ” มาก

ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ดวงดาว” เท่านั้น

แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับการสำรวจอวกาศครับ

ผมยังจำได้แม่นเลย

นักบินอวกาศคนแรกของโลกมีชื่อว่า “ยูริ กาการิน”

ดาวเทียมดวงแรกของโลกมีชื่อว่า “สปุตนิก”

ทั้งคู่เป็นผลผลิตของประเทศ “รัสเซีย”

มหาอำนาจทางด้านการสำรวจอวกาศขณะนั้น

แล้วถ้าจะให้นึกถึงนักบินอวกาศคนสำคัญ

ที่ผมพนันได้เลยว่า ออกข้อสอบแน่นอนสำหรับทุกโรงเรียนมัธยม

บุคคลผู้นั้นคือ “นีล อาร์มสตรอง”

ผู้นั่งยานอวกาศ “อพอลโล่ 11”

เป็นมนุษย์คนแรกที่ออกไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ

ประเทศรัสเซียและอเมริกาผลัดกันส่งยานอวกาศออกไปนอกโลก

มหาอำนาจทั้งสอง ที่ต้องการเป็น “ผู้ชนะ” ทางด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

เรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว

ใครจะเชื่อว่าเรื่องราวในลักษณะเดียวกัน

จะกลับมาให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง

เพียงแต่ครั้งนี้ คู่ต่อสู้ที่น่าสนใจ อาจจะเปลี่ยนไป

ถ้าพูดถึง “เทคโนโลยี” ที่คนพูดถึงกันมาก

อาจจะเข้าขั้นมากไป หรือว่าคนที่พูดจะดู “หล่อ” ขึ้นมาทันที

แม้ว่า จะรู้มาก หรือรู้น้อยก็ตาม

ก็คงหนีไม่พ้นคำนี้

“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI)

หลายท่านคงจะเคยได้ยินการแข่งขันที่ทั้งโลกจับตามองเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

การแข่งขันเล่น “โกะ (Go)” หรือ “หมากล้อม”

ระหว่างเดี่ยวมือหนึ่งของมนุษยชาติชาวจีน

นามว่า “เค จี (Ke Jie)”

กับ “อัลฟาโกะ (Alpha Go)”

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของบริษัท “ดีพ มายด์ (Deep Mind)”

ที่ได้รับการฝึกฝนให้มีฝีมือการเล่นโกะ ทัดเทียมกับมนุษย์มาเป็นแรมปี

ผลลัพธ์ก็คือ “ความพ่ายแพ้” ของมนุษยชาติ

การเล่นโกะ ที่ต้นตำรับชาวจีนเล่นกันมาหลายพันปี

ต้องมาแพ้ให้กับ “อัลฟาโกะ” หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บริษัทสัญชาติอังกฤษสร้างขึ้น

หากแต่ว่า การพ่ายแพ้ครั้งนี้

เป็นเหมือนกับ “ปรากฏการณ์สปุตนิก” ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน

เมื่อการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นไปในอวกาศ ตกเป็นของ “รัสเซีย”

ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีประวัติยาวนานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต้องอับอาย

ส่งผลให้ “ยักษ์ตื่น”

ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ออกมาประกาศ “วิสัยทัศน์” เปลี่ยนโลก

นั่นคือ “การส่งคนขึ้นไปยืนบนดวงจันทร์” ให้จงได้

จนในที่สุด “นีล อาร์มสตรอง” ก็ทำสำเร็จ

กอบกู้ศักดิ์ศรีของประเทศสหรัฐอเมริกามาได้อย่างภาคภูมิ

วันที่ “อัลฟาโกะ” ชนะ “เค จี” ชาวจีนแผ่นดินใหญ่

ท่ามกลางความภูมิใจของโลกตะวันตก ในคอมพิวเตอร์ที่ตัวเองฝึกฝนมา

ใครจะรู้ว่า มีสายตาอีกสามร้อยล้านคู่ จับตาการแข่งขันอย่างใจจดจ่อ

สายตาของ “ชาวจีน” ที่กำลังจะถูกปลุกให้ตื่นขึ้น

หลังจาก “การพ่ายแพ้” หมากล้อมครั้งนั้น

เยาวชน คนทำงาน นักวิจัย และรัฐบาลของประเทศจีน

ได้เริ่มศึกษา “การสร้างปัญญาประดิษฐ์” อย่างจริงจัง

และในปีที่ผ่านมา ประเทศจีนก็ได้ลงทุนในเรื่องของ “ปัญญาประดิษฐ์”

ทั้งในเรื่องของงานวิจัย และบริษัทสตาร์ตอัพทั่วโลก

คิดเป็นเม็ดเงินโดยรวมถึง 48% ของการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก

แซงหน้านักลงทุนชาวอเมริกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และเชื่อว่า “ช่องว่าง” จะห่างออกไปอีกเรื่อยๆ

แม้แต่ “การประชุม AI” ระดับโลก ที่จัดโดย The Association for the Advancement of Artificial Intelligence (AAAI) เมื่อปีที่แล้ว ยังเกือบจะไม่ได้จัด

ก็เพราะดันไปจัดตรงกับ “วันตรุษจีน” พอดี

ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน ก็คงจะไม่เป็นปัญหา

แต่ชั่วโมงนี้ “งานวิจัย” ระดับโลกของชาวจีนนั้น

มีพอๆ กับจากฝั่งตะวันตกเลยทีเดียว

เล่นเอามาจัด “วันตรุษจีน” ที่คนจีนใช้เวลาอยู่กับครอบครัวแบบนี้

งานก็จะล่มเอาได้ง่ายๆ

ทำเอาผู้จัดต้องเลื่อนมาจัดอีกหนึ่งอาทิตย์แบบฉุกละหุก

เป็น “บทเรียน” กันไปสำหรับชาวตะวันตก ที่หลงลืม “ยักษ์สีแดง” ตัวนี้

หากการปล่อยดาวเทียม “สปุตนิก” ของรัสเซีย

ทำให้เกิดกระแส “การสำรวจอวกาศ” ของชาวอเมริกันอย่างแท้จริง

องค์กรอย่าง “นาซ่า (NASA)” จึงได้มีโอกาสเปลี่ยนโลก

การที่ “อัลฟาโกะ” ชนะ “เค จี” มือหนึ่งชาวจีน

ก็ได้ทำให้เกิดกระแสการวิจัย “ปัญญาประดิษฐ์” ในประเทศจีนอย่างหยุดไม่อยู่

ก่อเกิดบริษัทสตาร์ตอัพมากมายนับไม่ถ้วน

และเงินลงทุนสนับสนุนที่ทวีคูณแซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อย

ใครกันจะชนะในเกมเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” ที่สำคัญนี้

โปรดจับตาดูกันยาวๆ