“จาตุรนต์ ฉายแสง” วิเคราะห์เลือกตั้ง 2562 มองประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐไม่ควรประมาท และการอุบัติขึ้นของ “เพื่อธรรม”

รายงานพิเศษ / พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

เลือกตั้งครั้งนี้ไม่เลื่อนแล้ว!?

จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ผู้ที่ทำนายทายทักมาตลอด 4 ปี โดยในทุกๆ ปีจะมีสื่อไปสัมภาษณ์ว่าปีหน้าจะมีเลือกตั้งหรือไม่?

คำตอบที่ได้รับทุกครั้งทุกปีคือ “ไม่มี” (แม้ว่าผู้นำจะไปให้สัญญาที่ไหน) ซึ่งผลก็เป็นไปเช่นจริงๆ

แต่สำหรับครั้งนี้ จาตุรนต์มองว่า เรารู้มาตลอดว่า คสช.ต้องการที่จะยืดเวลาให้นานที่สุด โดยหาเหตุต่างๆ เพื่อยืด

แต่ในช่วง 2 ปีให้หลัง สังเกตว่าเขาต้องการที่จะเตรียมความพร้อมเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ อีก โดยมีการเตรียมพรรคการเมืองและวิธีการต่างๆ อย่างที่เขาทำอยู่ทุกวันนี้หรือกดพรรคอื่นๆ ไว้ ไม่ให้หาเสียง ไม่ทำนโยบาย สมาชิกก็มีเหลืออยู่นิดเดียว เขาก็เตรียมความพร้อมกันมาพอสมควร

ส่วนตัวผมเชื่อลึกๆ ว่า ถ้าเขายืดได้อีกเขาคงอยากจะยืด แต่มาถึงวันนี้ ถ้าถามว่าจะมีเลือกตั้งปีหน้าหรือไม่ ผมเชื่อว่าน่าจะต้องมีแล้ว การจะเลื่อนให้เลย 24 กุมภาพันธ์ยังพอทำได้ มันก็จะยุ่งยากไปด้วยกัน พรรคใหม่จะทำอะไรทันหรือไม่ ต้องมาคิดคำนวณกันใหม่

แต่ถ้ามีการเลื่อนเกินเดือนพฤษภาคม 2562 จะขัดรัฐธรรมนูญทันที ทีนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่

พล.อ.ประยุทธ์อาจจะแก้เกมออกคำสั่ง คสช.กำหนดเลื่อนการเลือกตั้งเป็นวันนั้นวันนี้ก็ทำได้ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจชี้ว่าคำสั่ง คสช.ถือว่าเป็นที่สุด แต่ว่าจะกล้าทำหรือไม่ เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ ต่างประเทศก็จะไม่ยอม คนในประเทศเองก็จะไม่พอใจ เพราะว่าการเลื่อนเลือกตั้งหลายครั้ง ในแต่ละครั้งมันล้วนทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่ดี การจะเจรจากับไทยก็ชะลอ การลงทุนชะลอ เขาย้ายฐานการผลิตหนีไปประเทศอื่น มันเสียหายมาโดยตลอด

ถ้าทำอีกทีผมว่าได้ดูตัวแดงขึ้นเต็มกระดานของตลาดหุ้น แล้วเศรษฐกิจก็จะเสียหาย

ก่อนทิ้งท้ายว่า ถ้าจะเลื่อนเกินเดือนพฤษภาคม จริงๆ คือเขาอาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้โดยคำสั่ง คสช. มันดูไม่จืดเลย

: มองประชาธิปัตย์อย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นจุดสำคัญของการเมืองไทย ก็ยังไม่แน่ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือไม่

หากเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค อาจจะร่วมตอนที่เป็นนายกฯ แล้วก็ได้ ไม่มีใครทราบ หรือไม่ร่วมก็ได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้เสียงเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคอันดับ 1 นี่จากการคาดการณ์ส่วนตัว

แล้วถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุดอันดับ 1 ก็ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เขาจะไม่มีทางตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศได้ ถึงแม้จะได้ 126 เสียง เพราะว่าสองพรรคอันดับแรก เสียงมันเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เกิดมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคและเปลี่ยนเป็นว่าพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เกมการเลือกตั้งก็จะจืดทันที

เหมือนกับว่าเลือกตั้งกันไปโดยรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมของเรา

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยก็ชัดเจนมาโดยตลอดว่าจะเดินหน้าในการคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะมาแบบไหนก็ตาม

ทั้งไปปรากฏใน 3 ชื่อหรือว่าจะเป็นสมาชิกพรรคใดหรืออะไรก็ตาม แม้จะเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะไม่สนับสนุน

จาตุรนต์ ฉาย​แสง

: คิดเห็นอย่างไรที่คนมองว่า “เพื่อธรรม” คือพรรคสำรองของเพื่อไทย

ผมเองอยู่ในพรรคเพื่อไทยและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคเพื่อธรรม คนที่ไปตั้งพรรคเพื่อธรรมก็รู้จักกันทั้งนั้น แต่ว่าผมไม่ได้มีส่วนด้วย ผมเข้าใจว่าคนมองพรรคเพื่อธรรมเป็นพรรคสำรองเพราะว่าพรรคเพื่อไทยมีบทเรียนมาตั้งแต่ไทยรักไทยถูกยุบง่ายผิดปกติ ไม่รู้ว่าจะมีเหตุอะไรมายุบอีกหรือไม่ และถ้าไปยุบตอนใกล้ๆ แล้วไม่มีพรรคการเมืองลงก็จะยุ่ง ก็เลยมีนักการเมืองส่วนหนึ่ง

ส่วนตัวผมวิเคราะห์ว่า เขาคงไปตั้งเพื่อที่จะสำรองไว้ เผื่อพรรคเพื่อไทยถูกยุบ แต่ไม่น่าจะเป็นว่าตั้งขึ้นมาแล้วต่างคนต่างส่ง ต่างคนต่างลงและแข่งกันเอง

ส่วนตัวผมเองและแกนนำอีกหลายคนในพรรคมีความเชื่อจนถึงขณะนี้ว่ายังไม่มีเหตุใดๆ เลยที่จะใช้ในการยุบพรรคเพื่อไทย ผมมีความเชื่ออย่างเต็มที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และจากนี้ไปเราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุอะไรในภายภาคหน้า คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ก็จะต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ไม่ให้มีอะไรเข้าข่าย เพราะฉะนั้น ผมเป็นปีกที่คิดว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถูกยุบ

แต่ก็ยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยจะใช้คำว่ากลัวก็ได้ หรือใช้คำว่าคิดว่ามีความเสี่ยงและคิดว่าต้องป้องกันความเสี่ยงเรื่องเหล่านี้เป็นความจริง แล้วที่ผ่านมาก็ไม่มีเหตุอะไรเลยหรือความชอบธรรมใดๆ เลย แต่ก็ยุบกันมาแล้ว ถ้าถามว่ามีความเสี่ยงไหมก็มี

แต่ถ้าถามส่วนตัว ผมเชื่อว่าไม่มีเหตุเพียงพอจะมายุบเพื่อไทย มันต้องหาเหตุพิสดารอย่างมาก และเป็นเรื่องที่น่าเกลียดมาก และบ้านเมืองนี้ก็มีเรื่องน่าเกลียดอยู่ตลอด แต่ยังไงผมก็เชื่อพรรคเพื่อไทยได้เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งแน่นอน

: พลังประชารัฐประมาทไม่ได้ ใช่หรือไม่

สําหรับพลังประชารัฐมองว่าประมาทไม่ได้ ดูจากการรวบรวมนักการเมืองเขาก็ได้ไปพอสมควร แต่ว่าจะได้เสียงเป็นกอบเป็นกำถึงขั้นว่าจะได้คนที่มีโอกาสเป็นผู้แทนหรือไม่ ก็อาจจะยังไม่มากเท่าไหร่ กลุ่มสามมิตรรวมคนได้ แต่ว่ากลุ่มสามมิตรจะสามารถเข้ากับ 4 รัฐมนตรีได้แค่ไหน มันไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความที่ว่า 4 รัฐมนตรีเป็นด๊อกเตอร์กันหลายคน มีภาพลักษณ์บริหาร แต่พอทำงานการเมืองแล้วจะพูดกับประชาชนรู้เรื่องหรือไม่ แล้วจะคุยกับนักการเมืองด้วยกันในพรรคเองรู้เรื่องหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามได้เพราะว่าเขามีอำนาจรัฐอยู่ในมือ เขามีคนที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ และคนที่จะสนับสนุนเขาคือหัวหน้า คสช. และ คสช.ก็มีอำนาจที่สามารถจับหัวคะแนนไปเข้าค่ายทหารก็ทำได้

ขณะเดียวกันพรรคแบบนี้ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญก็คือ “ความชอบธรรม” ในการตั้งพรรคการเมือง อาจเป็นเพราะวิธีที่ไปรวบรวมคนมาโดยไม่ได้พูดถึงอุดมการณ์หรือนโยบายอะไรกันมากมาย แต่ตั้งมาเพื่อจะหนุนคนคนเดียวเป็นนายกฯ ผมงงว่า อันนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกพยายามที่จะประณามเหยียดหยามนักการเมืองมาโดยตลอด เขาชอบพูดว่าพรรคการเมืองมีแต่ร่วมกันใช้อำนาจ รวมเสียงให้คนหนึ่งได้เป็นนายกฯ เอาแต่คนเก่า ประชาชนชอบเลือกแต่คนเก่า มีแต่คนเก่าๆ ต่อไปนี้ประชาชนต้องเลือกใหม่อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่คุณพูดไว้ทั้งนั้น แต่คุณก็กลับทำเสียเอง

และความไม่ชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจมันจะเป็นแรงที่จะทำให้พรรคการเมืองนี้ต้องเผชิญ อาจจะนำไปสู่วิกฤต เหมือนกับพรรคสามัคคีธรรมในอดีต มีโมเดลคล้ายๆ กัน แต่คราวนี้เขาเตรียมการหลายอย่างทั้งรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ กฎกติกาหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อจะอยู่ไปให้นานมาก

แต่ว่าสิ่งที่เหมือนกันก็คือ “ความไม่ชอบธรรม” ต้องจับตาดูกันว่าประชาชนคนไทยจะคิดอย่างไร ผมก็ไม่คิดว่าพรรคนี้จะเป็นเพียงพรรคเดียวที่มีเสียงไปร่วมกับ ส.ว. แล้วดัน พล.อ.ประยุทธ์ได้ น่าจะเสียงไม่พอ

วิธีการเดียวคือต้องไปดึงพรรคการเมืองใหญ่ๆ หรือไปเล่นกล จนทำให้พรรคการเมืองใหญ่เปลี่ยนหรือจำยอมเข้าร่วม

สามารถรับชมคลิป จาตุรนต์ วิเคราะห์การเมืองได้ที่ https://bit.ly/2P27xwL