ควรให้พ้นจาก “เอาเปรียบ”

เรื่องที่ไทยเราพยายามอวดต่อนานาชาติเรื่องหนึ่งคือ “การปกครองประเทศจะกลับสู่ประชาธิปไตยในเร็ววันนี้”

ความพยายามนี้มีมานานแล้ว

เรื่องนี้สะท้อนจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้นำเบ็ดเสร็จของประเทศ ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรีที่นั่งหัวโต๊ะในฐานะผู้บริหารประเทศ ทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจระดับเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สามารถออกคำสั่งเหนือกฎหมายทั้งหมด พูดง่ายๆ คือ เป็น “อำนาจ” เสียเอง สามารถออกคำสั่งให้ทุกอย่าง ทุกเรื่องให้เป็นไปตามที่ปรารถนาได้

ทุกครั้งที่ “ผู้นำเบ็ดเสร็จของชาติ” เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และกำหนดความสัมพันธ์กับประเทศอื่นด้วยเงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตย ผู้นำของเราจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้ง หมายถึงการคืนอำนาจที่ใช้กำลังกองทัพยึดมาให้ประชาชนในเดือนนั้นเดือนนี้

เป็นความพยายามที่อวดว่า ประเทศไทยพร้อมจะกลับสู่ประชาธิปไตยในเร็ววัน แม้คำสัญญานั้นจะไม่มีความหมายอะไรมากนักเมื่อกลับมาประเทศก็ตาม

แต่วันนี้ การเดินทางครั้งล่าสุดไปญี่ปุ่นของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่อวดในเรื่องนี้กับนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า

“รัฐบาลไทยได้เดินหน้าปฏิรูปประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562”

แม้เรื่องที่อวดยังสร้างคำถามว่า ปฏิรูปประชาธิปไตยตรงไหน เพราะพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจต่อไป ไม่เพียงไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สมกับการใช้คำว่าปฏิรูปเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนพรรคด้วยวิธีการโบราณแบบไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของคนที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเสียด้วยซ้ำ

แต่ที่น่าจะเชื่อได้ในคำอวดความเป็นประชาธิปไตยครั้งนี้ก็คือ “จะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562” ไม่น่าจะใช่สัญญาที่ถูกลืมเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่น่าจับตากันต่อไปหลังเลือกตั้งคือ ท่าทีของนานาชาติต่อประชาธิปไตยไทย

ประชาธิปไตยสากลย่อมมีรากฐานในเชิงอุดมการณ์อยู่ที่ “สิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกคน”

แต่ประชาธิปไตยรอบนี้ “ผู้เฒ่า-มีชัย ฤชุพันธุ์” เขียนรัฐธรรมนูญกำหนดโครงสร้างจาก “ผนึกความคิดที่มองคนไม่เท่าเทียมกัน สิทธิประชาชนไม่เสมอกัน อภิสิทธิ์ชนมีโอกาสเข้าสู่ศูนย์การอำนาจได้โดยไม่ต้องยึดโยงประชาชน อาศัยการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ”

การเลือกตั้งในกติกาเช่นนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อการยอมรับของนานาชาติ

และในมุมเดียวกัน ที่สุดแล้วประชาชนไทยเองมองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร

ผู้ที่มุ่งควบคุมอำนาจโดยไม่เลือกวิธีอาจจะมีข้ออ้างว่าประชาชนยอมรับความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว การเมืองที่เน้นความเท่าเทียมไปไม่รอด นำความวุ่นวายสู่บ้านเมือง

แม้ว่าข้ออ้างนั้นจะถูกพิสูจน์หลังเลือกตั้ง แต่ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “ครู/อาจารย์ และการศึกษาปัจจุบัน” ในคำถามที่ว่า

“ท่านคิดว่าการปฏิรูปการศึกษาข้อใดที่ควรนำมาปฏิรูปที่สุด”

คําตอบมากที่สุดคือร้อยละ 26.55 ตอบว่า “ลดความเหลื่อมล้ำ”

นั่นหมายความว่า ความรู้สึกของผู้คนต่อความเท่าเทียมนั้น เป็นปมความอึดอัดหลัก แม้แต่ในเรื่องการศึกษายังเรียกร้องลดความเหลื่อมล้ำก่อน

ดังนั้น หลังการเลือกตั้ง หากมีความจริงใจที่จะเห็นบ้านเมืองสงบในขอบข่ายประชาธิปไตย

พฤติกรรมที่จะสะท้อนการใช้อำนาจอย่างเอารัดเอาเปรียบ จะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดจนน่าเกลียด

เพราะจะยิ่งตอกย้ำให้เกิดการมองว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างสกปรก

เว้นเสียแต่ว่า ต้องการท้าทาย ทำนอง “เอาเปรียบแล้วไง มีอะไรมั้ย”

เพื่อเป็นเงื่อนไขให้อ้างถึง “ความไม่สงบ” อันเป็นสภาวะที่เอื้อต่ออำนาจเผด็จการเข้ามาควบคุม

ก็ว่ากันไป