ตุมพุรุ ในลัทธิเทวราชาของขอม ไม่ใช่คนธรรพ์ แต่เป็นภาคหนึ่งของพระอิศวร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

“ฐานข้อมูลจารึก” ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นแหล่งรวบรวมและสืบค้นทั้งข้อมูล ประวัติ คำอ่าน และคำแปล ของจารึกที่พบในประเทศไทยไว้เกือบครบทั้งหมด ซึ่งก็เป็นฐานข้อมูลที่ใช้งานได้สะดวก และสามารถใช้อ้างอิงได้ดี

โดยในบรรดาจารึกต่างๆ ที่ถูกรวบรวมไว้นั้น ก็รวมไปถึงจารึกหลักสำคัญในการศึกษาอารยธรรมขอมยุคเก่าก่อน ชื่อว่าจารึกสด๊กก็อกธม 2

เพราะเป็นจารึกหลักที่สองที่พบในปราสาทสด๊กก็อกธม จังหวัดสระแก้ว ติดชายแดนกัมพูชาแบบเส้นยาแดงผ่าแปด

ที่ว่าสำคัญก็เพราะจารึกหลักนี้เล่าถึงเรื่องการสถาปนาลัทธิ “เทวราชา” และประวัติศาสตร์ของลัทธิที่ว่า ยอร์ช เซเดส์ นักอ่านจารึก ชาวฝรั่งเศส ผู้วางรากฐานการศึกษาประวัติศาสตร์อารยธรรมขอมโบราณจากการเรียงร้อยจารึกหลักต่างๆ เข้าด้วยกัน แทบจะใช้จารึกหลักนี้เป็นแม่บทของแนวคิดเรื่องเทวราชา

ข้อความสำคัญตอนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในจารึกหลักนี้คือการประสิทธิ์ประสาทวิชาในลัทธิเทวราชา ซึ่งมีใจความเป็นภาษาสันสกฤต เขียนด้วยตัวอักษรขอมว่า

“ศาสฺตฺรํศิรศเฉทวินาสิขาขฺยํ สํโมหนามาปินโยตฺตราขฺยมฺ ตตฺตุมฺวุโรรฺวฺวกฺตฺรจตุษฺกมสฺย สิทฺธฺเยววิปฺรสฺสมทรฺศยตฺสะ ฯ”

ต้องขออนุญาตยกข้อความในจารึกมาให้ร่วมด้วยช่วยอ่าน เพราะประเด็นของผมอยู่ที่นี่แหละครับ

สรุปอย่างกระชับข้อความตอนที่ว่ากำลังพูดถึงการที่พราหมณ์ชื่อหิรัณยทามะกำลังประสิทธิ์ประสาท “พักตร์ทั้งสี่แห่งตุมพุรุ” อันประกอบไปด้วย ศิรัจเฉท วินาศิขะ สัมโมหะ และนโยตตระ ให้แก่ลูกศิษย์ที่ชื่อว่าพราหมณ์ศิวะไกวัลย์

แต่ข้อมูลที่ได้จากเว็บไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยา กลับแปลความตอนนี้ว่า

“หิรัณยทามะพราหมณ์นั้น ได้สอนเวทมนตร์ 4 ประการ ของคนธรรพ์ คือ ศิรศเจตะ วินาศิขา (วินาศิคราะ) สัมโมหะ (สมุโมราะ) และนโยตระ ให้แก่ศิวไกวัลยะจนสําเร็จ”

“พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ” ที่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (ถอดความเป็นไทยโดยศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล) กลายไปเป็นเวทมนตร์ 4 ประการของคนธรรพ์ไปเสียแล้ว

 

แน่นอนว่า “ตุมพุรุ” เป็นชื่อของ “คนธรรพ์” ตนหนึ่ง แถมยังเป็นคนธรรพ์ตนสำคัญในปรัมปราคติของชมพูทวีปอีกด้วย

เพราะในมหากาพย์เรื่องสำคัญอย่างรามายณะ ได้ระบุเอาไว้ว่า ตุมพุรุเป็นราชาแห่งคนธรรพ์ทั้งหลาย แถมยังเป็นผู้ขับกล่อมดนตรีได้ไพเราะที่สุดในทั้งสามโลก

ส่วนในมหากาพย์ที่สำคัญตีคู่กันมาอีกเรื่องคือ มหาภารตะ นั้นได้กล่าวถึงตุมพุรุเอาไว้ว่า เป็นหนึ่งในสี่คนธรรพ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ชื่อของตุมพุรุในตำราจากชมพูทวีปนั้น มักจะปรากฏอยู่คู่กับพระนารทฤๅษี ที่แวดวงดนตรีและการละครต่างๆ ก็ถือว่าเป็นครูดนตรีเช่นเดียวกัน

และชื่อของตุมพุรุก็ไม่ได้ปรากฏอยู่เพียงในตำราของฝ่ายพราหมณ์-ฮินดูเท่านั้น เพราะในพระสูตรของพุทธศาสนาอย่างสักกปัญหสูตร ได้กล่าวถึงราชาของคนธรรพ์ที่ชื่อ “ตุมพรุ” ว่ามีลูกสาวชื่อสุริยวัจฉสา และเป็นพ่อตาของพระปัญจสิขร ซึ่งก็คือคนธรรพ์ที่ดีดพิณถวายพระพุทธเจ้า ณ ถ้ำอินทสาล โดยพระปัญจสิขรนี้ ก็ถูกคนไทยนับเป็นครูแห่งดนตรีการด้วยเช่นกัน

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า “ตุมพุรุ” นั้นเป็น “คนธรรพ์” อย่างที่ฐานข้อมูลจารึก ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรแปลมาแน่ แต่ปัญหาก็คือคำว่า ตุมพุรุ ที่ปรากฏอยู่ในจารึกหลักดังกล่าวนี้ ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะของคนธรรพ์นั่นสิครับ

 

Adhir Chakravarti ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับจารึกสด๊กก็อกธม 2 และตีพิมพ์หนังสือชื่อ The Sdok Kak Thom Inscription ขนาด 2 เล่มจบ ได้อ้างงานของ Bergaigne นักอ่านจารึกรุ่นเก่าแก่ ชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่งว่า บ่อยครั้งที่จารึกขอมโบราณจะกล่าวถึงพระอิศวรในฐานเทพผู้มี 4 พระพักตร์ และยังเสนอต่อไปว่า หนังสือโยคะวศิษฐ รามายณะ ที่เก่าแก่ไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9 ระบุว่า “ตุมพุรุ” ก็คือ “รุทร” หรือ “พระอิศวร”

ในขณะที่คำว่า “พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ” ทำให้ชื่อทั้งสี่ ได้แก่ ศิรัจเฉท วินาศิขะ สัมโมหะ และนโยตตระ ถูกเข้าใจต่อๆ กันมาว่าเป็นชื่อคัมภีร์ แต่ผลการศึกษาในชั้นหลังชวนให้เชื่อว่า สัมโมหะ และศิรัจเฉท น่าจะเป็นกลุ่มลัทธิประเพณีที่เกี่ยวข้องกับลัทธิศักติ ส่วนวินาศิขะเป็นชื่อคัมภีร์แน่ เพราะมีการค้นพบต้นฉบับของคัมภีร์วินาศิขะตันตระ เขียนด้วยอักษรเทวนาครี ที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล

ส่วนนโยตตระเป็นชื่อคัมภีร์เช่นกัน เพราะมีอ้างถึงอยู่ในต้นฉบับของวินาศิขะตันตระ แต่ยังไม่มีรายงานการค้นพบต้นฉบับของคัมภีร์ฉบับที่ว่า

เฉพาะข้อมูลที่มีอยู่ในคัมภีร์วินาศิขะตันตระ ถือเป็นคัมภีร์ฉบับแรก และเป็นฉบับเดียวในขณะนี้ที่กล่าวถึงการปรากฏกายของ “พระอิศวร” ในฐานะของ “ตุมพุรุ” เป็นการเฉพาะ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือคัมภีร์ฉบับนี้กล่าวถึงการสถาปนาพระอิศวรในฐานะตุมพุรุขึ้นเป็น “เทวราชา” คือราชาเหนือทวยเทพทั้งหลาย

 

Teun Goudriaan นักวิชาการผู้สนใจเกี่ยวกับคัมภีร์ในนิกายไศวะตันตระ ได้ทำการศึกษาคัมภีร์ฉบับที่ว่า โดยได้รวบรวมข้อมูลที่มีการกล่าวถึงตุมพุรุในคัมภีร์ต่างๆ พบว่าการปรากฏกายของตุมพุรุสามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นคนธรรพ์หรือราชาแห่งคนธรรพ์

ส่วนกลุ่มที่สองคือ เป็นภาคหนึ่งของพระอิศวร ซึ่งก็มีพบอยู่มากพอดู

รูปลักษณ์ของพระอิศวร ในฐานะตุมพุรุตามที่ Goudriaan รวบรวมไว้ทั้งหมดมีลักษณะที่ดุร้าย ที่น่าสนใจคือในหนังสือศตธรรมตีปิกา ซึ่งเล่าว่า “ตุมพุรุ” ปรากฏกายในรูปของ “ไภรวะ” สามเนตร ทรงโค พระหัตถ์ทั้งสี่ทรงไว้ด้วยศูล มาลัย คัมภีร์ และหม้อน้ำอมฤต

ในขณะที่หนังสือโยคะวาศิษฐะ รามายณะ (เล่มเดียวกับที่ Chakravarti อ้างว่า ตุมพุรุ ก็คือพระรุทร) กล่าวถึงการปรากฏกายพร้อมกันของตุมพุรุ และพระไภรวะ ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาวฝรั่งเศสอย่าง Marie Th. de Mallmann ได้กล่าวถึงลักษณะทางประติมานวิทยาของตุมพุรุในอัคนิปุราณะว่าหยิบยืมลักษณะของพระวีรภัทร พระภาคที่ดุร้ายอีกพระภาคหนึ่งของพระอิศวรมาใช้ด้วย

วิษณุธรรมโมตตระปุราณะ ตำราศิลปศาสตร์ (อาจกล่าวอย่างไม่เคร่งครัดได้ว่าเป็นตำราช่าง) ฉบับสำคัญของชมพูทวีปได้อุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งกล่าวถึงการสร้างรูปพระตุมพุรุขึ้นในกลุ่มของเทวีสี่พระองค์

ความตอนนี้เกี่ยวข้องกับข้อความใน วินาศิขะตันตระ ที่กล่าวถึงการสถาปนาพระอิศวรในฐานะของตุมพุรุขึ้นเป็นเทวราชา พร้อมเทพีทั้งสี่ผู้เป็นทั้งพระชายาและพระขนิษฐา เกี่ยวข้องกับลัทธิเทวราชาของขอม ชื่อตุมพุรุ และการสถาปนาชายาทั้งสี่ยังมีพบในจารึกเกาะบาหลี ซึ่งเป็นเครือข่ายของรัฐในเกาะชวา ที่ในจารึกสด๊กก็อกธม อ้างว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เสด็จมาจากชวา ก่อนได้พบกับพราหมณ์หิรัณยทามะผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในลัทธิเทวราชาให้ลงหลักปักฐานอยู่ในอารยธรรมขอมยุคเก่า

และก็เป็นวิษณุธรรมโมตตระปุราณะ นี้เองที่อ้างว่าพระตุมพุรุมีสี่พระพักตร์ ตรงกับความในจารึกขอมโบราณ รวมทั้งจารึกสด๊กก็อกธมอีกด้วย

การที่จารึกสด๊กก็อกธม ซึ่งเป็นจารึกหลักที่พรรณนาถึงประวัติของลัทธิเทวราชา ที่สำคัญยิ่งในอารยธรรมขอมดั้งเดิมอย่างละเอียดที่สุด อ้างถึง “พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ” และเอ่ยถึงชื่อวินาศิขะ ทำให้แน่ใจได้ว่าพวกขอมยุคเก่าแก่รู้จัก “ตุมพุรุ” ในฐานะพระภาคหนึ่งของ “พระอิศวร”

ดังนั้น จึงไม่ควรแปลความ “พักตร์ทั้งสี่ของตุมพุรุ” ว่า “เวทมนตร์ 4 ประการของคนธรรพ์” เพราะ “ตุมพุรุ” ในที่นี้หมายถึง “พระอิศวร” ผมติมาเพื่อก่อ ด้วยความหวังดี อยากให้ฐานข้อมูลจารึกของศูนย์มานุษยวิทยามีความผิดพลาดน้อยที่สุดครับ