กรองกระแส/ปะทะการเมือง อะนาล็อก กับ ดิจิตอล บทบาท ‘คสช.’

กรองกระแส

 

ปะทะการเมือง

อะนาล็อก กับ ดิจิตอล

บทบาท ‘คสช.’

 

แม้ความพยายามในการสืบทอดอำนาจของ คสช.จะถือเอาปฏิมาแห่งการดำรงอยู่ของอำนาจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นแบบอย่าง แต่ก็ต้องยอมรับว่ายุคของ คสช. กับยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้าไปสู่อำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 บนซากปรักหักพังอันเกิดขึ้นจากรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

เป็นเหมือน “อัศวินม้าขาว” ที่เข้ามาพร้อมกับ “ความหวัง”

จึงไม่แปลกที่จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย และพรรคธรรมสังคมด้วยความอบอุ่น

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงมิได้เป็นการสืบทอด หากแต่เป็นการ “เข้าสู่” อำนาจ

ตรงกันข้าม ยุคของ คสช.ที่จะถือว่าเป็นการเข้าสู่อำนาจอย่างแท้จริง คือในห้วงภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ท่ามกลางการสร้างสถานการณ์ของ กปปส.โดยดำเนินไปตามแผน “สมคบคิด” อันต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และการร่วมล้อมปราบอย่างมีนัยสำคัญในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

โดยการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งด้วยชัยชนะอันท่วมท้นในเดือนกรกฎาคม 2554

 

พฤษภาคม 2557

พฤษภาคม 2561

 

เวลา 4 ปีของรัฐบาลภายหลังการรัฐประหาร คือเวลาแห่งการแสดงฝีมือและความสามารถอย่างเป็นรูปธรรม

หากจะถือเป็น “ผลงาน” เวลานี้แหละคือ “ผลงาน”

จุดแตกต่างเป็นอย่างมากระหว่างยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กับยุค คสช.ก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีส่วนน้อยมากในการวางกฎสร้างกติกา เพราะนั่นเป็นผลงานของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อย่างเป็นด้านหลัก

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ไม่ว่าผลพวงจากกฎกติกาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทั้งสิ้น

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพียงเป็นผู้ได้ประโยชน์จากกฎกติกาเหล่านี้เท่านั้น

ตรงกันข้าม คสช.ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้วางกฎกติกาและได้ประโยชน์จากกฎกติกาทั้งเมื่อหลังเดือนพฤษภาคม 2557 และเมื่อเวลาผ่านมาถึงเดือนพฤษภาคม 2561 เท่านั้น หากแต่ยังสำแดงเจตจำนงว่าจะสืบทอดอำนาจต่อไป

ไม่เพียงจะสืบทอด 4 ปี รวมแล้วเป็น 8 ปี หากแต่ยังต้องการสืบทอดอำนาจยาวนานไม่ต่ำกว่า 20 ปีด้วยซ้ำ

 

รูปธรรม ความมั่นใจ

ผลงานของ “คสช.”

 

ไม่ว่าจะเป็นการผ่านยุทธศาสตร์ 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางเครือข่ายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแต่ละจังหวะก้าวของ คสช.ล้วนแสดงความมั่นใจ

1 ความมั่นใจในผลงานและความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน 1 ความมั่นใจว่าจะได้รับการสนองและขานรับต่อการสืบทอดอำนาจให้ยาวนานออกไปอีกไม่ต่ำกว่า 20 ปีของ คสช.

การตั้งพรรคพลังประชารัฐสะท้อนความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม

เมื่อประสานเข้ากับการแวดล้อมจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชาติไทย พรรคพลังธรรมใหม่ คสช.ยิ่งมั่นใจ เห็นได้จากการประกาศจากพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่าจะต้องเป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน

การตัดสินใจเปิด “เพจ” ของตนเองผ่านเฟซบุ๊ก การตัดสินใจนำเอาภาพและผลงานเผยแพร่ผ่านอินสตาแกรมและรวมถึงไลน์ และทวิตเตอร์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการตระเตรียมเข้าสู่พื้นที่ของโลกโซเชียลมีเดีย

เป็นการย้ายจากการเมืองยุค “อะนาล็อก” เข้าสู่การเมืองยุค “ดิจิตอล”

หากไม่มั่นใจในผลงาน ความสำเร็จ หากไม่มั่นใจในกระแสการสนับสนุนของประชาชนอันเป็นฐานเสียงที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่เข้าสู่โลกแห่งโซเชียลมีเดียอย่างแน่นอน เพราะพื้นที่โซเชียลมีเดียคือพื้นที่ที่ไม่เพียงแต่เป็นประชาธิปไตย หากแต่เข้าข่าย “อนาธิปไตย” ด้วยซ้ำ

ความมั่นใจนี้กำลังได้รับการตรวจสอบจากสภาพความเป็นจริงอย่างเข้มข้น

 

พื้นที่ดิจิตอล

พื้นที่อะนาล็อก

 

โดยความเป็นจริง เทคโนโลยีแห่งยุคดิจิตอลเป็นปัจจัยอย่างสำคัญในการทำลายล้างไม่เพียงแต่เทคโนโลยีแห่งยุคอะนาล็อก

หากแต่ยังได้เข้าสู่พรมแดนทางความคิด พรมแดนทางการเมือง

แม้ภาพแห่งการเมืองเก่าอันเป็นผลผลิตจากยุคอะนาล็อกยังเป็นด้านที่ครอบงำอยู่เหนือสังคมไทย แต่การรุกคืบเข้ามาของการเมืองใหม่อันเป็นผลผลิตโดยตรงจากยุคดิจิตอลก็ดำเนินไปด้วยความรุนแรง รวดเร็วและเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง

   การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นคำตอบสำคัญว่ายุคของ คสช.จะยังแข็งแกร่งและมั่นคงผ่านกระบวนการสืบทอดอำนาจได้หรือไม่