เกษียร เตชะพีระ : เจ๊กสยามหันขวาหาจีน (2)

เกษียร เตชะพีระ
มิเชล กองเดสซูส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IMF ยืนกอดอกมองประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียลงนามในข้อตกลงเงินกู้เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจเมื่อ ๑๕ ม.ค. พ.ศ. ๒๕๔๑ (AFP PHOTO / AGUS LOLONG)

ตอน 1

ความพลิกผันปรวนแปรทางเศรษฐกิจการเมืองของไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้เจ๊กสยามหรือคนไทยเชื้อสายจีนซึ่งครอบกุมชนชั้นนำในวงการธุรกิจและการเมือง รวมทั้งประกอบสร้างเป็นคนชั้นกลางชาวเมืองที่มีฐานะมั่นคงจำนวนมาก เอนเอียงไปทางการเมืองฝ่ายขวารวมทั้งหันไปนิยมจีนมากขึ้นทุกที

จากเดิมที่พวกเขาเคยเป็นผู้สนับสนุนหลักและฐานมวลชนของกระแสประชาธิปไตยนิยมตะวันตกและเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี พร้อมทั้งต่อต้านภัยเผด็จการคอมมิวนิสต์จากจีนและพวกพ้องบริวารในสมัยสงครามเย็น

มาในหลายปีหลังนี้พวกเขากลับกลายเป็นพลังราชาชาตินิยมฝ่ายขวาที่ระแวงสงสัยและคัดค้านโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ความคิดเสรีนิยมตะวันตก และระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ

ในการพลิกเปลี่ยนดังกล่าวนี้ ประเทศจีนได้กลายเป็นขั้วแม่เหล็กของแกนอำนาจใหม่ในภูมิภาคที่มีพลานุภาพทางเศรษฐกิจ ค่านิยมทางวัฒนธรรม และตัวแบบทางเลือกของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งทรงเสน่ห์ดึงดูดใจเหล่าเจ๊กสยามให้หันมานิยมชมชื่น

ในบรรดาความพลิกผันปรวนแปรซึ่งทำให้เจ๊กสยามเปลี่ยนไปหันขวาหาจีนนั้น ที่สำคัญได้แก่ :

1) วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ลุกลามไปสู่เอเชียตะวันออกใน พ.ศ.2540

2) ระบอบทักษิณที่มาในนามระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากนับแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา และ

3) การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในปี พ.ศ.2555

ผมจะขออธิบายโดยสังเขปไปตามลำดับ

1) วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 ในประเทศไทยจุดปะทุให้ค่าเงินบาทตกฮวบ ระบบการเงินพังทลาย เศรษฐกิจหดตัวและถดถอยหนัก ธุรกิจพากันล้มละลายและคนตกงานกว้างขวาง คนจนหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ต้องมีการเลหลังขายสินทรัพย์ให้นายทุนต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มทุนการเงินใหญ่อเมริกันในราคาถูก จนวิกฤตติดต่อลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออก ฯลฯ

จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ของไทยหดตัวรุนแรงถึง 10.8% ในปี พ.ศ.2541

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 100 แห่งหรือกว่าหนึ่งในสี่ของทั้งหมดถูกเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยที่กึ่งหนึ่งเนื่องจากประสบภาวะล้มละลายหรือกิจการล่มจมไป กลุ่มธุรกิจสุดยอดของไทยก่อนเกิดวิกฤตราวหนึ่งในสี่ (7 ใน 30 กลุ่มธุรกิจสุดยอด และกว่า 50 ใน 220 กลุ่มธุรกิจสุดยอด) มีอันล่มสลายไปหรือไม่ก็หดตัวอย่างหนัก

ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ถึงแก่ปรารภในครั้งนั้นว่า “วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้มีเจ้าสัวไทยหายไป 65% และยุคนี้ไม่มีอีกแล้วเจ้าสัว มีแต่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” บริษัทธุรกิจหลายพันแห่งล้มพับไปและธนาคารพาณิชย์ก่อนวิกฤตถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมดมีอันล้มลงหรือไม่ก็เปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร

คนงานตกงานราว 1 ล้านคน และผู้คนราว 3 ล้านคนมีฐานะตกต่ำลงไปอยู่ใต้เส้นยากจน

ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ รองกก.ผจก.ใหญ่ IMF สมัยนั้น
ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ รองกก.ผจก.ใหญ่ IMF สมัยนั้น

ประเด็นก็คือเจ๊กสยามโทษว่ามันเกิดจากเงื่อนไขในข้อตกลงเงินกู้เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจที่มีลักษณะบีบคั้นอย่างหนัก ซึ่ง IMF บังคับยัดเยียดให้แก่รัฐบาลไทยภายใต้การชี้นำของทางการสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ให้ไทยเปิดเศรษฐกิจเสรีและโอนกิจการของรัฐไปเป็นของเอกชนเพิ่มขึ้นอีก, ให้ดำเนินนโยบายการเงินการคลังแบบหดตัว (รัดเข็มขัดทางการคลังและขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงลิบ) ฯลฯ

เหล่านี้นำไปสู่ภาวะเงินฝืดอย่างหนัก, เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงเข้าไปอีก, ส่งผลให้ธุรกิจของเจ้าสัวทั้งหลายไม่ว่าระดับยักษ์ใหญ่ กลางหรือเล็กต้องปรับตัวรีดเค้นไขมันและเชือดเนื้อเถือหนังทิ้งอย่างเจ็บปวดเพื่อเป็นไปตามตรรกะ “การทำลายอย่างสร้างสรรค์” ของตลาดทุนนิยมเสรี

(กล่าวคือ บีบเค้นล้างผลาญให้ธุรกิจที่ด้อยประสิทธิภาพล้มหายตายจากไปเสีย จะได้เปิดพื้นที่ช่องทางให้ธุรกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าสร้างตัวขึ้นแทน)

ดังที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์และเทคโนแครตชั้นนำ ผู้ถูกรัฐบาลของนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ขอให้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยกอบกู้เศรษฐกิจในยามคับขันหน้าสิ่วหน้าขวานสมัยนั้น บันทึกการเผชิญหน้ากับ ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IMF ไว้ด้วยความเศร้าใจว่า :

“เมื่อตอนที่เรากำลังเจรจาทำข้อตกลงเงื่อนไขฉบับแรกกับไอเอ็มเอฟ ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรี วันหนึ่ง ดร.สแตนลี่ ฟิชเชอร์ บินมาเมืองไทย ขอเชิญผมกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไปรับประทานอาหารเช้ากับเขาที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ผมบอกเขาว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เจรจาเงื่อนไขทั้งสองฝ่ายทำข้อตกลงแล้ว เราสองคนซึ่งก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งคู่ เพราะ ดร.ฟิชเชอร์ เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT เราควรจะมาตรวจดูเหมือนกับการตรวจวิทยานิพนธ์แล้วปรึกษากันว่าเงื่อนไขที่จะใส่ในหนังสือแสดงความจำนงนั้นจะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ยาที่ใช้จะถูกกับโรคหรือไม่

“เขาตอบผมว่าเขาไม่มีเวลาดูหรอกเพราะเขาไม่มีเวลา เขาต้องดูแลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขอให้เชื่อ นายฮูแบร็ต ไนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของไอเอ็มเอฟ เพราะเคยให้ยากับประเทศต่างๆ มาทั่วโลกแล้ว ผมแย้งว่า “ประเทศต่างๆ มีโครงสร้างเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางเศรษฐกิจต่างกัน จะใช้ยาขนานเดียวกันทั่วโลกได้อย่างไร” เขาตอบว่า “ไม่เป็นไร ยาขนานเดียวใช้ได้หมด” ผมเดินออกมาอย่างเศร้าใจกับวิธีทำงานของ ดร.ฟิชเชอร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอเอ็มเอฟ”

(คอลัมน์ คนเดินตรอก, ประชาชาติธุรกิจ, 12 กรกฎาคม. 2547, น.2)

ฉะนี้เองจึงก่อเกิดเป็นปฏิกิริยาชาตินิยมทางเศรษฐกิจต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบตะวันตก/อเมริกันขึ้นในโวหารและท่าทีของบรรดาเจ้าสัวนักธุรกิจคนชั้นกลางเจ๊กสยามทั้งหลาย

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร รองนายกรัฐมนตรีไทย
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร รองนายกรัฐมนตรีไทย

ทว่า ในขณะเดียวกันนั้นเอง ประเทศจีนกลับเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือไทย ด้วยการลงขันสมทบเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในแผนกอบกู้เศรษฐกิจไทยของ IMF ทั้งยังให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ฉวยโอกาสลดค่าเงินหยวนเพื่อเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของสินค้าออกของจีนในตลาดโลกให้สูงขึ้น อันจะเป็นการเอาเปรียบสินค้าออกของไทยในยามยากลำบาก

ด้วยเหตุนี้ แม้ต่อมาประเทศไทยจะฟื้นตัวจากวิกฤตทางเศรษฐกิจและชำระเงินกู้คืนให้แก่ IMF หมดสิ้นเรียบร้อยในปี พ.ศ.2546 แล้ว แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นก็ยังความขมขื่นใจให้เจ้าสัวและคนชั้นกลางเจ๊กสยามเรื้อรังสืบมา

ในทางกลับกัน การช่วยเหลือและน้ำใจจากจีนก็ทำให้ไทยสำนึกตื้นตันและสร้างภาพลักษณ์มิตรผู้เห็นอกเห็นใจไทยในยามยากไว้ตราตรึงใจ ต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ภาพลักษณ์เสื่อมถอยกลายเป็นอภิมหาเศรษฐีขี้โลภยโสโอหังผู้ฉวยโอกาสที่เพื่อนฝูงเดือดร้อนเอาเปรียบซ้ำเติม

(ต่อสัปดาห์หน้า)