การศึกษา/ปรับโฉมใหม่ ‘รับนักเรียน’ สพฐ. เปิดทาง ร.ร.ดังคัด ‘ช้างเผือก’

การศึกษา

 

ปรับโฉมใหม่ ‘รับนักเรียน’ สพฐ.

เปิดทาง ร.ร.ดังคัด ‘ช้างเผือก’

 

หลังจากปีก่อนมีปัญหาเรื่องจำกัดสัดส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 อยู่ที่ 40 คนต่อห้อง

ส่งผลให้ผู้ปกครองโวยเจ้ากระทรวง ทำนองว่าลูกอยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน แต่กลับไม่สามารถเข้าเรียนได้

มาปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ เป็นประธาน ได้แก้ไขโดยมีมติให้ขยายจำนวนรับนักเรียน ม.1 และ ม.4 ต่อห้องได้ถึง 45 คนเหมือนเดิม

แต่ทั้งนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนก่อน

“กพฐ.เห็นชอบหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 ปีนี้แก้ไข 2 ปัญหาคือ การขยายจำนวนการรับเด็กต่อห้อง ในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 จากเดิมห้องละ 40 คน ก็เปิดโอกาสให้ขยายได้ไม่เกิน 5 คนต่อห้อง โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน เพื่อให้สถานศึกษามีอำนาจอนุมัติเบ็ดเสร็จ ส่วนจำนวนรับนักเรียนในระดับชั้นก่อนประถมศึกษา ให้คงไว้ห้องละ 30 คน และชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้คงไว้ห้องละ 40 คน เนื่องจากจำนวนเด็กเข้าเรียนน้อยลง”

“ส่วนสัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน กับการสอบคัดเลือกทั้ง ม.1 และ ม.4  ให้คงไว้ที่ 60 : 40 ตามเดิม แต่ย้ำว่าถ้าการรับเด็กในพื้นที่บริการไปตัดสิทธิเด็กทั่วไป ก็มอบหมายให้ สพฐ.ไปคิดวิธีการว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เด็กทั้งประเทศได้มีโอกาสเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงเท่าโรงเรียนประจำจังหวัด” นายปิยะบุตรกล่าว

กพฐ.ยังหารือเรื่องปฏิทินการสอบ โดยเสนอให้ขยับช่วงเวลาการรับนักเรียนจากเดิมแล้วเสร็จปลายเดือนมีนาคมมาเป็นภายในเดือนมกราคม เพื่อให้ผู้ปกครองที่ลูกหลานยังไม่มีที่เรียนได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมหาที่เรียนให้ลูกได้มากขึ้น ก่อนจะเปิดภาคเรียนที่ 1 ในเดือนพฤษภาคม

ซึ่งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) แจ้งว่า สามารถขยับปฏิทินการสอบโอเน็ตได้ โดยอาจเลื่อนการสอบให้เร็วขึ้นอีก 2 เดือน

 

ส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.4 ในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง โดยเฉพาะโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งสอบพร้อมกับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้เด็กที่สอบพลาดจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีโอกาสไปเรียนโรงเรียนอื่นได้ยาก เพราะโรงเรียนทั่วไปรับเด็กเต็มหมดแล้วรวมถึงโรงเรียนเดิมของเด็กด้วย

ดังนั้น กพฐ.จึงเห็นชอบให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.4 ก่อนโรงเรียนทั่วไป

เพราะหากพลาด ยังมีโอกาสไปสอบเข้าโรงเรียนอื่นได้

ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายว่า อยากให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั้ง 282 แห่งสอบก่อน

แต่ที่ประชุมเห็นว่า ในปีการศึกษา 2562 ควรเริ่มที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาก่อน เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และเด็กสอบเข้าไม่ได้จำนวนมาก

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เห็นชอบในหลักการ ส่วนกรณีให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดสอบรับนักเรียนชั้น ม.4 ก่อนโรงเรียนทั่วไปนั้น เจ้ากระทรวงมองว่ายังไม่เห็นผลดีผลเสีย ฟังดูไม่มีข้อเสีย เพราะนักเรียนมีโอกาสเข้าลองสนามสอบก่อน

ส่วนว่าจะทำให้เงินสะพัดเข้าโรงเรียนมากกว่าเดิมเนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงซึ่งมีเด็กอยากเรียนมากนั้น ยังไม่เห็นปัญหา เพราะยังไม่ได้เริ่ม จึงยังไม่รู้ผลดีผลเสีย

แต่จะมอบให้นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.ศึกษาผลดีผลเสียเพิ่มเติม

 

ขณะที่นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. เผยว่า นโยบายของ นพ.ธีระเกียรตินั้น อยากให้โอกาสเด็กที่เก่งจริงแต่ครอบครัวยากจนได้มีโอกาสสอบคัดเลือกด้วย โดย สพฐ.จะประสานไปยังโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ยกเว้นค่าสมัครสอบให้แก่เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือให้ผู้อำนวยการโรงเรียนเซ็นรับรองว่ายากจนจริงแล้วให้โรงเรียนสนับสนุนค่าเดินทางมาสอบแก่กลุ่มเด็กที่โรงเรียนรับรองว่าเก่ง เรียนดี เกรดสูง เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และให้โอกาสเด็กยากจน

ส่วนเด็กอื่นๆ ถ้าอยากเข้าสอบด้วยก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนที่ว่าจะมีเงินสะพัดไปที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้น ไม่มีใครติดใจเรื่องนี้

สำหรับระยะเวลาการจัดสอบก่อนนั้น จะไม่ห่างจากการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.4 ของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงอื่นๆ มากนัก ซึ่งเด็กที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้แล้ว จะไม่มีสิทธิไปสอบเข้าเรียนที่อื่นอีก สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำปฏิทินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2562 โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด

“สำหรับแนวคิดของ กพฐ.ที่จะขยับเวลาการรับนักเรียนเร็วขึ้นนั้น นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน กพฐ.ไม่ได้บอกว่าจะต้องดำเนินการในปีการศึกษา 2562 เพียงแต่มอบให้ สพฐ.คิดว่าจะขยับเวลาการรับนักเรียนให้แล้วเสร็จเร็วขึ้นในปีต่อๆ ไป ซึ่ง สพฐ.ต้องมาคิดว่าจะทำให้เร็วขึ้นได้แค่ไหน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องทั้งระบบไม่ว่าจะเป็น สทศ.ว่าคิดเห็นอย่างไร เนื้อหาที่จะสอบถ้าเร็วขึ้นอีก 2 เดือน เด็กกำลังเรียนถึงไหน และจะสอบอย่างไร ซึ่งการขยับเร็วขึ้น ทุกฝ่ายต้องเห็นว่าเป็นประโยชน์ถึงจะขยับ”

นายบุญรักษ์กล่าว

 

ด้านนายภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า การขยับช่วงเวลารับนักเรียนจากเดิมให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม เพื่อให้ผู้ปกครองหาที่เรียนให้นักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 อาจมีข้อเสีย คือจะกระทบตารางจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนหากเลื่อนเวลารับนักเรียนเร็วขึ้น จึงต้องวางแผนจัดการระบบให้ดี

ส่วนที่ให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดสอบก่อน มองว่าไม่มีข้อเสีย มีข้อดีคือเด็กสามารถทดลองเข้าสอบก่อน หากเด็กพลาดจะมีโอกาสหาที่เรียนในโรงเรียนอื่นได้ โรงเรียนสามารถคัดช้างเผือกเข้าเรียน เพื่อพัฒนาให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ

ส่วนเรื่องเงินที่โรงเรียนได้จากค่าสมัครสอบนั้นไม่น่าเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากเงินที่ได้จากการสมัครสอบเหล่านี้เป็นค่าจัดการสอบ และมองว่า สพฐ.ไม่เอื้อประโยชน์ให้โรงเรียนแต่อย่างใด แต่ต้องกำหนดเกณฑ์กลาง คุณสมบัติผู้สมัครสอบให้ดี คะแนนเฉลี่ยต้องเท่าไหร่จะสมัครสอบได้ เป็นต้น นักเรียนที่คะแนนไม่ถึง จะได้ไม่เสียเวลาสมัครสอบ

หลักเกณฑ์การรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ปีการศึกษา 2562 ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก หลักๆ ที่เปลี่ยนคือเปิดทางให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจัดสอบเร็วกว่าโรงเรียนอื่นๆ

ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ การขยับกระบวนการการรับนักเรียนชั้น ม.1 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมจากเดิมเดือนมีนาคม ก็อยู่ระหว่างรอข้อสรุป ฉะนั้น แนวโน้มการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ของโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2562 น่าจะเรียบร้อย ด้วยว่ามีการเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ คงไม่วุ่นวายเหมือนปีที่แล้วอีก

ยกเว้นปัญหาผู้ปกครองแย่งส่งลูกเข้าโรงเรียนดังซึ่งเป็นปัญหาโลกแตก จะหมดไปได้ ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน