สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูอินโดนีเซียกับการสร้างห้องเรียนเชื่อมโลกทั้งใบ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครูต่อยอด Global Classroom

เสร็จภารกิจจากกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงเข้ามาจับมือแสดงความยินดีกับครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ อินโดนีเซียทั้งสองคนด้วยความชื่นชมที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศและช่วยพัฒนาวงการศึกษา โดยเฉพาะพัฒนาครูเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ บอกลาเพื่อไปทำภารกิจต่อตามนัด ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงจาการ์ตา คุณธิดา สุขีลาภ อัครราชทูต รออยู่แล้ว

ประธานมูลนิธิเล่าถึงความร่วมมือด้านการศึกษา ภาษาและวัฒนธรรม ระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย ส่งครูไปสอนภาษาในโรงเรียนไทย จะขยายความร่วมมือจากการศึกษาพื้นฐานลงไปถึงเด็กเล็กและอุดมศึกษา เพื่อให้ครูเราได้รู้โลกอนาคต จะได้บอกเด็กได้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร เช่น Digital Economy มูลนิธิพาครูไปพม่า ได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต มีความรู้เพิ่มพูน เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

“ครูระดับต่างๆ 300 คน มีโอกาสพัฒนาเป็นครูรุ่นใหม่ ชวนมหาวิทยาลัยให้มาทำกิจกรรมกับครู ครูต่างประเทศอยากมาเรียนรู้ประเทศไทย ครูบูรไน ครูเขมรมาศึกษาการจัดการห้องเรียน ขณะเดียวกันก็เชิญครูต่างประเทศมาพูดให้ครูไทยฟัง เพื่อเรียนรู้เพื่อนบ้าน ศึกษาร่วมกัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์เขียนหนังสือ ถอดบทเรียน เผยแพร่ ช่วยเหลือมูลนิธิ”

คุณธิดาบอกว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทยทำโครงการ SCG Sharing the Dream ในอินโดนีเซีย ให้ทุนเด็กมัธยม โรงเรียนที่อยู่รอบพื้นที่ตั้งโรงงาน 400 ทุน ปีนี้ขยายถึงระดับปริญญาตรี 30 ทุน มีนักศึกษาไทยมาเรียนที่อินโดนีเซีย โดยส่งผ่านมาทาง ศอบต. ปีก่อน 35 คน ส่วนใหญ่มาเรียนวิชาศาสนา 80% อยากให้เรียนสาขาอื่นบ้าง กลัวกลับไปไม่มีงานทำ วิชาที่เป็นภาษาอังกฤษยังมีปัญหาไม่เข้มแข็ง

เสียดายผู้แทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้มาร่วมวงสนทนา ประธานมูลนิธิเสนอว่า นอกจากให้ทุนเด็กนักเรียนแล้วขอให้พาเด็กไปดูงาน ดูโรงงาน ตามความพร้อม

 

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นองค์ประธานอีกมูลนิธิหนึ่งคือ มูลนิธิเทคโนโลยี หรือมูลนิธิไอซีที มีพื้นที่ทำงานอยู่หลายจุดรวมทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ ที่ผ่านมาทำความร่วมมือกับจีน เยอรมนี ไอร์แลนด์ แลกเปลี่ยนนักเรียน ต่อไปอาจทำงานเสริมกันในพื้นที่ภาคใต้ เปิดความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกับอินโดนีเซีย ให้โรงเรียนในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระเทพฯ ในประเทศต่างๆ มาคุยกัน ร่วมกันสร้างครูที่มีโลกทัศน์”

“ขณะนี้ไทยเราเกิดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ให้การสนับสนุนครูไปทำกิจกรรมต่างๆ กระทรวงศึกษาฯ อินโดนีเซียบอกอยากแลกเปลี่ยนทั้งนักเรียนและครู จัดได้หลายแบบ ประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งผู้บริหาร และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ไปสอนในโรงเรียนภาคใต้ หรือสอนออนไลน์ ครูเฮอร์วินที่ได้รางวัลคนแรก ไปสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คนที่สองถนัดการเขียน การอ่านภาษาอินโดนีเซีย โดยศูนย์ซิมิแลคที่อินโดนีเซียสนับสนุนการถ่ายทอด อบรมครูผ่านออนไลน์ ส่วนครูไซนุดดินจากมาเลเซียก็ข้ามแดนมาร่วม เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างโรงเรียน Global Classroom เด็กคนละภาษาทำโครงการร่วมกันได้ มีคอมพิวเตอร์ช่วย ใช้ไอทีเชื่อมโยงการเรียนรู้ด้วยกัน ได้ทั้งเด็กไทยและต่างประเทศ” ประธานมูลนิธิย้ำ

วงสนทนาดำเนินไปอย่างมีรสชาติ จนถึงเวลาสัมมนาย่อย Mini Seminar Indonesian PMCA Awardees The Quality of Education depend on the Quality of teacher เพื่อให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ อินโดนีเซีย 2 คน และมาเลเซีย 1 คน เล่าสิ่งที่เขาทำหลังจากได้รับรางวัลพระราชทานแล้ว ต่อยอดงานอย่างไรและชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไร ทำให้ต่างภาคภูมิใจ

มีขวัญและกำลังใจที่จะเดินหน้าทำดีเพื่อเด็ก เพื่อเพื่อนครู เพื่อวงการศึกษาของประเทศและระหว่างมิตรประเทศอาเซียนทั้ง 11 ชาติร่วมกันต่อไป

 

ผู้เข้าร่วมเวทีเป็นผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) Dr.Gatot Priowirjanto ผอ.ซีมีโอ กทม. Dr.Abi Sujak M Sc ผอ.ซีมีโอ อินโดนีเซีย ผอ.ศูนย์การเรียนรู้ระดับภูมิภาค ด้านการเรียนทางไกล ด้านชีววิทยาเขตร้อน ด้านการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาคณิตศาสตร์ ภาษา วิทยาศาสตร์ ด้านการศึกษาเด็กปฐมวัย ผู้แทนองค์การยูเนสโก ผู้แทนกระทรวงศึกษาและวัฒนธรรม และสื่อมวลชนอินโดนีเซีย โดยเชิญอัครราชทูตไทยกล่าวเปิด

“กิจกรรมการเสวนาย่อยจัดขึ้นที่สถานทูต เรายินดีเป็นส่วนหนึ่งในงานของมูลนิธิตั้งแต่ปี 2015 การศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ การเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในระดับปัจเจกบุคคลการศึกษาช่วยให้เกิดการจ้างงาน การเลี้ยงชึพ ส่งเสริมสุขภาวะ ลดความยากจน สำหรับสังคม การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว เกิดนวัตกรรมใหม่ ความเข้มแข็งของสถาบันต่างๆ ทำให้เกิดการลงทุน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”

“ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาครูรุ่นใหม่ทั้งด้านความสามารถและทักษะจึงเป็นความสำคัญ จะต้องตระหนักถึงภารกิจ ความเสียสละอุทิศให้ของครูผู้ประสบผลสำเร็จ มีผลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กและเป็นแรงบันดาลใจให้กับครูคนอื่นๆ” คำกล่าวเปิดสัมมนาจบลง พร้อมเสียงปรบมือทั่วห้อง ก่อนที่ครู Herwin Hamid จะขึ้นเวทีเป็นคนแรก

อายุ 39 ปี สอนหนังสือมา 13 ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าหมวดวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมัธยมต้น เขาเล่าว่า หลังได้รับรางวัล ชีวิตเปลี่ยนไปเหมือนดารา บทบาทเป็นไปตามหัวข้อบรรยายที่เขาตั้งไว้ เป็นทั้ง Instructor Presentor และ Speaker

นอกจากสอนนักเรียนตามปกติที่โรงเรียนแล้ว ยังได้รับเชิญไปสอน ไปบรรยายหลากหลายหัวข้อ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้ไอซีทีในห้องเรียน โปรแกรมสำหรับการศึกษาวิชาชีพ การเรียนและคอมพิวเตอร์กับ Smart City, Stem integrated, Computer Digital Literacy Learning, Developing Mobile Learning ฯลฯ ในเวทีประชุมวิชากาiระหว่างประเทศ จนได้รับเลือกเป็น 1 ใน 72 คนที่ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียปี 2017 (National Icon of Achievement) เป็นคนเดียวทางด้านการศึกษา ที่ได้รับเชิญไปร่วมรายการสัมภาษณ์ทีวีท้องถิ่นและระดับประเทศ ทำให้เป็น Icon Indonesia สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและครูคนอื่นๆ อีกมาก

“การสอนคนเป็นชีวิตของผม ผมมองว่าอนาคตของโลกอยู่ในมือครู 20-30% ของประชากรโลกเป็นนักเรียน แต่เป็น 100% ของอนาคตของพวกเรา อย่างที่บอกว่าอนาคตของโลกอยู่ในมือครู ผมมองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่สำคัญที่สุดบนโลกใบนี้” ครูเฮอร์วิน เคยพูดไว้เมื่อคราวเดินทางมารับพระราชทานรางวัลแห่งเกียรติยศของความเป็นครู

วันนี้ครูยังเดินบนเส้นทางเดิมอย่างหนักแน่น มั่นคง และมีกำลังใจต่อไป