ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 ตุลาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
หกตุลารำลึก (2) รัฐและสงครามปฏิวัติไทย
“สงครามใดๆ ที่เป็นธรรมและปฏิวัติ พลังของมันนั้นใหญ่ยิ่งนัก” ประธานเหมาเจ๋อตุง
หากพิจารณาจากมุมมองเปรียบเทียบแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่ารัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 นำพารัฐบาล “ขวาจัด” ก้าวสู่อำนาจ
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 ก็พา “ขวาปฏิรูป” ขึ้นเป็นรัฐบาล
รัฐบาลฝ่ายขวาทั้งสองมีทิศทางการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ในขณะที่รัฐบาลขวาจัดต้องการกวาดล้างจับกุม “ฝ่ายซ้าย” อันมีนัยที่หมายถึงผู้ที่มีความคิดทางการเมืองที่เอียงไปทางสังคมนิยม
แต่รัฐบาลขวาปฏิรูปกลับพยายามแสวงหาแนวทางใหม่ในการเอาชนะพวกฝ่ายซ้าย
ในที่สุดแล้วรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร 2520 ได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการกำหนดทิศทางการเมืองที่ถอยประเทศออกจากการครอบงำของนโยบายแบบขวาจัด นิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาคม 2519 ในเดือนกันยายน 2521 เป็นจุดเริ่มต้นที่บ่งบอกถึงการกำเนิดของ “นโยบายใหม่” ที่ทิศทางการต่อสู้ของฝ่ายรัฐจะไม่ใช้มาตราการแบบขวาจัด ที่เน้นอยู่กับ “การกวาดล้างจับกุม” ในเมือง พร้อมกับ “การค้นหาและทำลาย” ในชนบท
ซึ่งวิธีการเดิมเช่นนี้กำลังถูกท้าทายอย่างมากหลังจากความพ่ายแพ้ของรัฐอินโดจีนทั้งสาม
และเห็นได้ชัดว่าหลังจากการล้อมปราบครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม สงครามปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ขยายตัวมากขึ้นในชนบทไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน…
จากปลายปี 2519 ต่อเข้าปี 2520 มีผู้คนเดินทางเข้าสู่ชนบทประกาศร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง
ปิดคดี-ปรับนโยบาย
ภายใต้แรงกดดันของสงครามคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวมากขึ้นในชนบทนั้น การปรับนโยบายใหม่กลายเป็นความจำเป็นในตัวเอง
บทเรียนสำคัญจากความพ่ายแพ้ในอินโดจีนคือ ยิ่งขวา…ยิ่งแพ้ ขวามากเท่าใด…ก็แพ้มากเท่านั้น
การปรับนโยบายใหม่จึงเริ่มต้นด้วยนิรโทษกรรม
และจำเป็นต้องทำแบบ “เหมาเข่ง” คือนิรโทษแบบที่ครอบคลุมทุกฝ่าย
แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายส่วนอาจจะรู้สึกรับไม่ได้ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยในปีกซ้ายมองว่า นิรโทษกรรมดังกล่าวเป็นดังการปิดคดีแบบที่ไม่มีโอกาสที่จะรื้อฟื้นคดีกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อีก
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยในปีกขวาเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่อ่อนแอ และอาจทำให้นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายได้ใจและนำไปสู่การเคลื่อนไหวในเมือง
แต่นิรโทษกรรมครั้งนี้คือการ “ปิดคดี” ในตัวเองในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองแล้ว สิ่งนี้คือการส่งสัญญาณถึงการปรับนโยบายของรัฐไทย
ดังนั้น หากมองจากบริบทสงครามของรัฐไทยแล้ว นิรโทษกรรมคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปรับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อันเป็นการเผชิญหน้ากับสงครามที่มีความท้าทายอย่างมาก
ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลนิยมตะวันตกในอินโดจีนในปี 2518 เป็นรูปธรรมของชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์
และเป็นคำตอบอย่างมีนัยสำคัญกับรัฐไทยว่า หากดำเนินยุทธศาสตร์ผิดพลาดแล้ว ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลนิยมตะวันตกที่กรุงเทพฯ จะเกิดซ้ำรอยกับการล้มลงของรัฐบาลอินโดจีนทั้งสามประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเป็นไปตามคำเตือนของซุนวูว่า “สงครามเป็นเรื่องที่เป็นความเป็นความตายของรัฐ” เสมอ… ถ้าชนะ รัฐรอด ถ้าแพ้ รัฐตาย!
แน่นอนว่าสัจธรรมแห่งสงครามชุดนี้โหดร้ายและตรงไปตรงมา และมีการพังทลายของรัฐบาลในอินโดจีนเป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนให้ผู้นำทหารไทยได้ใคร่ครวญ
โดมิโนล้มแล้วในอินโดจีน!
หลังการล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว สงครามปฏิวัติดำเนินไปอย่างคึกคัก และขยายตัวอย่างกว้างขวาง
จนนักสังเกตการณ์หลายคนเฝ้ามองสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยด้วยความเป็นห่วงว่า
สงครามนี้อาจจะจบลงเช่นในอินโดจีน
สภาวะเช่นนี้ทำให้หลายๆ คนหวนคิดถึงคำอธิบายในช่วงต้นสงครามเย็นของผู้นำสหรัฐ โดยการเปรียบการพ่ายแพ้สงครามคอมมิวนิสต์เป็นดังการล้มตามกันของเกม “โดมิโน” (the falling domino)
คำอธิบายนี้ถูกสร้างให้เป็นดังทฤษฎี (The Domino Theory) และปรากฏตัวทางความคิดครั้งแรกในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (NSC) ของสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2493
ต่อมาประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ในเดือนเมษายน 2497 ได้กล่าวตอกย้ำว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ก็จะส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไป
เสมือนกับการล้มลงของตัวโดมิโน ที่เป็นของเล่นที่เด็กๆ ในสังคมตะวันตกที่นำมาเรียงต่อและผลักให้ “ล้มลงตามกัน”
ประเด็นสำคัญของการอธิบายในเชิงภาพพจน์ก็คือ การล้มลงตามกัน
การเปรียบเชิงภาพพจน์เช่นนี้มีความเป็นรูปธรรมในการทำความเข้าใจอย่างมากว่า ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดในภูมิภาคเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ประเทศอื่นในภูมิภาคก็จะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไป
ชุดของคำอธิบายเช่นนี้มีพลังอย่างมาก เพราะเป็นวาทกรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนการการกำหนดนโยบายความมั่นคงของสหรัฐ
และในถ้อยแถลงต่อมาของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ในปี 2497 ได้ขยายคำอธิบายว่า หากประเทศหนึ่งประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ก็ทำให้ภูมิภาคนี้ทั้งหมดเป็นคอมมิวนิสต์
อีกทั้งจะทำให้ทั้งอินเดียและญี่ปุ่นกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย และสุดท้ายภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็จะมุ่งหน้าสู่ยุโรป
วาทกรรมนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลทางความคิดอย่างมากต่อผู้นำในโลกตะวันตกให้หวาดกลัวต่อการขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์เท่านั้น
หากแต่ยังมีผลอย่างมากกับบรรดาผู้นำในเอเชียที่ต้องเผชิญกับปัญหาคอมมิวนิสต์ในบ้านของตนเอง อันส่งผลให้การต่อสู้กับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในฐานะของ “สงครามภายใน” ของประเทศเหล่านี้เป็นโจทย์ความมั่นคงที่สำคัญในยุคสงครามเย็น
และอธิบายอย่างให้เห็นภาพพจน์ว่า การล้มลงของประเทศใดก็ตามจะส่งผลต่อประเทศข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเป็นคอมมิวนิสต์ตามกัน หรืออาการล้มลงตามกันนั่นเอง
ทฤษฎีโดมิโนเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพาสหรัฐเข้าสู่สงครามเวียดนาม
โดยผู้นำสหรัฐตัดสินใจเข้าแบกรับภาระด้านความมั่นคงแทนฝรั่งเศส
และเมื่อเวียดนามถูกแบ่งออกเป็นเหนือและใต้ในปี 2498 แล้ว สหรัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อรัฐบาลเวียดนามใต้ในขณะนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ “โดมิโน” เริ่มล้มลงเป็นจุดแรกในเวียดนาม
แต่กระนั้นโดมิโนก็ล้มลงทั้งสามตัวในอินโดจีนในปี 2518
และเป็นการล้มที่ส่งผลสะเทือนทางจิตวิทยาอย่างมากกับผู้นำไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดจีนกำลังบอกถึงการล้มลงจริงๆ ที่ไม่ใช่เพียงการล้มตามคำอธิบายในทางทฤษฎี
โดมิโนไทยจะล้มหรือไม่?
ถ้าไทยแพ้สงครามคอมมิวนิสต์ เราจะเป็น “โดมิโนตัวที่สี่” ของการล้มตามกันที่เกิดขึ้นหลังจากการล้มของโดมิโนทั้งสามตัว
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการพิสูจน์ถึงความถูกต้องของ “ทฤษฎีโดมิโน” ที่ผู้นำของรัฐบาลอเมริกันได้สร้างขึ้น
แม้ทฤษฎีจะถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างวาทกรรมแห่งความกลัวของยุคสงครามเย็น
แต่อย่างน้อยการล้มลงของโดมิโนในปี 2518 ได้สร้างความกังวลอย่างมากว่า นับจากนี้โดมิโนน่าจะล้มที่ไทยหรือไม่
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ทฤษฎีนี้กำลังถูกพิสูจน์ด้วยความท้าทายกับ “ความอยู่รอด” ของรัฐไทย
สมมติถ้าโดมิโนตัวที่สี่ล้มลงจริงตามการคาดการณ์ทางทฤษฎีแล้ว ก็ตอบได้ทันทีด้วยเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า สงครามคอมมิวนิสต์ชุดใหม่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่คาบสมุทรมลายาอีกครั้ง
หลังจากชัยชนะที่อังกฤษสามารถควบคุมสงครามชุดนี้ได้มาแล้ว ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะฉุกเฉินในมลายา” ซึ่งเรื่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2491 (เหตุการณ์ชุดนี้จบลงในปี 2503) และน่าคิดอย่างมากว่า ถ้าเป็นไปในทิศทางเช่นนี้แล้ว ความสำเร็จของอังกฤษเช่นในอดีตจะเป็นความสำเร็จของรัฐบาลมาเลเซียหรือไม่
เพราะหากโดมิโนล้มที่กรุงเทพฯ จริงแล้ว โมเมนตัมของสงครามคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคจะทวีแรงขับเคลื่อนอย่างมาก
และแน่นอนว่าเราคงเห็นการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่เป็นพรรคเก่าแก่ในภูมิภาคนี้อีกครั้ง
และคาดเดาต่อได้ว่าสงครามปฏิวัติจะขยายตัวเข้าสู่พื้นที่ของพม่าอย่างแน่นอน
และอาจทำให้เราเห็นบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเช่นกันด้วย
จนเราอาจคาดคะเนทิศทางการสงครามได้ว่า ถ้าโดมิโนล้มต่อเป็นครั้งที่สี่ในไทยแล้ว ก็อาจนำไปสู่สงครามคอมมิวนิสต์ในระดับภูมิภาคได้แน่นอน
แต่สงครามไม่ได้เคลื่อนตัวไปในทิศทางตามความต้องการทางอัตวิสัยของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
สงครามเคลื่อนไหวไปตามสภาวะที่เป็นจริงของสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่างหาก
ภายใต้สถานการณ์แรงกดดันของสงครามคอมมิวนิสต์ทำให้ทหารบางส่วนเริ่มมีมุมมองที่ต่างออกไปจากผู้นำทหารแบบเก่า
พวกเขาเริ่มยอมรับว่าจินตนาการและวิสัยทัศน์เดิมไม่เพียงพอที่เอาชนะสงครามในขณะนั้นได้
ด้านหนึ่งพวกเขาเห็น “พลังประชาชน” จากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ก็หวาดกลัวพลังเช่นนั้น จนต้องทำลายด้วยความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
การทำลายล้างในวันที่ 6 ตุลาคม กลับเป็นผลลบต่อสถานการณ์สงครามภายในของรัฐไทยโดยตรง
สงครามคอมมิวนิสต์ไทยหากเปรียบเทียบกับสงครามในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไม่ใช่สงครามใหญ่และไม่มีลักษณะของการขยายตัว
แต่หลังเหตุการณ์ปี 2519 สงครามกลับมีแนวโน้มที่น่ากลัว และทำท่าจะไปในทิศทางเดียวกับสงครามที่ฝ่ายรัฐบาลนิยมตะวันตกพ่ายแพ้มาแล้วในอินโดจีน
สภาวะสงครามเช่นนี้จึงเป็นแรงกดดันอย่างมากต่อชนชั้นนำและผู้นำทหารของไทย นโยบายและยุทธศาสตร์เก่าที่ใช้ “การทหารนำการเมือง” และดำเนินการด้วยเข็มมุ่งหลักสองประการคือ “ค้นหาและทำลาย” ในชนบท และ “กวาดล้างจับกุม” ในเมือง
ด้วยความหวังว่าเข็มมุ่งสองประการนี้จะนำรัฐไทยไปสู่ชนะ
แต่ผลพวงจากเหตุการณ์ปี 2519 กลับส่งสัญญาณถึงทิศทางตรงข้าม
นโยบายและยุทธศาสตร์เก่ากำลังเป็นปัจจัยหลักของความพ่ายแพ้ และชัยชนะของสงครามเช่นเดียวกันนี้กำลังเดินทางมาเคาะประตูหน้าบ้านของไทย…
ชนบทกำลังล้อมเมืองจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องของคำพูด
สงครามของพรรคพี่น้อง
ในขณะที่สงครามภายในของไทยกำลังทวีความเข้มข้นมากขึ้น สถานการณ์สงครามอีกชุดหนึ่งก็ก่อตัวขึ้นคู่ขนานกัน และกลายเป็นปัญหาทางทฤษฎีให้ต้องขบคิด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง?
สงครามระหว่างพรรคพี่น้องจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า เมื่อต่างร่วมกันต่อสู้ในสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยม… ต่างหนุนช่วยต่อกันมา จนได้รับชัยชนะในปี 2518
แต่ในที่สุดแล้วสงครามระหว่างพรรคพี่น้องก็เกิดขึ้นจากการบุกกัมพูชาของเวียดนามในตอนต้นปี 2522
แน่นอนว่าปมความขัดแย้งและขยายตัวจนเป็นสงครามเช่นนี้จึงไม่อาจตอบได้ด้วยทฤษฎีของลัทธิสังคมนิยม หรือว่าทฤษฎีปฏิวัติที่เคยถูกสร้างให้เป็นภาพอย่างสวยหรู เริ่มบ่งบอกถึงความไม่เป็นจริง
ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามและกัมพูชาเกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังจากความสำเร็จของการปฏิวัติ มีการปะทะทางบกและทางทะเลมาตลอดระหว่างปี 2518 จนถึงปี 2521
จนในที่สุดเวียดนามตัดสินใจเปิดสงครามเต็มรูปแบบในวันที่ 25 ธันวาคม 2521 อันนำไปสู่การล้มรัฐบาลเขมรแดง สงครามและการยึดครองกัมพูชากลายเป็น “ปัจจัยใหม่” ทั้งกับสงครามปฏิวัติไทยและปัญหาความมั่นคงแห่งชาติไทยพร้อมกัน และในวันที่ 8 มกราคม 2522 รัฐบาลนิยมเวียดนามก็ถูกจัดตั้งขึ้นที่พนมเปญ
รัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์หลังจากต้นปี 2522 จึงต้องพยายามอย่างมากในการปรับยุทธศาสตร์และนโยบายในการต่อสู้กับสงครามทั้งจากภายนอกและภายใน กล่าวคือ รัฐไทยต้องเผชิญกับสงครามภายนอกจากเวียดนาม
และขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับสงครามภายในที่ขยายตัวอย่างมากหลังตุลาคม 2519 สงครามในภาวะเช่นนี้ท้าทายรัฐบาลเกรียงศักดิ์อย่างไร ก็ท้าทายคนเดือนตุลาที่เข้าร่วมในสงครามปฏิวัติไม่แตกต่างกัน
สำหรับคนเดือนตุลาแล้ว โลกกำลังพลิกไปอย่างคาดไม่ถึง
เราจะตอบคำถามทางทฤษฎีอย่างไรกับสงครามระหว่างพรรค
ทั้งสองพรรคต่างมีส่วนหนุนช่วยสงครามปฏิวัติไทย
ถ้าเช่นนั้นเราควรจะเลือกยืนอย่างไร
อีกทั้งหากรัฐบาลไทยตัดสินใจเลือกอย่างไรในความขัดแย้งนี้ ผลที่เกิดขึ้นจะกระทบการปฏิวัติไทยหรือไม่
แน่นอนว่า สำหรับนักปฏิวัติในเดือนตุลาแล้ว เราตอบคำถามเหล่านี้ได้น้อยมาก และขณะเดียวกันก็นึกไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้น และนึกไม่ถึงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะกระทบกับชีวิตของพวกเราอย่างใหญ่หลวงในเวลาต่อมา
และเราก็ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจกับสิ่งเหล่านี้ด้วย!