จักรวรรดิในกำแพง : ใต้หล้ารวมกันแล้วแยกกัน “ใครเป็นใครในยุค 16 รัฐ”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ (ต่อ) 

จากนี้ไปจะได้อธิบายแต่ละรัฐใน 16 รัฐของแต่ละชนชาติให้เข้าใจตามสมควร

ในขณะเดียวกันก็จะแทรกรายละเอียดบางเรื่องในบางรัฐที่สำคัญตามสมควร

ดังนี้

 

รัฐเฉียนเจ้า

เฉียนเจ้า (เจ้าสมัยแรก, Former Zhao, ค.ศ.304-329) เป็นรัฐของซย์งหนู แรกตั้งรัฐจะถูกเรียกว่าฮั่นเจ้า ผู้ก่อตั้งคือหลิวยวน (มรณะ ค.ศ.310) ระยะแรกมีเมืองหลวงอยู่ที่อื่น จากนั้นจึงย้ายมาที่ฉังอัน

ดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า บรรพชนของหลิวยวนมีเชื้อสายฮั่นจึงได้เปลี่ยนสกุลซย์งหนูเดิมของตนมาเป็นหลิว ชนรุ่นหลังต่อมาจึงใช้สกุลหลิวเรื่อยมา

เฉียนเจ้าหลังยุคหลิวยวนไปแล้วมีการแย่งชิงอำนาจภายในระหว่างเครือญาติ และมีผู้นำเพียงสี่รุ่นก็ถูกโค่นล้มโดยรัฐโฮ่วเจ้า ผู้นำของรัฐโฮ่วเจ้ามีชื่อว่าสือเล่อ อดีตขุนศึกของเฉียนเจ้า สือเล่อมีภูมิหลังเป็นโจร ต่อมาได้ยอมจำนนแก่หลิวยวนและเป็นขุนศึกให้แก่เฉียนเจ้า

เขาทำหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี จนใน ค.ศ.317 ได้เกิดกบฏขึ้นภายในรัฐ เขากับเครือญาติคนหนึ่งของหลิวยวนชื่อหลิวเย่า (มรณะ ค.ศ.329) ร่วมกันปราบกบฏได้สำเร็จ จากนั้นหลิวเย่าก็ขึ้นเป็นผู้นำเฉียนเจ้า หลิวเย่านี้เองที่เปลี่ยนชื่อรัฐเดิมจาก “ฮั่น” มาเป็นชื่อใหม่ว่า “เจ้า”

พอถึง ค.ศ.318 เขาจึงตั้งตนเป็นกษัตริย์

ไม่นานหลังจากนั้นหลิวเย่าเกิดหวาดระแวงว่าสือเล่อจะแย่งชิงอำนาจไปจากตน หลิวเย่ากับสือเล่อจึงเกิดขัดแย้งกัน จนเป็นเหตุให้สือเล่อแยกตัวไปตั้งรัฐโฮ่วเจ้าขึ้นมา และด้วยกำลังที่เหนือกว่าของสือเล่อ ทัพโฮ่วเจ้าของเขาจึงบุกเข้าโค่นล้มเฉียนเจ้าจนล่มสลายใน ค.ศ.319

 

รัฐโฮ่วเจ้า

โฮ่วเจ้า (เจ้าสมัยหลัง, Later Zhao, ค.ศ.319-351) มีเย่เป็นเมืองหลวง ซึ่งในปัจจุบันคืออำเภอหลินจังในมณฑลเหอเป่ย ผู้ก่อตั้งคือสือเล่อ (ค.ศ.274-333) ซึ่งเป็นชนชาติเจี๋ย รัฐนี้จึงเป็นรัฐของชนชาติเจี๋ย ด้วยพื้นฐานที่เป็นผู้มีความสามารถสูง สือเล่อจึงปกครองโฮ่วเจ้าอย่างสงบได้ยาวนานถึง 20 ปี แต่หลังยุคสือเล่อไปแล้วเครือญาติของเขาก็แย่งชิงอำนาจกันเอง

จนใน ค.ศ.351 โฮ่วเจ้าจึงถูกโค่นล้มโดยขุนศึกของตนที่ชื่อหญันหมิ่น (มรณะ ค.ศ.352) รวมเวลาที่โฮ่วเจ้าเรืองอำนาจ 32 ปี ส่วนหญันหมิ่นนั้นภายหลังโค่นล้มโฮ่วเจ้าแล้วก็ตั้งรัฐหญั่นเว่ยขึ้นมา แต่รัฐนี้ตั้งอยู่ได้เพียงสามปีก็ถูกโค่นโดยรัฐเฉียนเอียน

รัฐหญั่นเว่ยจึงเป็นรัฐที่มีอายุสั้นที่สุด และไม่ถูกจัดอยู่ในสิบหกรัฐ

 

รัฐเฉียนเอียน

เฉียนเอียน (เอียนสมัยแรก, Former Yan, ค.ศ.337-370) เป็นรัฐของชนชาติเซียนเปย รัฐนี้ย้ายเมืองหลวงอยู่หลายครั้ง จนเมื่อโค่นล้มรัฐหญั่นเว่ยใน ค.ศ.351 แล้วจึงใช้เมืองเย่เป็นเมืองหลวงของตนในที่สุด กล่าวอีกอย่างคือ เมืองหลวงล่าสุดถูกตั้งขึ้นหลังจากที่รัฐนี้ตั้งขึ้นแล้วสิบกว่าปี

บรรพชนของรัฐนี้เริ่มปรากฏบทบาทตั้งแต่ยุคสามรัฐ โดยเป็นขุนศึกของซือหม่าอี้และมีผลงานดีเด่นจนมีความดีความชอบ และด้วยเหตุที่ใช้ชีวิตซึมซับวัฒนธรรมของชาวฮั่นมานาน บรรพชนของชนชาตินี้จึงเปลี่ยนสกุลมาเป็นมู่หญง และเมื่อสกุลซือหม่าตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตกขึ้นแล้ว บุคคลในสกุลมู่หญงก็ยังคงรับราชการอยู่ในราชวงศ์นี้เรื่อยมา

จนเมื่อเกิดวิกฤตการณ์แปดกษัตริย์ขึ้นแล้ว บุคคลในสกุลมู่หญงจึงได้ตั้งตนเป็นใหญ่ โดยผู้นำคนแรกของรัฐนี้คือมู่หญงฮ่วง (ค.ศ.297-348) แต่หลังจากที่มู่หญงฮ่วงเสียชีวิตใน ค.ศ.348 บุตรชายของเขาคือมู่หญงจวิ้น ได้เป็นผู้นำคนต่อมา

และหลังจากที่มู่หญงจวิ้นเสียชีวิตไปใน ค.ศ.360 แล้ว เฉียนเอียนก็เกิดความขัดแย้งกันในหมู่เครือญาติด้วยกันเอง ในระหว่างนี้มีเครือญาติคนหนึ่งคือมู่หญงป้า หนีไปสวามิภักดิ์เฉียนฉิน

หลังจากนั้นเฉียนฉินก็ยกทัพเข้าตีเฉียนเอียนจนล่มสลายใน ค.ศ.370

 

รัฐเฉียนฉิน

เฉียนฉิน (ฉินสมัยแรก, Former Qin, ค.ศ.351-394) เป็นรัฐของชนชาติตี มีเมืองหลวงคือฉังอัน รัฐนี้ตั้งขึ้นโดยผู้นำชื่อฝูหง (ค.ศ.284-350) แรกที่ตั้งตนเป็นใหญ่นั้นรัฐนี้หาได้มีความเข้มแข็งไม่ ด้วยเคยพ่ายแพ้ให้แก่เฉียนเจ้าและโฮ่วเจ้ามาก่อน

แต่หลังจากโฮ่วเจ้าล่มสลายไปแล้ว ฝูหงจึงคิดที่จะครอบครองดินแดนกวานจง แต่เขาถูกวางยาพิษโดยขุนศึกของตนจนเสียชีวิตไปก่อน บุตรชายของเขาคือฝูเจี้ยน (ค.ศ.317-355) จึงฆ่าขุนศึกผู้นี้แล้วสืบทอดอำนาจต่อจากบิดาของตน จากนั้นฝูเจี้ยนจึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ฉังอัน

ฝูเจี้ยนสานต่อเจตนารมณ์ของบิดาด้วยการยึดดินแดนกวานจงได้สำเร็จ ปฏิบัติการครั้งนี้มีพี่ชายของเขาคือฝูสย์ง เป็นขุนศึกคนสำคัญ และด้วยความดีความชอบนี้เขาจึงตั้งฝูสย์งให้เป็นกษัตริย์รัฐตงไห่ ครั้นฝูสย์งเสียชีวิตใน ค.ศ.354 บุตรชายของเขาคือฝูเจียน (ค.ศ.337-385) จึงได้สืบทอดตำแหน่งกษัตริย์รัฐตงไห่ต่อ

ทั้งนี้ เมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านั้นฝูเจี้ยนได้เสียชีวิตลง บุตรของเขาคือฝูเซิง (ค.ศ.335-357) จึงเป็นผู้นำเฉียนฉินเป็นคนต่อมา เหตุการณ์นับจากนี้ไปได้ขับให้เฉียนฉินเป็นรัฐที่มีความโดดเด่นเหนือรัฐอื่น และทำให้รัฐนี้มีเรื่องราวให้เล่าขานมากกว่ารัฐอื่นในยุคเดียวกันอย่างพิสดาร

มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างฝูเซิงกับฝูเจี้ยนที่เป็นผู้พี่ลูกน้องกัน (ฝูเจี้ยนที่เป็นบิดาของฝูเซิงคืออาของฝูเจี้ยน) ด้วยฝูเซิงที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทนบิดาของตนเป็นผู้ที่มีจิตใจอำมหิต ในขณะที่ฝูเจียนกลับเป็นผู้ที่ใฝ่ศึกษาตั้งแต่วัยเยาว์ และเป็นที่ชื่นชมของฝูหงผู้เป็นปู่

ฝูเซิงจึงไม่เป็นที่ชื่นชมของเหล่าเสนามาตย์ แต่กลับชื่นชมฝูเจี้ยนกันโดยทั่วหน้า

จากเหตุนี้ ฝูเซิงจึงเห็นฝูเจี้ยนเป็นหอกข้างแคร่ และคิดวางแผนที่จะกำจัดฝูเจี้ยนให้พ้นทาง แต่ฝูเจี้ยนรู้เท่าทันจึงชิงลงมือกำจัดฝูเซิงเสียก่อน จากนั้นก็ตั้งตนเป็นผู้นำรัฐเฉียนฉินแทนใน ค.ศ.357

จากนั้นฝูเจี้ยนก็สร้างเฉียนฉินจนเป็นรัฐที่แข็งแกร่งเกรียงไกร และสามารถขยายดินแดนของตนได้กว้างไกลจนมีแนวโน้มที่จะสร้างจักรวรรดิได้สำเร็จ หากมิใช่เพราะต้องมาพ่ายแพ้ในศึกแม่น้ำเฝยใน ค.ศ.383 และทำให้เฉียนฉินล่มสลายในเวลาต่อมา

กรณีศึกแม่น้ำเฝยนี้ไม่เพียงจะเป็นจุดเปลี่ยนของเฉียนฉินเท่านั้น หากยังเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐอีกด้วย งานศึกษานี้จะได้กล่าวถึงศึกแม่น้ำเฝยโดยพิสดารต่อไปข้างหน้า

 

รัฐโฮ่วฉิน

โฮ่วฉิน (ฉินสมัยหลัง, Later Qin, ค.ศ.394-417) เป็นรัฐของชนชาติเชียง เมื่อแรกที่ตั้งตนเป็นใหญ่ก่อน ค.ศ.394 นั้น โฮ่วฉินเคยพ่ายแพ้ต่อโฮ่วเจ้ามาก่อน และเมื่อโฮ่วเจ้าล่มสลายผู้นำคนต่อมาของโฮ่วฉินก็ยังพ่ายแพ้ต่อจิ้นจนต้องหนีไปแถบกวานจง แต่ก็ถูกเฉียนฉินฆ่าตายจนผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโฮ่วฉินคนต่อมาชื่อเหยาฉัง (ครองอำนาจ 384-393) ต้องสวามิภักดิ์ต่อเฉียนฉิน

แต่หลังจากที่เฉียนฉินพ่ายแพ้ไปในศึกแม่น้ำเฝยแล้ว โฮ่วฉินก็ประกาศอิสรภาพ หลังจากนั้นเหยาฉังก็สำเร็จโทษฝูเจี้ยนแห่งเฉียนฉิน แต่ผู้นำโฮ่วฉินที่โค่นเฉียนฉินจนล่มสลายคือเหยาซิง (ครองอำนาจ ค.ศ.394-416) เมื่อเหยาซิงเสียชีวิต บุตรของเขาคือเหยาหง (ครองอำนาจ ค.ศ.416-417) ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโฮ่วฉิน

หลังจากนั้นเขาก็ถูกขุนศึกของจิ้นตะวันออกชื่อหลิวอี้ว์ฆ่าตาย โฮ่วฉินจึงล่มสลายไป

 

รัฐโฮ่วเอียน

โฮ่วเอียน (เอียนสมัยหลัง, Later Yan, ค.ศ.384-410) เป็นรัฐของชนชาติเซียนเปย รัฐนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับรัฐเฉียนเอียนที่กล่าวไปก่อนหน้านี้

กล่าวคือ ในช่วงปลายของเฉียนเอียนที่ได้เกิดการแก่งแย่งอำนาจในหมู่เครือญาติสกุลมูหญงนั้น มีเครือญาติคนหนึ่งคือมูหญงป้า (ครองอำนาจ ค.ศ.384-396) ได้หนีไปสวามิภักดิ์ต่อรัฐเฉียนฉิน เมื่อไปอยู่กับเฉียนฉินแล้วจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นมูหญงฉุย เพื่อกลบเกลื่อนมิให้เฉียนฉินคิดว่าตนมีความทะเยอทะยานทางการเมือง

ด้วยคำว่า “ป้า” มีความหมายว่าผู้ยิ่งใหญ่ (1)

โดยมูหญงฉุยได้ตั้งรัฐโฮ่วเอียนหลังจากเฉียนฉินพ่ายแพ้ในศึกแม่น้ำเฝยไปแล้ว โฮ่วเอียนมีจงซันเป็นเมืองหลวง ปัจจุบันคืออำเภอติ้งในมณฑลเหอเป่ย ต่อมาจึงได้ย้ายไปยังเมืองหลงเฉิง ปัจจุบันคือเมืองจิ่นโจวในมณฑลเหลียวหนิง เมื่อมู่หญงฉุยเสียชีวิตไปแล้ว โฮ่วเอียนมีผู้นำสืบต่อมาอีกห้ารุ่น แต่เริ่มเสื่อมถอยช่วงผู้นำรุ่นที่สี่เพราะถูกขุนศึกของตนชื่อเฝิงป๋าฆ่าตาย

ผู้นำรุ่นที่ห้าอยู่ได้ไม่กี่ปีโฮ่วเอียนก็ล่มสลาย

 

———————————————————————————————————————-

(1) คำว่า ป้า นี้เป็นคำเดียวกับ ป้า ในคำว่าป้าหวัง ที่แปลว่า อธิราช (ราชาเหนือราชา) ดังที่เซี่ยงอี่ว์กษัตริย์รัฐฉู่นำมาใช้ในขณะที่ตั้งตนเป็นใหญ่โดยเรียกขานว่าฉู่ป้าหวัง หรือที่ไทยเราเรียกทับศัพท์ในภาษาถิ่นฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) ว่าฌ้อปาอ๋อง ที่เป็นศัตรูกับหลิวปัง (เล่าปัง) ในการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ก่อนที่หลิวปังจะเป็นผู้ชนะแล้วตั้งราชวงศ์ฮั่นขึ้น ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้