ทราย เจริญปุระ : อาหารแห้งๆ กับวันแห้งๆ

-ไม่เคยคิดเลย ว่าชีวิตต้องมาทำอะไรอย่างนี้

ความคิดนี้แวบมาในหัวเป็นระยะๆ ในขณะที่ฉันกำลังพิจารณาของสองสิ่ง ที่ถือในมือคนละข้าง มันคือโปรตีนบาร์ หรือโปรตีนอัดแท่ง ที่ประกอบไปด้วยถั่ว ธัญพืชต่างๆ แต่งสีเพิ่มกลิ่นและมีประมาณร้อยกว่าแบบ

นี่มันยากกว่าเลือกโคมไฟมาใส่บ้าน หรือเลือกกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำเสียอีก

แน่นอนว่าโคมไฟนั้นสำคัญ เรารู้ว่าเราต้องการความสว่างจากมันเป็นหลักพอๆ กับใช้มันตกแต่งบ้าน

กระเบื้องห้องน้ำฉันก็เลือกที่สีถูกใจ คุณสมบัติกันลื่นเหมาะแก่การใช้งาน

จบ ง่ายๆ แบบนั้น

แต่ไอ้โปรตีนบาร์นี่สิ

มันจะต้องถูกฉันกินเข้าไป ฉันจึงต้องเลือกให้มันเกิดประโยชน์แก่ร่างกาย แต่ของมีประโยชน์ก็ไม่ควรมีรสชาติเลวร้ายเกินไปนัก

แต่ถ้าปรุงแต่งรสเสียจนเอร็ดอร่อย คุณค่าทางโภชนาการก็จะหายไป

แล้วสูตรกลูเตนฟรีนี่จำเป็นสำหรับฉันไหม หรือจริงๆ ฉันควรจะกินไอ้กลูเตนอะไรนี่เข้าไปด้วย แล้วอันนี้ล่ะ เป็นผลไม้รวมกับธัญพืช

โอย ฉันเกลียดผลไม้ จะมาแบบสุก ดิบ กรอบอะไรยังไงก็ไม่ถูกโรคกัน

แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่ฉันควรกินมากกว่าถั่วในแท่งนั้นล่ะ หรือจะซื้อมันเสียให้หมดทุกแท่งทุกรส

แค่คิดขึ้นมาแบบนั้น ฉันก็รู้สึกว่ากระเป๋าเงินสั่นอย่างหวาดกลัวเสียแล้ว

ชีวิตที่จะใช้อย่างมีสุขภาพดีนั้นมีราคาของมัน ฉันจำได้ไม่ลืมว่าเคยเห็นข่าวผู้ยากไร้ระดับรอรับเงินบริจาค เพราะไม่สามารถไปหางานทำได้เนื่องจากเป็นโรคอ้วนอย่างรุนแรง ต้องนอนเฉยๆ อยู่ในห้องแบบนั้น

ผู้สื่อข่าวถามอ้อมไปอ้อมมา แต่ได้ใจความว่า ถ้ายากจนขนาดนั้น ทำไมถึงอ้วนได้? คำตอบที่มาจากผู้ป่วยนั้นแสนเรียบง่าย “ข้าวคลุกน้ำมันหมูมันราคาถูกที่สุดแล้ว”

ฉันเข้าใจถึงความคลางแคลงนั้น ความอ้วนในยุคสมัยหนึ่งคือความอยู่ดีกินดี เป็นตัวแทนของผู้มีเงินมากพอจะกินอะไรๆ ได้ตามปรารถนา เด็กเล็กๆ ที่อ้วนพีดูน่ารักน่าชังกว่าเด็กผอมๆ ตัวยืดๆ ธรรมดา ดูสิ, พ่อแม่เลี้ยงดี อวบอ้วนน่ารักเชียว

แต่มาถึงจุดหนึ่งฉันกลับรู้สึกว่า, สุขภาพที่ดี และร่างกายที่ดี (ร่างกายที่ดีในที่นี้ ฉันหมายรวมถึง “รูปร่าง” ที่ดี แขนขายาวเรียว ไม่มีไขมันส่วนเกิน ผิวดีสดใสด้วย ไม่ได้หมายความถึงระบบภายในเพียงอย่างเดียว) เป็นเรื่องของคนมีเงิน

คนที่มีเงินมากพอจะไม่เดือดร้อนกับการลาหยุดไปร่วมงานวิ่งมาราธอน หรือนอนพักเล่นๆ หลังจากวันที่หักโหมมากไป

คนที่มีเวลามากพอจะดูแลอาหารการกินได้ มีเวลามากพอจะออกกำลังให้ครบทุกสัดส่วนได้ มีเวลามากพอจะนอนแต่หัวค่ำและตื่นเช้า ไม่ได้โดนสั่งให้ปั่นงานคั่งค้างให้เสร็จสิ้นและต้องมีเงินมากพอจะจับจ่ายหรือซื้อหาของดีๆ มากิน

ถึงตรงนี้ฉันรู้ว่าต้องมีหลายคนแย้ง ว่าไม่จริงหรอก ถ้าตั้งใจ ใครก็ทำได้ ไม่เห็นจะต้องใช้เงินใช้เวลาเลย

งั้นถ้าคุณเป็นพนักงานออฟฟิศที่เพิ่งได้บรรจุหลังเรียนจบใหม่ๆ ต้องตื่นตี 5 อาบน้ำแต่งตัวต่อมอเตอร์ไซค์วินไปปากซอย เพื่อรอต่อรถตู้ เพื่อลงที่ท่ารถตู้ไปขึ้นรถไฟฟ้า วิ่งกระดุ๊กๆ ไปทำงาน

ตอนเที่ยงก็รอลิฟต์จนหน้าแห้ง กว่าจะเบียดตัวรวมกับพนักงานอีกมหาศาลลงลิฟต์ออกมาหาอะไรกินละแวกนั้นเพื่อจะกลับไปทำงานต่อ

และตอนเย็นก็ย้อนขั้นตอนการเดินทางทั้งหมดกลับไปบ้าน

ถ้าวันไหนฝนตก ก็รอแล้วรอเล่ากว่าจะมีรถมาสักคัน หรือไม่ก็โขกราคากันหน้ามืด

คุณกลับไปถึงบ้านดึกดื่นในสภาพแบบนี้ อาทิตย์ละห้าวัน

ถามจากใจ

จะเอาแรงจากไหนมาออกกำลังกาย หรือเตรียมมื้ออาหารสุขภาพ

นี่ยังไม่ได้พูดถึงตัวแปรสำคัญต่างๆ ที่แต่ละชีวิตนั้นมีมากน้อยไม่เท่ากัน ไม่ว่าเรื่องลูกเรื่องผัว-เมีย เรื่องพ่อเรื่องแม่ ค่าใช้จ่ายในการสารพัดที่รอหน้าอยู่

คนเรามักจะเลือกตัดสิ่งที่ (เหมือนจะ) ควบคุมได้ง่ายที่สุด เสียหายน้อยที่สุดออกจากสมการชีวิตอันยุ่งเหยิง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกตัดความจุกจิกของตัวเองนั่นละ

เฮ้ย มื้อนี้ไม่ควรกินยอะ แต่เจ้านายเขาเลี้ยง ไม่กินเดี๋ยวไม่ดี เฮ้ย ตอนนี้ควรออกกำลังกาย แต่แม่อยากคุยเรื่องคนข้างบ้าน คุณก็ต้องลงไปคุยกับแม่มากกว่าจะบอกแม่ว่าเดี๋ยวก่อนจ้ะแม่ หนูจะไปออกกำลังกาย เดี๋ยวค่อยคุยกัน

และทั้งๆ ที่การกินเป็นสิ่งที่เราอยู่กับมันมาตั้งแต่แรกเริ่มสร้างมนุษย์ ทุกวันนี้ก็ยังมีหลายคน-แน่นอนว่ารวมถึงฉันด้วย- ไม่เข้าใจว่าควรกินอะไร แค่ไหน อย่างไร กินแล้วต้องออกกำลังกายด้วย ต้องกินให้ดี กล้วยน้ำว้ากินได้ไหม

แล้วตกลงกาแฟมันดีหรือไม่ดีต่อร่างกาย

ไหนจะไวน์อีก ที่บอกให้กินแต่พอดี พอดีนี่มันเท่าไหร่กัน ดื่มสักสามขวดแล้วหยุดไปเลยเดือนนึง

กับจิบทีละอึกทุกวัน มันต่างกันตรงไหน

ไข่อีกล่ะ ช่วงหนึ่งบอกว่าอย่ากินเยอะ อีกตำรามาบอกกินไปเถอะ แต่คนนั้นก็พูดมาอีกว่ากินได้ แต่ต้องไปทำนั่นทำนี่ด้วย แล้วอาหารเช้าล่ะ ตกลงสำคัญไหม บ้างก็ว่าไม่ บ้างก็ว่ามาก

คำถามพวกนี้ยังลอยวนอึงคะนึงไปอีกนานเท่านานจนฉันสิ้นอายุขัยก็คงหาข้อสรุปได้ยาก

หนังสือนี้ก็ไม่ได้ตอบปัญหาอะไรแบบนี้ได้ เพราะเขาก็ไม่ได้เขียนมาเพื่อการนี้ แต่อย่างน้อยมันก็ชุบชูใจฉัน เพิ่มข้อมูลปกิณกะว่าด้วยเรื่องอาหารเอาไว้ในมื้อต่อๆ ไป ที่ฉันนั่งกัดโปรตีนบาร์แห้งๆ กับผักสลัดแบบออร์แกนิกส์ (เชื่อแบบนั้น เพราะเขาเขียนไว้ข้างหน้าถุงบรรจุ) แล้วก็นั่งฝันถึงอาหารเช้าเต็มรูปแบบสไตล์อังกฤษ คลับแซนด์วิชที่มีขนมปังปิ้งกรอบๆ คั่นระหว่างไส้ในฉ่ำๆ ฟัวกราที่ไม่ควรนึกย้อนไปถึงวิธีที่จะได้มันมากิน เฟรนช์ฟรายร้อนๆ เค็มๆ โรยเกลือที่ชื่อของมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเฟรนช์หรือฝรั่งเศส หรือการเสิร์ฟเนื้อเย็นๆ ที่มีความหมายมากกว่าชิ้นโปรตีนเย็นๆ ที่กองอยู่ในจาน

อะไรพวกนี้ที่หนังสือเล่าให้ฟังนี่ละ ที่เป็นทั้งความรู้และความราบรื่นในการช่วยให้ฉันผ่านวันแห้งๆ ไปยิ้มใส่คนอื่นได้ ว่าฉันสุขภาพดี และมีเวลาว่างกับเงินพอจะดูแลตัวเองได้ เหมือนขยับชนชั้นทางสังคมของตัวเองขึ้นไปอีกนิด ท่ามกลางความเหน็ดเหนื่อยของคนอื่นๆ ที่ยังต้องฝ่าฟันรอรถต่อรถกลับบ้าน

เพราะนอกจากอาหารดีต่อร่างกายแล้ว ไอ้ความชื่นใจนิดๆ หน่อยๆ ที่ว่าเราทำได้ ก็พอจะประคองชีวิตให้ผ่านแต่ละวันที่มาพร้อมกับข้อเท็จจริงว่า, ไอ้เรามันก็เหมือนๆ กันทุกคน

ดิ้นรนและฝ่าฟันกันเองท่ามกลางอะไรๆ ที่ไม่อำนวยคุณภาพชีวิตดีๆ ให้เสียเลยที่มีอยู่ในประเทศนี้

“ตำนานอาหารโลก” (What Caesar Did for My Salad) เขียนโดย Albert Jack แปลโดยพลอยแสง เอกญาติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 โดยสำนักพิมพ์ bookscape, กันยายน 2561