คนมองหนัง / “เณรกระโดดกำแพง” : ผลงานน่าประทับใจอีกชิ้นของ “บุญส่ง นาคภู่”

คนมองหนัง

ถ้าเทียบกับงานชิ้นหลังๆ (ซึ่งจัดเป็น “จุดพีก”) ของ “บุญส่ง นาคภู่” ผมยังรู้สึกว่า “เณรกระโดดกำแพง” หนังเรื่องใหม่ของเขานั้นด้อยกว่า “ฉากและชีวิต” และ “ธุดงควัตร” เล็กน้อย

หากถึงช่วงมอบรางวัลหนังไทยประจำปี 2561 ผมเห็นว่า “ฉากและชีวิต” สมควรได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมากกว่า “เณรกระโดดกำแพง” แต่ใช่ว่าหนังเรื่องหลังจะไม่มีจุดโดดเด่นเอาเลย

อย่างน้อยนักแสดงนำบางคนนั้นมีศักยภาพสูงพอจะเข้าชิงรางวัลสาขาการแสดงแน่ๆ หรือตัวบทภาพยนตร์ก็มีชั้นเชิงแพรวพราวจนมิอาจมองข้าม

เช่นเดียวกัน ถ้าพูดถึงความเป็นหนังหรือประเมินคุณค่าในเชิงศิลปะภาพยนตร์ “ธุดงควัตร” นั้นลงตัวและสวยงามกว่า “เณรกระโดดกำแพง” ทว่าเรื่องหลังกลับสามารถสะท้อนภาพ “สังฆะแบบไทยๆ” ได้อย่างสมจริง จับใจ แหวกแนวมากกว่า

“เณรกระโดดกำแพง” มีเนื้อหาสองส่วนที่เคลื่อนหน้าไปในลักษณะของ “สองเส้นเรื่อง” อันดำเนินคู่ขนาน ตัดสลับ ส่องสะท้อน ซึ่งกันและกัน

“เส้นเรื่องแรก” คือ ชีวิตของผู้กำกับหนังชื่อ “พี่สืบ” (แสดงโดยตัวบุญส่ง -ผู้มีชื่อเล่นว่า “สืบ”- เอง) และน้องๆ ทีมงาน (คนหนึ่งเป็นฝ่ายศิลป์มือเก๋าที่ทั้งเข้าใจ ปลง และเหนื่อยล้ากับการทำหนังทางเลือก ส่วนอีกคนเป็นเด็กจบใหม่ไฟแรง ผู้อยากสั่งสมประสบการณ์ ก่อนจะสร้างหนังไปเมืองคานส์) ที่เดินทางกลับมาบ้านเกิด เพื่อดิ้นรนตามฝัน/ทำหนังด้วยทุนสร้างจำกัดจำเขี่ย

“เส้นเรื่องหลัง” ย้อนไปหลายทศวรรษก่อน เพื่อเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มในชนบท ซึ่งต้องบวชเณรเพื่อไขว่คว้าโอกาสทางการศึกษา แต่เมื่อเวลาผันผ่าน เขาก็เตรียมตัวสละผ้าเหลือง เพื่อสอบเข้าเรียนสาขาการละครในมหาวิทยาลัย ตามความใฝ่ฝันส่วนตัวที่อยากเป็นนักแสดง

แฟนๆ “หนังบุญส่ง” คงพอจะตระหนักได้ว่าเนื้อหาสองส่วนล้วนทำหน้าที่เป็นภาพแทน “ชีวิตในอดีต” และ “ชีวิตปัจจุบัน” ของตัวผู้กำกับฯ

ในแง่หนึ่ง บุญส่งเปิดใจว่าเขาจำเป็นต้องเลือกเล่าเรื่องราวด้วยแนวทางนี้ เพราะเงื่อนไขข้อจำกัดด้านทุนสร้าง (แม้จะอยากทำหนังพีเรียดล้วนๆ ก็ตาม)

อย่างไรก็ดี การเล่าเรื่องแบบนี้กลับนำไปสู่ภาพเปรียบเทียบที่น่าสนใจไม่น้อย ระหว่างความใฝ่ฝันจะทำหนังที่ยังลุกโชนอยู่ในปัจจุบัน ทว่ามองไม่ค่อยเห็นอนาคต กับอดีตในวัดที่เว้าแหว่งรางเลือนลงเรื่อยๆ (ไม่ต่างอะไรกับโรงภาพยนตร์ร้าง ฟิล์มหนังเก่า หรือม้วนวิดีโอที่ถูกทิ้งขว้าง)

สารภาพว่าระหว่างดูหนังจะรู้สึกติดๆ ขัดๆ กับเส้นเรื่องชีวิตผู้กำกับฯ อยู่บ้าง

แต่พอมานึกย้อนทบทวน ผมกลับเห็นว่าเนื้อหา ลีลาการเล่าเรื่อง และการแสดง รวมถึงการผสมผสานระหว่างประเด็นความฝันต่างเจเนอเรชั่น ความเคร่งเครียดจริงจังในชีวิต อารมณ์ขันที่เชยนิดๆ และภาวะเรียลลิสติกที่ถูกลดทอนลงหน่อยๆ ในส่วนนี้ มีความคล้ายคลึงกับ “หนังตลาดที่ถูกลืม” เรื่องแรกของบุญส่ง คือ “191 1/2 มือปราบทราบแล้วป่วน” (2546) อยู่ไม่น้อย

สำหรับแฟนภาพยนตร์ที่คุ้นชินกับหนังอิสระแนวสัจนิยมแบบบุญส่ง ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2550 ถึงปัจจุบัน “เส้นเรื่องแรก” ใน “เณรกระโดดกำแพง” อาจเป็น “องค์ประกอบแปลกใหม่” พอสมควร

ทว่าถึงที่สุดแล้ว “เส้นเรื่องชีวิตเณร” คือองค์ประกอบที่ผมชื่นชอบชื่นชมมากกว่า และหวังว่าสักวันหนึ่ง บุญส่งจะมีโอกาสขยับขยาย/พัฒนาเนื้อหาส่วนนี้ให้กลายเป็น “หนังเต็มเรื่อง” หรือ “หนังที่มีชีวิตของตัวเอง” เพื่อเติมเต็มภาวะขาดพร่องอันน่าค้างคาใน “เณรกระโดดกำแพง”

ความน่าตื่นตาตื่นใจของเส้นเรื่องว่าด้วยชีวิต “เณรรุ่ง” ใน “เณรกระโดดกำแพง” ก็คือ ลักษณะอันผิดแผกจาก “หนังพระ-เณร” (หนังพุทธศาสนา) แบบไทยๆ เรื่องอื่นๆ

บุญส่งไม่ได้พูดถึงด้านมืด-ความเลวร้ายฉ้อฉล-อธรรมที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังศาสนา เขามิได้ต้องการนำเสนอเรื่องแก่นธรรมหรือหลักคำสอนอันลึกซึ้งสูงส่ง เหมือนเมื่อครั้งทำ “ธุดงควัตร” แล้วก็ไม่ได้อยากเล่าเรื่องราวของเณรในต่างจังหวัดที่เต็มไปด้วยแก๊กตลกสดใสหรืออารมณ์ฟีลกู๊ดน่ารักๆ

สิ่งที่บุญส่งบอกเล่าในหนังเรื่องนี้ คือ ชีวิตยากไร้ขัดสนของเด็กหนุ่มชนบท ที่มี “วัด” เป็นแหล่งทรัพยากรเดียว ซึ่งจะสามารถช่วยผลักดันให้เขาเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา กระทั่งก้าวไปสู่ “โลกใบใหม่” ได้สำเร็จ

ผมชอบบรรดาฉากชีวิตธรรมดาๆ ทั้งหลาย เช่น ฉากที่พวกเณรเดินทางกลับบ้าน แล้วถอดจีวรแขวนไว้บริเวณใต้ถุน ก่อนจะประกอบกิจกรรมสามัญอื่นๆ เหมือนคนปกติ ตั้งแต่ช่วยแม่ทำกับข้าว ช่วยทางบ้านเก็บเกี่ยวพืชผล แอบคุยกับหญิงสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน นอนพักค้างคืน และพาน้องชายไปบวชเรียน

ผมชอบฉากเณรนัดต่อยกัน ชอบรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าข้างฝาและหน้าต่างกุฏิของสามเณรนั้นเต็มไปด้วยปก-รูปภาพแชมป์โลกมวยสากลจากนิตยสาร “มวยโลก”

(ความนิยมหลงใหลในกีฬามวยของ “เณรรุ่ง” ซึ่งเป็นภาพแทน “สามเณรบุญส่ง” เปรียญธรรม 4 ประโยค แห่งวัดไพรสณฑ์ศักดาราม จ.เพชรบูรณ์ ทำให้ผมนึกถึงชีวิตของ “สมาน ส.จาตุรงค์” เด็กหนุ่มชาวกำแพงเพชร ที่ตามอ่านนิตยสารมวยโลกและเริ่มฝึกหัดลงนวมตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นสามเณรเปรียญธรรม 3 ประโยคแห่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม)

ผมชอบพวกซีน “ปั๊ปปี้เลิฟ” ระหว่าง “เณรรุ่ง” กับ “สาวติ๋ม” โดยเฉพาะฉากการนัดพบ/จีบกันในร้านหนังสือที่ตัวเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวของเส้นเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังเป็นส่วนๆ เสี้ยวๆ กระจัดกระจาย จึงยังมีหลายคำถามที่ติดอยู่ในใจผม

ผมยังอยากรู้ว่า ทำไมสามเณรชาวอีสานเพื่อนสนิทของ “เณรรุ่ง” ถึงสึกหายจากไปเสียดื้อๆ

ผมยังอยากรู้ว่า ความสัมพันธ์กุ๊กกิ๊กระหว่าง “เณรรุ่ง” กับ “ติ๋ม” นั้นคลี่คลายลงอย่างไร

ผมยังอยากเห็นระบบการศึกษาของสามเณรในสำนักเรียนวัดไพรสณฑ์ฯ แบบละเอียดลงลึก

(ถ้าพิจารณาจาก “เณรกระโดดกำแพง” คนดูอาจรู้สึกว่าใจของ “เณรรุ่ง” ลอยไปหาหนังหาดารา ลอยไปหาหญิงสาวนอกวัด และไม่ค่อยตั้งใจเล่าเรียนเท่าไหร่ แต่ต้องไม่ลืมว่าสามเณรชาวสุโขทัยชื่อ “บุญส่ง” ผู้ไปเรียนหนังสือที่พระอารามหลวงในเพชรบูรณ์และเป็นต้นแบบของตัวละคร “เณรรุ่ง” นั้นเอ็นทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยเหตุนี้ ระบบการศึกษาที่เขาได้รับในวัดย่อมไม่ธรรมดาแน่ๆ)

คําพูดของตัวละครหลวงพ่อช่วงท้ายเรื่องที่เตือน “เณรรุ่ง” ว่า ถ้าเลือกสึก ชีวิตก็อาจกลับไป (ยากลำบาก) เหมือนเดิม แต่ถ้ายังบวชอยู่ ก็จะมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น นั้นมีนัยยะน่าสนใจ

เพราะดูเหมือนชีวิตจริงของบุญส่งจะแสวงหา “จุดกึ่งกลาง” ระหว่างสองทางเลือกได้พบ กล่าวคือ เขาสามารถแปรโอกาสสุดท้ายภายใต้ผ้าเหลือง เป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้ชีวิตหลังบวชของตัวเองเดินทางไปสู่อีกจุดหมายหนึ่ง ในเมืองหลวง ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในโลกภาพยนตร์ โดยไม่ซ้ำรอยเดิมกับชีวิตชาวนาช่วงก่อนบวชเรียน

แม้ท้ายสุด บุญส่งจะสื่อสารผ่านหนังแนวสัจนิยมของเขาครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ชีวิตที่ก้าวไปสู่ “โลกใหม่” และชีวิตที่ติดค้างอยู่ใน “โลกเก่า” ต่างล้วนเคว้งคว้าง รอคอยไขว่คว้าบางสิ่งบางอย่าง ท่ามกลางบรรยากาศหรือยุคสมัยอันเลื่อนลอยว่างเปล่าเหมือนๆ กัน

“เณรกระโดดกำแพง” อาจเป็นผลงานที่บุญส่งใช้เปิดเปลือยชีวิตของตนเองออกมามากที่สุด เท่าที่เขาพอจะทำได้ ณ ปัจจุบัน

การเปลือย “ชีวิตปัจจุบัน” กับการเปิด “ชีวิตอดีต” ซึ่งมาบรรจบคล้องจองกันในโรงภาพยนตร์แห่งความฝันช่วงท้ายเรื่องนั้น ถือเป็นภาวะหลอมรวมของเรื่องเล่าสองชนิด ที่ทั้งคมคาย มีเสน่ห์ และเปี่ยมมนต์ขลัง

“เณรกระโดดกำแพง” เข้าฉายแล้วที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ อาร์ซีเอ, ดอค คลับ เธียเตอร์ (แวร์เฮาส์ 30 เจริญกรุง) และบางกอก สกรีนนิ่ง รูม (สีลม)