สุจิตต์ วงษ์เทศ / เครื่องมือหิน ไม่ระฆัง เคาะตีมีเสียง เหมือนกังสดาล

เครื่องมือหิน ใช้แขวนเคาะตีมีเสียง แม้จะเบา (มาก) แต่ลักษณะคล้ายกังสดาล (หรือ ผางลาง, พางลาง) ควรเรียกกังสดาลหิน มากกว่าระฆังหิน แต่ใช้เป็นสมอเรือก็ได้

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เครื่องมือหิน ไม่ระฆัง

เคาะตีมีเสียง เหมือนกังสดาล

 

เครื่องมือหินที่แขวนไว้เมื่อเคาะหรือตีมีเสียง อายุหลายพันปีมาแล้ว พบในจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น นอกจากนั้นในลาวยังพบฆ้องบั้ง (มโหระทึก) ทำจากหิน เหมือนใช้เคาะตี

เหล่านี้ทำให้ต้องทบทวนเครื่องมือหินใช้แขวนเคาะตีที่พบในไทยตามศาสนสถานต่างๆ แล้วถูกเรียกตั้งแต่แรกว่า “ระฆังหิน” ต่อมามีผู้เสนอเป็น “สมอเรือ” ไม่ใช่ระฆัง

เครื่องมือหินที่เคาะตีมีเสียง แม้เพียงเบาๆ ก็น่าจะเป็นสัญลักษณ์ดึกดำบรรพ์เครื่องตีส่งสัญญาณแบบกังสดาล (มีรูปทรงแบน ไม่กลวงเป็นระฆัง) เทียบได้กับกังสดาลโลหะที่แขวนในหอกังสดาล วัดพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน

ขณะเดียวกันก็ไม่ตัดทิ้งลักษณะเป็นสมอเรือ (คำว่า สมอ กลายจากภาษาเขมร แปลว่า หิน) หมายถึงหินถ่วงเรือเมื่อจอด เพราะมีรูปร่างลักษณะอย่างเดียวกัน จึงเป็นได้ทั้งสมอเรือ แล้วเป็นกังสดาลหินเซ่นผีหรือถวายเป็นพุทธบูชา

เครื่องมือหิน ใช้แขวนเคาะตีมีเสียง แม้จะเบา (มาก) แต่ลักษณะคล้ายกังสดาล (หรือ ผางลาง, พางลาง) ควรเรียกกังสดาลหิน มากกว่าระฆังหิน แต่ใช้เป็นสมอเรือก็ได้ ที่โบราณสถานพงตึก ต. พงตึก อ. ท่ามะกา จ. กาญจนบุรี
ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
กังสดาลเมื่อแรกสร้างที่แขวนอย่างง่ายๆ มีลักษณะเป็นเสาสองต้นยังไม่เป็นรูปแบบของ “หอ” เหมือนปัจจุบัน
หอกังสดาล ชั้นบนแขวนระฆัง ชั้นล่างแขวนฆ้องหรือกังสดาล วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ. ลำพูน (ภาพโดย จุมพฏ สืบจ้อน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555)

[จากข้อเขียนเรื่อง “หอกังสดาล” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ในหนังสือดนตรีอุษาคเนย์ ของ เจนจิรา เบญจพงษ์ และ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2555 หน้า 894-901]

กังสดาลหิน

 

กังสดาลหินใช้ตีมีเสียงสัญญาณเบา (มาก) เป็นเครื่องเซ่นในศาสนาผี ครั้นหลังรับศาสนาจากอินเดียก็ปรับเป็นเครื่องตีบูชาในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ฮินดู โดยไม่ประสงค์ใช้ตีบรรเลงเหมือนเครื่องดนตรีสมัยหลังๆ

[กังสดาล เป็นเครื่องตีมีรูปทรงกลมแบน ไม่มีปุ่ม (ต่างจากฆ้องที่มีปุ่ม) บางทีเรียก ผางลาง หรือ พางลาง เช่น พางคำ (ทำด้วยทองคำ) ของพระเจ้าพรหมในตำนานโยนก]

 

ระฆังหินในไทย

 

ระฆังหิน ที่เก็บจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และพบตามศาสนสถานต่างๆ สงสัยว่าจะเป็นสมอเรือ ไมเคิล ไรท์ เขียนไว้ในหนังสือฝรั่งอุษาคเนย์ (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 13-14)

หลังจากนั้น ผมเชื่อตามไมเคิล ไรท์ เลยเขียนเกี่ยวกับเครื่องมือหินใช้แขวนตีหรือเคาะมีเสียงว่าเป็นสมอเรือ ไม่เป็นระฆัง (อยู่ในหนังสือ ดนตรีไทย มาจากไหน? วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 60-61)

เมื่อพบข้อมูลใหม่เพิ่มมากกว่าเดิม จึงต้องแก้ไข

หินแกะสลักลวดลายคล้ายจอมขวัญของคนบนหน้ากลองทอง หรือฆ้องบั้ง (มโหระทึก) จากภูข้าวลีบ แขวงหลวงพระบาง ในลาว [ภาพจากหนังสือ “นิทานพญาแถน วรรณคดีลาวปฐมโบราณ” ของ บุนมี เทบสีเมือง (พิมพ์ครั้งแรกในเวียงจัน ค.ศ. 2009)]
หินแกะสลักลวดลายคล้ายจอมขวัญของคนบนหน้ากลองทอง หรือฆ้องบั้ง (มโหระทึก) จากภูข้าวลีบ แขวงหลวงพระบาง ในลาว [ภาพจากหนังสือ “นิทานพญาแถน วรรณคดีลาวปฐมโบราณ” ของ บุนมี เทบสีเมือง (พิมพ์ครั้งแรกในเวียงจัน ค.ศ. 2009)]
 

ฆ้องบั้งหินในลาว

กลายเป็นหินในความเชื่อดั้งเดิม

 

การกลายเป็นหินของสิ่งต่างๆ ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นความเชื่อดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

นกหัสดีลิงค์ในงานศพของคนชั้นนำและนักบวช เมื่อถูกเผาไฟในพิธีกรรมก็กลายเป็นหิน แล้วจะคืนร่างเหมือนเดิมเมื่อถูกเชิญใช้งานศพต่อไป

ดอกไม้ใบไม้ใช้งานเซ่นผี หรือบูชาพระธาตุ นานไปก็กลายเป็นหินตกเกลื่อนอยู่ตามหอผี หรือศาสนสถาน เมื่อจะใช้งานบูชาถึงจะผลิบานเป็นไม้ดอกไม้ใบ

หินสามก้อนวางไว้เป็นเครื่องหมายกลางหนทางสัญจร (หรือแลนด์มาร์ก) จำลองจากภูสามเส้าหรือดอยสามเส้า เสมือนภูเขาสามยอดนั่นเอง

 

เครื่องตีจากเมืองจีนทำด้วยหิน

 

เครื่องเพอร์คัสชั่นประเภทแขวนที่ทำจากหินอ่อน แต่ก็มักจะมีส่วนประกอบของหินจำพวกหยกผสมอยู่ด้วย จีนเรียกว่า “ชิ่ง” หรือ “เปียนชิ่ง” (คล้ายบูมเมอแรง)

พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศจีนอยู่มากพอสมควร โดยมีทั้งที่พบอย่างเดี่ยวๆ และที่พบเป็นชุด ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง 4,000-2,500 ปีมาแล้ว

เปียนชิ่ง หรือเครื่องตีทำจากหินเหล่านี้ก็พบในญี่ปุ่น และมีบันทึกว่าจักรพรรดิจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้พระราชทานเปียนชิ่ง (สองราว) ให้ราชสำนักเกาหลี เมื่อ พ.ศ.1654

เครื่องตีทำจากหินเหล่านี้ยังมีใช้ในพิธีกรรมบางอย่างของทั้งเกาหลีและญี่ปุ่นในปัจจุบันด้วย แสดงให้เห็นว่ามีลักษณะเป็น “เครื่องยศ” มากกว่าจะเป็นเครื่องบรรเลงเพื่อฟังอย่างบันเทิง

เปียนชิ่ง (qing/Biãn qing) หรือเครื่องเพอร์คัสชั่นประเภทแขวนที่ทำจากหิน (มีรูปทรงคล้าย บูมเมอแรง) พบจากสุสานของท่านพระยาอี้แห่งแคว้นเจิง ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ยุคเลียดก๊ก (ราชวงศ์โจว) อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว(ภาพจาก: HYPERLINK “https://en.wikipedia.org/wiki/Bianqing#/media/File:Bianqing_from_Marquis_Yi%27s_tomb.jpg” https://en.wikipedia.org/wiki/Bianqing#/media/File:Bianqing_from_Marquis_Yi%27s_tomb.jpg)
เปียนชิ่ง ทำจากหิน จัดแสดงในห้องเรียนดนตรี มหาวิทยาลัยดนตรีเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน (ภาพโดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต)

[จากเรื่อง “ระฆังกับหอไตรที่วัดระฆัง ปกรณัมอำพรางสมัยรัชกาลที่ 1” ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20-26 กรกฎาคม 2561 หน้า 82]