คำ ผกา : มายาที่แตกดังโพละ

คำ ผกา

การเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2549 นั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ของการเมืองไทยร่วมสมัยไปอย่างไม่น่าเชื่อ จะว่าไปในซากปรักหักพังของประชาธิปไตยที่ถูกทำลายลงไป มันมีจุดแตกหักที่สำคัญเกิดขึ้นด้วย

สำหรับฉัน การรัฐประหาร 2549 ทำลาย Myth หลายประการเกี่ยวกับการเมืองไทยลง (แม้เราจะต้องจ่ายค่าทุบทำลาย Myth นั้นในราคาที่แพงมาก)

ก่อนการเกิดรัฐประหารปี 2549 – ในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบที่นักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง ผู้ร้ายในการเมืองไทยคือ “นักการเมือง” และนักการเมืองทุกพรรค จะถก เสียดสี ด่าทอ ล้อเลียน โดยทั่วถึงกัน และในหมู่นักการเมืองด้วยกัน

นักการเมืองที่จัดว่าเป็น “น้ำดี” หน่อยก็คือนักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์

พรรคชาติไทยพัฒนาของคุณบรรหาร ศิลปอาชานั้นมียี่ห้อเป็นปลาไหล

พรรคไทยรักไทยนั้น แม้จะเป็นที่นิยมของคนสิบเก้าล้านคนก็โดนครหาเรื่องนโยบายประชานิยม ทักษิณ ชินวัตร ก็โดนสื่อยำเละตุ้มเป๊ะเรื่อง “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” (ตอนนี้ถ้าเป็นลุงตู่พูด กองเชียงร์คงส่งเสียงกรี๊ดด้วยความชื่นชม)

ภาพตระกูลสะสมทรัพย์ ตระกูลคุณปลื้ม ตระกูลชิดชอบ นั่นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเป็นภาพลักษณ์เจ้าพ่อท้องถิ่น ผู้ทรงอิทธิพล และ ณ วันนี้ ที่คนไทยชื่นชมเนวิน ชิดชอบ ในเรื่องการยกระดับจังหวัดบุรีรัมย์ไปสู่เวทีโลกทั้งเรื่องฟุตบอลและการแข่งรถ

อย่าลืมว่า เนวินเคยมีฉายา “ยี้” มาก่อนจากสื่อในยุคนั้น

แล้วก่อนมี 2549 มีใครเป็น “คนดี” หรือเป็น “พระเอก” กันบ้าง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการนั้นได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์คุณภาพ มีภาพลักษณ์เป็นปัญญาชน เป็นนักวิชาการ และนักวิชาการชั้นนำทั่วฟ้าเมืองไทยก็เขียนลงผู้จัดการทั้งสิ้น

เอาเป็นว่า สื่อคุณภาพยุคนั้นคือ ผู้จัดการ บางกอกโพสต์ เนชั่น

ใครเป็นคนดีและเป็นผู้จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปในสาย “ก้าวหน้า” อีก?

ไม่น่าเชื่ออีกนั่นแหละ ในยุคที่เรามีประชาธิปไตยเต็มใบและนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง อันเราจะถลกผ้าถุงด่าได้ทุกวี่ทุกวัน คนที่จะได้ชื่อว่าเป็น “หัวก้าวหน้า” ในสังคมไทย ณ วันนั้น คือคนที่ “ซ้าย” นิดๆ นะ

คนซ้ายๆ เหล่านี้ จะต้องต่อต้าน “ทุน” ต่อต้านบรรษัทขนาดใหญ่ ต่อต้านการ privatized กิจการของรัฐ ส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้าน ประท้วงการสร้างเขื่อน อ่านงานพุทธทาส ต้านเอฟทีเอ

ตอนนั้นกระแส “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” มาแรงมาก

ไอคอนคนสำคัญของการเมืองไทย มีทั้งประเวศ วะสี, รสนา โตสิตระกูล, สุริยะใส กตะศิลา, พิภพ ธงไชย ผู้ทำซัมเมอร์ฮิลล์ ต้นแบบโฮมสกูลในสังคมไทย-คิดดูว่า เก๋เบอร์ไหน?

ก้าวหน้าเบอร์ไหนที่ริเริ่มพูด และทำเรื่องการเอาเด็กออกมาจากการครอบงำของรัฐและโรงเรียน อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาอันล้าหลังบ้าคลั่งของสังคมไทย

“คนดี” สมัยนั้น เขาพูดเรื่องความล้าหลังของระบบการศึกษา พูดเรื่องการกระจายอำนาจ ด่าการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ ออกมาสร้างโรงเรียนทางเลือก รักธรรมชาติ สู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันประเด็นความก้าวหน้าทางเพศ อยากสร้างสรรค์สังคมดีๆ ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม แปลวรรณกรรมมาร์กซิสต์ วิพากษ์วิจารณ์โลกาภิวัตน์

และในยุคนั้น เราก็คุยกันเรื่องการมุ่งพัฒนาแต่วัตถุ จนลืมมิติทางจิตใจ เอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง ไม่สนใจ “ความสุข” ของมนุษย์

แล้วสมัยนั้นนะ มีทั้งหอศิลป์ มีทั้งมิวเซียมสยาม มีทั้ง TCDC มีทั้งนิทรรศการเจ๋งๆ ระดับโลกที่รัฐบาลสปอนเซอร์มาแสดงเมืองไทย-ศิลปินนี่ด่ารัฐบาลกันขรมเลยว่า ไร้รสนิยม (แต่ปีนี้หอศิลป์ กทม. ไม่มีตังค์จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟจร้า)

โอ๊ยยย นั่งเขียนรำลึกความหลังอยู่ตอนนี้ ฉันยังไม่อยากเชื่อว่าเราเคยอยู่ในโลกใบที่สวยงามกันถึงขนาดนั้นด้วย

หลังการรัฐประหารปี 2549 เท่านั้นแหละ ภาพมายาพวกนี้แตกดังโพละเลย

มันไม่ได้แตกภายในวันสองวัน

5 ปีแรกหลังจากปี 2549 คนเหล่านี้ยังเป็นฮีโร่การเมืองไทยในฐานะผู้โค่นล้มระบอบทักษิณ

แต่ก็นั่นแหละ เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี 6 ปี จนมาถึงวันนี้ 12 ปีเข้าไปแล้ว และคนก็ไม่ได้กินหญ้าเป็นอาหาร กระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองกระเพื่อม อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยคำถามง่ายๆ ว่า

ทำไมคนที่เป็น “หัวก้าวหน้า” ของสังคมไทย อย่างประเวศ อย่างพิภพ และคนเดือนตุลาฯ อีกจำนวนมากสนับสนุนรัฐประหาร?

นำไปสู่การอธิบายว่า ทำไม “คนดี” ในสังคมไทยจึงสนับสนุนรัฐประหาร?

ด้วยคำถามง่ายๆ นี้ ท้ายที่สุดมันนำไปสู่การรื้อถอนมายาคติชุดใหญ่ของสังคมไทย ตั้งแต่การอ่านประวัติศาสตร์ 2475 ใหม่

อ่านประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ใหม่

 

ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ขบวนการภาคประชาสังคม และเอ็นจีโอไทยใหม่ทั้งหมดยกกระบิ ไปจนถึงการถอยหลังมาปักหลัก นั่งนิยามความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” กันใหม่ทั้งหมด

ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ และความเป็นคนเดือนตุลาฯ ก็อาจจะยังศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้

ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 ประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรก็คงไม่ถูกอ่านใหม่

ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 เราอาจจะยังเห็นหมอประเวศเป็นปูชนียบุคคล และมีคุณรสนาเป็นฮีโร่ผู้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และมีคุณสุริยะใสเป็นฮีโร่ประชาธิปไตยจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงเป็นพระเอกตลอดกาล มาร์คก็จะไม่เละตุ้มเป๊ะอย่างทุกวันนี้

ฯลฯ

งานประวัติศาสตร์กระแสรองค่อยๆ รุกคืบเข้ามาในพื้นที่ “มวลชน” และช่วงก่อนที่ยิ่งลักษณ์จะเข้ามาเป็นนายกฯ นั้น งานทอล์กที่จัดในมหาวิทยาลัย ที่มี อ.วรเจตน์ ภาคีรัฐ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ ขึ้นพูดนี่ มีทีไรหอประชุมแทบจะแตก หาที่นั่งไม่ได้ คนล้นแล้วล้นอีก

และในระหว่างนั้น ที่พวกเราคิดว่า เวทีวิชาการเหล่านี้ก็เป็นแค่การเลี้ยงกระแส เยียวยาใจคนเสื้อแดงที่บอบช้ำ คนเหล่านี้แค่อยากมาเจอกัน ไม่ได้สนใจเนื้อหาสักเท่าไหร่หรอก บลา บลา บลา

ในท่ามกลางความถดถอยของพลังประชาธิปไตยในสภา ท่ามกลางความพ่ายแพ้ของประชาธิปไตยในการรัฐประหารรอบที่สอง-อาจจะไม่มีภาพคนเสื้อแดงอีกต่อไปแล้ว แต่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบ่งข้างสองขั้วในการเมืองไทยมาก่อน และไม่เคยตกอยู่ในอิทธิพลความคิดของปัญญาชนฝ่ายซ้ายรุ่นที่ไปม็อบกับสนธิ ลิ้มทองกุล

คนกลุ่มนี้กลับสื่อสารกับปัญญาชนรุ่นใหม่ นั่นคือรุ่นประจักษ์ ก้องกีรติลงมา และเราเริ่มเห็นคลื่นของนักคิดลูกใหม่ ปรากฏตัวในสื่อใหม่ ไม่ว่าจะเป็น The Matter, The Momentum, The Standard, 101 world-และท้ายที่สุด เราก็เห็นการขยับตัวของสื่อเก่า ที่ไม่อาจต้านทาน “กระแสใหม่” นี้ได้ และพื้นที่ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายยุคเก่าที่ไปสนับสนุนรัฐประหารปี 2549 กลับเรียวเล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่งแทบจะกลายเป็นตัวตลก

ไม่ว่าจะเป็นคนแบบวสันต์ สิทธิเขตต์ สุรชัย จันทิมาธร หรือแม้แต่คนอย่างสุริยะใส กตะศิลา ก็แทบจะไม่เหลือเครดิตอะไรให้เคลมได้อีกในสายตาคนรุ่นใหม่

หันไปดูสถานการณ์สื่อ ที่เรียกกันว่า “สื่อคุณภาพ” ในยุคก่อนปี 2549 นั้น แทบจะไม่เหลือภาพอะไรให้จำอีก

แล้วยังมาเจอสถานการณ์เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ความล่มสลายของสื่อเก่าอย่างนิตยสาร สิ่งพิมพ์ ที่แทบจะทำให้โฉมหน้าของสื่อเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

เรียกว่าเป็นจุดหักเหของเจเนอเรชั่น ที่มาผนวกกับจุดหักเหหันกลับของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง 5 ปีให้หลังด้วย

และอย่างไม่น่าเชื่อ และโดยที่ผู้ซึ่งต้องการสืบทอดอำนาจจะรู้หรือไม่ก็ตามว่า ในขณะที่ตนเองคิดว่าคุมเกมของรัฐธรรมนูญได้ คุมเกมของการออกแบบคณิตศาสตร์การเลือกตั้งที่จะให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ คุม “เสียง” ของสื่อได้ แต่สิ่งที่เขารักษาไว้ไม่ได้คือมายาคติเก่า และเรื่องเล่าฉบับเก่าของการเมืองไทยอันเคยเป็นเครื่องมือค้ำจุน “ประชาธิปไตยจอมปลอม” ในสังคมไทยมายาวนานหลายทศวรรษ

แม้ยังหาเสียงไม่ได้ แต่เสียงของคนในสังคมไทยนั้นค่อนข้างชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการวัดเสียงของฝ่ายที่เลือกข้างประชาธิปไตย กับฝ่ายที่เลือกข้างการสืบทอดอำนาจของ คสช.

การ “หาเสียง” จึงไม่มีความหมายเลยในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่การประกาศจุดยืน เอาหรือไม่เอาการสืบทอดอำนาจต่างหากที่เป็นตัวแปรหลักในการเรียกเสียงและคะแนนจากประชาชน

ดังนั้น เดินหน้าหาเสียงไปก็เสียเวลา ยิ่งถ้าคิดว่าการลงพื้นที่โดยราชการจัดตั้งมวลชนมาเอาใจก็ยิ่งไม่ได้สะท้อน “เสียง” ที่แท้จริง

แล้วเมื่อมายาคติเก่าๆ มันแตกดังโพละเพละ พระเอกกลายเป็นตัวตลกไปจนหมดสิ้น ผีทักษิณก็อ่อนแรง การปราบคอร์รัปชั่นก็ถูกรื้อถอนออกมาแล้วว่าเป็นข้ออ้างล้มประชาธิปไตย

ยิ่งทอดเวลาให้เนิ่นช้า ยิ่งพยายามช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองโดยอาศัยอำนาจรัฐที่ตัวเองมีอยู่ ความชอบธรรมกลับยิ่งลดลง ยิ่งหาเสียง ยิ่งเสียคะแนนเสียง

น่ากลัวว่าการรัฐประหารที่หวังจะไม่ให้เสียของนั้นจะกลายเป็นการสร้างของเสียขึ้นมาแทนเสียแล้ว