ผ่า “แฟรนไชส์” การเมือง ใครหนุนใคร ใครขั้วไหน วิเคราะห์การแตกไลน์สู้

แฟรนไชส์ มีความหมายว่า กิจการที่แตกสาขาออกมาจากบริษัทแม่ โดยเจ้าของกิจการร่วมทุนกับบริษัทแม่ และมีการแบ่งผลประโยชน์กัน

ดูตามความหมายแล้ว

แม้จะไม่ตรงเป๊ะๆ แต่พรรคการเมืองไทย

ดูจะดำเนินไปในลักษณะคล้ายระบบแฟรนไชส์ มากขึ้นทุกที

โดยเฉพาะวรรคที่ว่า กิจการที่แตกสาขาออกมาจากบริษัทแม่

ทำไมพรรคการเมืองจึงต้องแตกสาขา

ว่าที่จริง นี่ไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมาย

เพราะอย่างที่ทราบกัน รัฐธรรมนูญฉบับชุดมีชัย ฤชุพันธุ์

ได้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม

มีเป้าหมายชัดเจน ที่จะไม่ให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด ครองเสียงข้างมากในสภา

จึงออกแบบระบบการเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองเล็กลง หวังให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม

เพื่อที่จะไม่ให้เกิดภาวะเช่นพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ผูกขาดบริหารประเทศเช่นที่ผ่านมา

ขณะที่นักวิชาการหรือพรรคการเมือง ต่างวิพากษ์วิจารณ์ระบบเลือกตั้งรูปแบบนี้ว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ มีโอกาสที่จะซื้อเสียงมากขึ้น และไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง ฯลฯ

และที่สำคัญ ไม่มีหลักประกันว่าจะควบคุมให้พรรคการเมืองเดินตามระบบอย่างเซื่องๆ

ปราศจากการปรับตัว ให้ได้ประโยชน์จากหลักเกณฑ์ที่วางไว้

ซึ่งบัดนี้ก็เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว

ชํานาญ จันทร์เรือง อดีตนักวิชาการ ปัจจุบันสังกัดพรรคอนาคตใหม่ เคยอธิบายง่ายๆ เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งใหม่ ไว้ดังนี้

1. จำนวน ส.ส.

มีจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 350 คน และจาก party list 150 คน (ม.83)

2. ผู้สมัครแบบแบ่งเขต ต้องสังกัดพรรคการเมืองและจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้ (ม.87)

3. หนึ่งเขตหนึ่งคน ต้องได้คะแนนมากกว่า Vote No ถ้าคะแนนสูงสุดของผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้รับแพ้ Vote No ต้องเลือกตั้งใหม่โดยคนเก่าไม่มีสิทธิลงอีก (ม.92)

4. พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ หรือจะไม่เสนอก็ได้ (ม.88)

5. พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถส่งแบบ party list ได้ และบัญชีรายชื่อต้องคำนึงถึงภูมิภาคและสัดส่วนชายหญิง (ม.90)

6. การคำนวณจำนวน ส.ส. party list

6.1 นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบ party list ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

6.2 นำผลลัพธ์ตาม 6.1 ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทุกเขต

จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

6.3 นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม 6.2 ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง

ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบ party list ที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

6.4 ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบ party list

และให้นำจำนวน ส.ส.แบบ party list ไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม 6.2 ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม 6.2

6.5 เมื่อได้จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบ party list ของแต่ละพรรคการเมืองแล้วให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบ party list ของพรรคการเมืองนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (ม.91)

สรุปง่ายๆ ว่า ถ้านำคะแนนทั้งหมดที่พรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งได้รับทั้งประเทศมาคำนวณจากสัดส่วนทั้งหมดของคนมาลงคะแนนว่าจากจำนวนเต็ม ส.ส. 500 คน พรรคนั้นควรจะได้กี่คน สมมุติว่าควรได้ 200 คน หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 195 คน ก็จะได้ ส.ส. party list เพิ่มอีก 5 คน รวมเป็น 200 คน แต่หากได้ ส.ส.เขตแล้ว 200 คนหรือมากกว่า ก็จะได้เฉพาะ ส.ส.เขตโดยจะไม่ได้ ส.ส.ใน party list อีก

ตัวอย่างเช่น ได้ ส.ส.เขตเกินมา 5 คนก็จะได้ ส.ส.205 คนโดย ส.ส.แบบ party list ที่จะนำไปเฉลี่ยให้พรรคอื่นก็จะเหลือเพียง 145 คน (150-5) เพราะ รธน.กำหนดไว้ให้มี ส.ส.ได้เพียง 500 คนเท่านั้น

ฉะนั้น ไม่ว่าพรรคนั้นจะเก่งขนาดไหน ผลการเลือกตั้งถล่มทลายขนาดไหนก็ไม่มีทางได้ ส.ส.ในสภาเกิน 350 คน (เพราะมีเขตเลือกตั้งเพียง 350 เขตเท่านั้น)

ซึ่งก็หมายความว่าในสมัยแรก ส.ส.พรรคเดียวไม่มีทางตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะเมื่อรวมเสียงของ ส.ว.ที่มีสิทธิโหวตตั้งนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล อีก 250 คนเป็น 750 คนก็ไม่มีทางเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภารวมกันคือ 376 คนจาก 750 คน

หากพรรคการเมืองต้องการที่จะได้นายกฯ ที่มาจากพรรคการเมืองเท่านั้นก็ต้องรวมกันเพื่อให้ได้ 376 คนขึ้นไปนั่นเอง

ภาวะเช่นนี้เอง ทำให้พรรคการเมืองต่างพากันปรับตัว

ที่ชัดเจนคือ พรรคเพื่อไทย ที่จะไม่สามารถครองเสียงส่วนใหญ่ได้เหมือนเดิม

ก็ได้วางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้ว

นั่นคือ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี” และ “ใช้แนวร่วม”

แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1. พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคหลัก ยังเป็นที่ชุมนุมผู้สมัครเกรดเอ ประกอบด้วยผู้เคยดำรงตำแหน่งการเมืองสำคัญๆ ยังจะคงอยู่ในพรรคนี้ต่อไป ซึ่งเป็นเกมที่หวังดึงเอา ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

2. พรรคเพื่อธรรม ที่มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรค จะเป็นพรรครองรับผู้สมัครที่พลาดหวังจากการที่ไม่ได้ลงสมัครในพรรคเพื่อไทยที่พื้นที่เต็ม ซึ่งเป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง รองรับผู้สมัครเกรดบี เน้นนำคะแนนที่ได้มาคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยหนึ่งในสามชื่อที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯ จะมีการใส่ชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลงไปด้วย

ทั้งนี้ พรรคเพื่อธรรมยังถูกระบุว่าจะเป็นพรรคสำรองในกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีอุบัติเหตุถูกยุบด้วย

3. พรรคเพื่อชาติ ซึ่งมีแกนนำนายทุนคนสำคัญเสื้อแดง อาทิ นายยงยุทธ ติยะไพรัช นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ได้ร่วมจดตั้งมานานหลายปี ได้รับรองการเป็นพรรคโดยสมบูรณ์จาก กกต. จะเป็นพรรคสำหรับทางเลือกของแกนนำคนเสื้อแดง แนวร่วม ผู้เคยร่วมงานกับคนเสื้อแดง ที่จะมาสังกัดลงสมัครรับเลือกตั้งในพรรคดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการจับตาพรรคพลังปวงชนไทย ที่อาจจะมีบิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เข้าไปดำเนินการอีก 1 พรรค

ส่วนพรรคแนวร่วมที่คาดหมายว่าอาจจะจับมือทำงานร่วมกันหลังเลือกตั้ง

พรรคแรกก็คือ พรรคประชาชาติ ของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

พรรคที่สองคือ พรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

การจับกลุ่มโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนดังกล่าว ด้านหนึ่งก็เพื่อครองเสียงข้างมาก

อีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อต่อสู้กับพรรคที่ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ซึ่งตอนนี้ก็ค่อนข้างชัด เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้บอกแล้วว่า ให้เลิกพูดคำว่า “นายกรัฐมนตรีคนนอก”

อันหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะตัดสินใจที่จะเป็นนายกฯ คนในด้วยการเป็น 1 ใน 3 รายชื่อของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

ซึ่งคงไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศตัวเป็นแกนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และเดินหน้าดูดเอาอดีต ส.ส.เข้ามาร่วมเป็นหลัก ภายใต้ปฏิบัติการของกลุ่มสามมิตร

ทั้งนี้ แนวทางของพรรคการเมืองฟากนี้ จะแตกต่างจากพรรคเพื่อไทย คือ ไม่ได้ใช้วิธีการแตกตัว

หากแต่ใช้แนวทาง “แนวร่วม” นั่นคือ ใช้แนวทางใครที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็จะกลายเป็นกลุ่มแนวร่วมโดยปริยาย

ซึ่งตอนนี้ที่ชัดเจนก็เช่น

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

พรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน

พรรคพลังชาติไทย ของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์

พรรคพลังธรรมใหม่ ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล

พรรคพลังพลเมืองไทย ของกลุ่มอดีต ส.ส.รุ่นเก๋า อาทิ นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ นายเอกพร รักความสุข ที่ไม่ปฏิเสธที่คัดค้านนายกฯ คนนอกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์

ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็มีการจับตาพรรคการเมืองเดิมอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ที่มีแนวโน้มว่าจะเอียงมาข้างนี้

รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ที่แม้จะวางจุดยืนเป็นกลาง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเอียงเข้าหาฝ่ายชนะ มากกว่าฝ่ายแพ้

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามจะเป็นขั้วที่ 3 ไม่เข้ากับทั้งสองฝ่าย

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า ไม่คิดเรื่องระบบแตกสาขาพรรค เพราะต้องตรงไปตรงมากับประชาชน ใครจะออกแบบระบบอย่างไร ใครจะใช้เล่ห์กลเพื่อหลีกเลี่ยงระบบอย่างไร ที่สุดเชื่อว่าประชาชนจะเป็นคนชี้ว่าจะให้พรรคการเมืองไหนเป็นใหญ่

แต่กระนั้น หลังเลือกตั้ง หากประชาธิปัตย์ไม่สามารถเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลได้

มีการประเมินว่าประชาธิปัตย์มีความโน้มเอียงที่จะเอนเข้าหาศูนย์อำนาจฟาก พล.อ.ประยุทธ์มากกว่าไปทางพรรคเพื่อไทย

ถึงที่สุดแม้ขณะนี้จะมีพรรคการเมืองนับร้อยพรรค

แต่กระแสหลักก็ยังเป็น 2 กระแส นั่นคือที่สนับสนุน คสช. และไม่เอา คสช.

ที่น่าสนใจมีการปรับตัวเพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาควบคุมไม่ให้มีข้อจำกัด

เราจึงเห็นการแยกร่าง-รวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเรียกแฟรนไชส์ นอมินี ร่างทรง เพื่อไปให้ถึงการมีเสียงเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล

ซึ่งแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตือนให้ระวังว่าอาจจะเข้าข่าย “การครอบงำ” จากบุคคภายนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคหรือไม่

แต่การเมืองที่มีเป้าหมายอยู่กับ “ครองอำนาจ” ก็พร้อมเสี่ยงและหาช่องทางหลีกเลี่ยง

แม้จะตกเป็นเป้าหมายถูกยุบพรรคก็ตาม