โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/งานศิลปะ กับความเด็ดเดี่ยว

โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง / [email protected]

 

งานศิลปะ กับความเด็ดเดี่ยว

 

สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความเคารพยกย่องโลกตะวันตกคือการต่อยอด คำว่าแบรนด์ที่เราเริ่มตื่นขึ้นมารู้จักในทุกวันนี้ถ้าจะพูดไปคือความฉลาดในการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ด้วยการสร้างเรื่องราวแวดล้อมให้สิ่งนั้นมีชีวิตเป็นอมตะ…ทั้งในแง่วัฒนธรรมและการค้า

ภาพยนตร์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกัน มีภาพยนตร์ที่เป็นอมตะอยู่หลายเรื่อง รวมทั้งดาราอีกหลายคนที่เป็นอมตะ The Godfather เป็นหนึ่งในนั้น

เมื่อผู้ชมอย่างเรามองดูภาพยนตร์ที่อยู่บนจอ เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนั้นคืออะไร

จนกระทั่งเมื่อเวลาหนึ่งผ่านไป มีผู้มาบอกเล่า

ผู้แสดงคือผู้สื่อสารเรื่องราวที่สำคัญ

 

The Godfather สื่อสารถึงคนดูผ่านตัวแสดงซึ่งบางคนในเวลานั้นยังไม่ใช่นักแสดงที่มีชื่อเสียง แต่ด้วยความเด็ดเดี่ยวของผู้กำกับการแสดงคือฟรานซิส ฟอร์ด ค็อปโปลา นักแสดงทั้งหมดถูกเลือกและถูกทำให้มีชีวิตขึ้นมา และนำพา The Godfather เข้าไปอยู่ในใจของผู้ชม

เวลาผ่านไปนานถึง 46 ปี เรื่องราวเบื้องหลัง The Godfather ถูกนำมารื้อฟื้นใหม่ผ่านการเขียนถึงและมีการเผยแพร่ทางไลน์ ปรากฏว่าคนในรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มีประสบการณ์ร่วมพากันอ่านแบบจดจ่อและติดหมัด

เป็นเรื่องของการคัดเลือกนักแสดง กว่าจะลงเอย และมาเป็น The Godfather ที่เราได้เห็น

ทำให้เราถูกดึงเข้าไปสู่ความลำบากยากเย็น การเมือง การโต้แย้งระหว่างผู้บริหารและผู้กำกับการแสดง ในเรื่องหลักเพียงเรื่องเดียวคือการคัดเลือกตัวแสดง

การคัดเลือกตัวแสดงที่เกือบจะทั้งหมดของดาราฮอลลีวู้ดที่ดังๆ ทั้งหลายถูกเสนอชื่อเข้ามาเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็น โรเบิร์ต เรดฟอร์ด พอล นิวแมน โรเบิร์ต เดอ นีโร แต่ว่าในที่สุดนักแสดงที่อยู่ในใจของผู้กำกับการแสดงคือค็อปโปลา คือผู้ที่ได้แสดงจริง

 

ค็อปโปลามีความเด็ดเดี่ยวมากในการผลักดันตัวแสดงที่อยู่ในจินตนาการของเขาไปสู่การได้รับบทแต่ละบท นับตั้งแต่มาร์ลอน แบรนโด ในวัย 40 ที่หล่อเหลาเอาการ แต่ค็อปโปลาเห็นว่าเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยมและเหมาะกับบทดอน คอร์ลิโอเน ในวัย 60 อันร่วงโรย

มิไยเหล่าบรรดาผู้สร้างของพาราเมาท์พิกเจอร์สจะเสนอคนอื่นๆ เช่น ลอเรนซ์ โอลิเวียร์ เข้ามา หรืออัล ปาชิโน ในบทไมเคิล ลูกชาย ที่หลายคนพยายามเสนอชื่อโรเบิร์ต เรดฟอร์ด เข้ามา

ลำพังเรื่องการแคสติ้งตัวละครก็ทะเลาะ โต้แย้งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ค็อปโปลาก็ยืนกรานเงียบๆ และพยายามแสดงให้เห็นว่านักแสดงที่เขาเลือกเหมาะกับบทด้วยการทำ screen test ครั้งแล้วครั้งเล่า

มาร์ลอน แบรนโด ต้องทำ screen test หลายครั้ง ซึ่งความเป็นอัจฉริยะทางการแสดงของเขาก็ฉายออกมาอย่างไม่มีข้อสงสัย

อัล ปาชิโน ต้องทำ screen test นับครั้งไม่ถ้วน

ในบทไมเคิล ค็อปโปลาใช้วิธีให้นักแสดงคนอื่นๆ ทำ screen test เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ เช่นเอาเจมส์ คาน มาลองแสดง ทั้งๆ ที่เขาวางตัวไว้แล้วว่านี่คือผู้ที่จะมารับบท Sonny

“พอสตูดิโอมองว่าอัล ปาชิโน ยังดูยู่ยี่เกินไป เราเลยพาเขาไปตัดผมกับช่างตัดผมจริงๆ และขอให้ตัดทรงแบบเด็กมหา’ลัย” ฟรานซิสเล่า

“แล้วตอนที่ช่างได้ยินว่านี่คือคนที่อาจจะได้เล่นเป็นไมเคิลใน The Godfather เขาเกือบจะหัวใจวายตายตรงนั้นแน่ะ ต้องมีคนพาเขาไปส่งโรงพยาบาลเลย แต่เราก็ทำสกรีนเทสต์บ้านๆ แบบนั้นกันจริงๆ ไดแอน คีตัน ก็มาด้วย” ผลสุดท้ายเทปสกรีนเทสต์ของฟรานซิสไม่ผ่านเลยแม้แต่คนเดียว “บ๊อบ อีแวนส์ ไม่ชอบใจเลย สรุปเราเลยมาเสียเงินเป็นแสนๆ เพื่อสกรีนเทสต์นักแสดงหนุ่ม-สาวทุกคนในนิวยอร์กและฮอลลีวู้ด”

เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาทีเดียวกว่าจะทำให้ผู้สร้างเห็นว่าคนที่ค็อปโปลาเลือกนี้แหละคือคนที่ใช่

วิถีของศิลปะเป็นเช่นนี้แหละ ต้องแล้วแต่ผู้สร้างศิลปะ มิใช่ใครอื่น

 

มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้เขียนเรื่องคือ มาริโอ พูโซ่ ที่ค็อปโปลาเล่าว่า “เรื่องหนึ่งที่ผมไม่รู้ตอนนั้นคือไดอะล็อกคมๆ มากมายของมาริโอที่ผมเลือกมาใช้ เช่น ‘ยื่นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้’ ล้วนมาจากแม่ของเขาเองทั้งนั้น มาริโอยังบอกด้วยว่าบุคลิกของก๊อดฟาเธอร์สร้างขึ้นมาจากแม่ของเขาส่วนหนึ่ง แต่มาริโอเองไม่ได้เติบโตขึ้นมากับเรื่องของมาเฟียสักเท่าไหร่หรอกนะ”

ค็อปโปลายังเล่าอีกว่า “สมัยที่ผมเรียนการละครในวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ (นอกจากการจัดไฟ เย็บผ้า ผูกเงื่อน และการปอกสายไฟ) ก็คือการทำหนังสือกำกับ (ในภาษาอังกฤษมันคือ Director’s Note ซึ่งคนเป็นผู้กำกับฯ ทุกคนจะทำขึ้นมา : ผู้เขียน)

ฉะนั้น ผมจึงหยิบนิยายของมาริโอมาฉีกสันออกเพื่อทำการตัดแปะแต่ละหน้าลงไปในสมุดโน้ต ผมใช้เวลากับการตัด การแปะ และการเขียนกำกับหน้าจากนิยายไปหลายชั่วโมงเลย

ผมทำสมุดโน้ตขึ้นอย่างระมัดระวังเพื่อที่มันจะได้อยู่รอดไปตลอดขั้นตอนการสร้างอันยาวนานเป็นเดือนๆ

ผมตั้งชื่อมันว่า ‘The Godfather Notebook’ และพิมพ์หมายเหตุตัวใหญ่ๆ เอาไว้ในหน้าแรกว่า

‘หากใครพบ โปรดส่งคืนยังที่อยู่นี้ จะมีรางวัลให้’ เพราะผมรู้ว่าทุกไอเดียจะถูกรวบรวมเอาไว้ในสมุดโน้ตเล่มนี้

มีหลายเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากการอ่านเรื่องราวเบื้องหลังของ The Godfather เรื่องที่โดดเด่นคือความเด็ดเดี่ยวของผู้กำกับฯ และวิธีที่เขาฝ่าฟันอุปสรรคที่มาจากความคิดต่างจนไปสู่เป้าหมาย กับเรื่องการทำงานอย่างมีระบบของผู้กำกับฯ ที่ยิ่งใหญ่

และการทำให้ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งกลายเป็นภาพยนตร์อมตะ เหมือนกับการสร้างแบรนด์แบรนด์หนึ่งให้อยู่ในใจคน จนสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งอาจจะมี The Godfather ภาค 4 ออกมาอีกก็ได้