บทวิเคราะห์ : สัมผัส “ลำพูน” จังหวัดสะอาด 2 ปีซ้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม มีประเด็นน่าสนใจเรื่องจังหวัดลำพูน คว้ารางวัล “จังหวัดสะอาด” 2 ปีซ้อน

นายกฯ ประยุทธ์บอกว่า จังหวัดสะอาดเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ”

แผนปฏิบัติการดังกล่าว นายกฯ ประยุทธ์อธิบายว่ามี 3 ระยะ

ระยะที่ 1 ต้นทาง คือลดปริมาณและส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ทุกครัวเรือน ทุกชุมชน

ระยะที่ 2 กลางทาง เป็นการจัดระบบเก็บและขนอย่างมีประสิทธิภาพ

ระยะที่ 3 ปลายทาง หมายถึงขยะมูลฝอยต้องถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้แก่ “3 ช : ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่”

หรือหลักสากลที่เรียกว่า 3 อาร์ (3 Rs : Reduce Reuse และ Recycle)

 

“ลําพูนเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จังหวัดสะอาดที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ตามแนวทางประชารัฐ ทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจ บริหารจัดการด้วยกัน ทั้งผู้บริหารระดับจังหวัด ส่วนราชการผู้รับผิดชอบ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และประชาชนในทุกหมู่บ้าน ชุมชน ต่างให้ความร่วมมือกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวชื่นชม

นายกฯ ยังชมเชยฝ่ายปกครองท้องถิ่นด้วย อาทิ การส่งเสริมการจัดการขยะมูลฝอยต้นทาง หรือแหล่งกำเนิด การทำความตกลงกับร้านค้าต่างๆ เพื่อรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารที่ย่อยสลายยากและมีผลกระทบกับสุขภาพ การคัดแยกขยะเปียก ในศูนย์อาหาร ร้านค้า สถานประกอบการ การขับเคลื่อนงานของจิตอาสาและอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก ใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียน ร่วมกันสร้างสรรค์เพื่อจัดการขยะโดยการนำเศษวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

นายกฯ กล่าวถึงชาวลำพูนสร้างสรรค์นวัตกรรมของจังหวัดลำพูน เช่น นำคัดแยกขยะเปียกในครัวเรือนมาทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไส้เดือน ทำน้ำหมักชีวภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ เฉลี่ยเดือนละ 280,000 บาท

เก็บขยะพลาสติกมาอัดเป็นก้อนโดยใช้เครื่องอัดพลาสติก โดยมีบริษัทกรีนไลน์ไปรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 2 บาท นำไปผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง รายได้จากการขายขยะพลาสติกนำไปพัฒนาหมู่บ้าน และจัดสวัสดิการแก่สมาชิกกองทุนขยะของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมีรายได้จากการนำขยะรีไซเคิลมาบริจาค รายได้นำเข้ากองทุนผู้สูงอายุของหมู่บ้าน เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกในกลุ่ม เช่น จ่ายเป็นเงินฌาปนกิจศพ เงินเยี่ยมผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการลำพูนเมืองสะอาด ปราศจากโฟม (No Foam) ทั้งจังหวัด ถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่ลด ละ เลิกการใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร แล้วส่งเสริมให้ใช้วัสดุธรรมชาติทดแทน ช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก และช่วยให้ชาวลำพูนมีสุขภาพดี

ส่วนการจัดมอบรางวัลจังหวัดสะอาดประจำปี 2561 นั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งาน พิจารณาแบ่งรางวัลตามระดับกลุ่มจังหวัด

จังหวัดลำพูนคว้ารางวัลชนะเลิศในกลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก

จังหวัดเลยได้รางวัลชนะเลิศในกลุ่มจังหวัดขนาดกลาง และจังหวัดลพบุรี ชนะเลิศในกลุ่มจังหวัดขนาดใหญ่

 

ถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลที่มาที่ไปโครงการคัดแยกขยะของจังหวัดลำพูนนั้นทำมานานตั้งแต่ปี 2547 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เวลาปลุกรณรงค์ให้ประชาชนทุกชุมชนคัดแยกขยะนานถึง 8 ปี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในปี 2555 เมื่อชุมชุนบ้านป่าเส้า ต.อุโมงค์ คว้ารางวัลชุมชนปลอดขยะต้นแบบระดับประเทศ

จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา ชุมชนบ้านน้ำพุ ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน และชุมชนบ้านป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ได้รับรางวัลชุมชนปลอดขยะขนาดกลาง

ปี 2560 หมู่บ้านป่าตึงงาม หมู่ที่ 3 ตำบลป่าสัก อ.เมืองลำพูน ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ขนาดเล็ก

การเดินตามแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ทำให้ปริมาณขยะในจังหวัดลำพูนลดลงเห็นได้ชัด มีชุมชนและหมู่บ้านต้นแบบการจัดการขยะ 295 แห่งจัดตั้งจุดทิ้งขยะอันตรายใน 608 หมู่บ้าน

มีระบบจัดการขยะติดเชื้อและขยะจากอุตสาหกรรมตามหลักวิชาการ และทำโครงการปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและขยะเปียกจนเห็นผล ทางจังหวัดลำพูนประกาศเป็นจังหวัดปลอดขยะเปียกในวันที่ 1 กันยายน 2560

เมื่อลำพูนได้รับรางวัล “จังหวัดสะอาดอันดับ 1 ของประเทศ” ในปีแรก ผู้ว่าฯ ต่อยอดด้วยการเปิดโครงการ “ลำพูนเมืองสะอาด ปราศจากโฟม” เน้นให้ประชาชน ร้านค้า ตลาด วัด ร่วมกันรณรงค์ลด ละ เลิกการใช้โฟมเพื่อบรรจุภาชนะในงานประเพณีและในร้านขายอาหาร หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคนในชุมชน

เส้นทาง “ลำพูน” ในการเปลี่ยนโฉมให้เป็นจังหวัดสะอาดจนกระทั่งได้รับรางวัล 2 ปีติดๆ กัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หากทำต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี

ถึงกระนั้นจังหวัดลำพูนจะเป็นเมืองสะอาด แต่ก็เป็นพื้นที่เล็กๆ เมื่อเทียบกับสัดส่วนประเทศ มีพื้นที่อีกมากมายยังคงเป็นเขตสกปรกเต็มไปด้วยขยะ เศษพลาสติก

 

เมื่อเดือนที่แล้ว นายกฯ ประยุทธ์บอกว่า แต่ละวันคนไทยสร้างขยะ 1.4 กิโลกรัมต่อวัน เฉลี่ยมีขยะทั่วประเทศ 27 ล้านตันต่อปี

ปริมาณขยะสะสมอยู่ทั่วประเทศไม่รู้ว่ามีจำนวนมากเท่าไหร่

ตราบใดยังมีคน ยังมีชุมชน ปัญหาขยะจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่แก้กันอย่างมุ่งมั่นและจริงจัง

ทางออกของปัญหาคือ ทำอย่างไรคนไทยจะมีสำนึกทิ้งขยะเป็นที่เป็นทาง

ทำอย่างไรจึงจะปลุกให้ทุกคนช่วยกันลดปริมาณขยะ ทิ้งขยะให้น้อยที่สุด และสามารถแยกขยะแต่ละประเภทอย่างมีระเบียบแบบแผน

ทำอย่างไรจึงให้แต่ละพื้นที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะ นำขยะไปกำจัดและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดของการแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยซึ่งมีผลลัพธ์ออกมาแล้วเช่นจังหวัดลำพูน

 

ก็ต้องขอบคุณนายกฯ คนนี้ที่จุดกระแสขยะจนกระทั่งกลายเป็นวาระแห่งชาติ

อาจจะกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับปัญหาขยะมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า (ถ้ามี) การเมืองพลิก พล.อ.ประยุทธ์หมดโอกาสนั่งเก้าอี้นายกฯ อีกรอบ

ผู้นำใหม่ที่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศแทนจะเดินหน้าสานต่อนโยบาย “ประเทศไทยไร้ขยะ” หรือไม่?