ที่ยุ่งยากเพราะกฎหมาย ?

เมื่อไม่นานมานี้ผมเขียนเรื่อง “คนอารมณ์เสีย” ด้วยความไม่เห็นด้วยกับท่าทีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากข่าว “นายกรัฐมนตรีตะเพิดนักข่าวทำเนียบ” เป้าหมายหลักก็เพื่อเปรียบเทียบอาการของคนอารมณ์เสียจาก 2 อาชีพ คือ นักการเมืองกับโชเฟอร์แท็กซี่

ก่อนจะไปถึงประเด็นหลักของเรื่อง ได้เท้าความไปถึงข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างโชเฟอร์แท็กซี่ป้ายเหลืองกับโชเฟอร์ที่ใช้แอพพลิเคชั่นเรียกจากผู้โดยสาร เช่น แกร็บหรืออูเบอร์ ตอนหนึ่งผมกล่าวว่า แกร็บได้เปรียบ “ถูกมองว่าเป็นพวกอภิสิทธิ์ชน สามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีรวมทั้งเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ ได้มากมายหลายประการ”

เป็นเหตุให้ได้รับ gmail ทักท้วงจากบริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์ ซึ่งดูแลงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทแกร็บ ประเทศไทย ว่า

“แกร็บเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์…นับแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2556 แกร็บได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้านภาษีอากรของกรมสรรพากรอย่างเคร่งครัด…นอกจากนี้ บริษัทยังมีการออกใบกำกับภาษีและหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับสมาชิกผู้ขับขี่ของเราทุกคน…ฯลฯ”

ได้เมล์ตอบขอโทษและรับผิดที่ใช้ข้อมูลเก่าจากการสัมภาษณ์แท็กซี่ป้ายเหลือง ครั้งที่อูเบอร์เข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆ

คิดเข้าข้างตัวเองว่าพ้นโทษไปแล้ว แต่ไม่ทันไรก็ได้ข่าว “รถรับจ้างรวมตัวไล่แกร็บคาร์” ทำให้รู้สึกผิดขึ้นมาอีกเป็นทวีคูณ

ข่าวที่ปรากฏต่อความรับรู้ของสังคมก็คือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ มีเหตุคนขับรถตุ๊กตุ๊กรับจ้างสาธารณะรวมหัวกันล้อมรถยนต์แกร็บ ข่มขู่คุกคามจะทำร้ายร่างกายคนขับ และสั่งให้ผู้โดยสารซึ่งเป็นชาวต่างชาติ (อเมริกันชาย-หญิงคู่หนึ่ง) ลงจากรถ

ต่อมาวันรุ่งขึ้น ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวแทนรถรับจ้างสาธารณะในจังหวัด หารือเพื่อแก้ปัญหาจากภาพเหตุการณ์ที่ปรากฏในคลิปที่แพร่ไปในสื่อออนไลน์จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เจ้าหน้าที่ขนส่งได้เชิญตัวคนขับรถตุ๊กตุ๊กอายุ 37 ปีที่ปรากฏในคลิปมาพบเพื่อว่ากล่าวตักเตือนและดำเนินการตามกฎหมาย

คนขับรถตุ๊กตุ๊กยอมรับว่าได้ก่อเหตุจริง เนื่องจากอัดอั้นมานานที่แกร็บคาร์เข้ามาให้บริการและแย่งผู้โดยสาร ที่ผ่านมาได้พยายามขอร้องด้วยดีมาตลอดแต่ไม่เป็นผลจนกระทั่งเกิดเหตุครั้งนี้ ตนรู้สึกเสียใจและขอโทษที่ทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่เสียหาย

แต่ที่ทำลงไปเพราะอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนขับรถรับจ้างสาธารณะที่ทำต้องถูกตามกฎหมาย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหากรณีแกร็บคาร์อย่างเด็ดขาดเสียที

ในที่สุด “จุดยุติ” ของกรณีนี้ก็คือ ผู้ขับขี่แกร็บคาร์ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ขนส่ง ข้อหาใช้รถผิดประเภท มีโทษปรับ 2,000 บาท และสั่งห้ามประกอบการขนส่ง และอาจจะปรับเจ้าของรถตัวจริงฐานยินยอมให้บุคคลซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะมาขับรถของตน 2,000 บาท

ตำรวจจังหวัดเชียงใหม่ให้ สภ.แม่ปิง ดำนินคดีคนขับรถตุ๊กตุ๊กทุกข้อหา ทั้งก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ พกพาอาวุธในที่สาธารณะ แต่งกายไม่สุภาพ ข่มขู่คุกคาม และทางสำนักงานขนส่งจังหวัดพักใบอนุญาตขับขี่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเดิมพบว่าคนขับรถตุ๊กตุ๊กไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ จึงปรับเจ้าของผู้ครอบครองรถฐานยินยอมให้บุคคลซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะมาขับรถของตน 2,000 บาท

ตามข่าวข้างต้น ผู้อ่านคงจะคาดว่า หลังจากปรับกันครบถ้วนตามข้อหาแล้ว น่าจะเป็น “จุดยุติ” แต่หากได้เห็นคลิปเดือดในสื่อออนไลน์และคอมเมนต์ที่ประณามว่า “เถื่อน” มันอาจจะเป็น “จุดนับหนึ่งใหม่” ของอีกเหตุการณ์ถัดไปก็ได้

ผมได้ดูคลิป ชาวต่างชาติโพสต์คลิปไทยเถื่อน ที่สำเนามาจากรายการข่าวช่อง 3 “เรื่องเด่นเย็นนี้” มีคำบรรยายประกอบว่า นักท่องเที่ยวเรียกใช้บริการรถแกร็บบริเวณสถานีขนส่งอาเขต เชียงใหม่ แต่เจอโชเฟอร์ตุ๊กตุ๊กเจ้าถิ่นคุกคามคนขับ รุมล้อมรถ มีไม้เป็นอาวุธ ทำให้หวาดกลัว สั่งให้ผู้โดยสารชาวต่างประเทศลงจากรถ

การที่กลุ่มรถตุ๊กตุ๊กกล่าวหาว่าแกร็บคาร์ผิดกฎหมาย พวกเขาลืมไปสนิทว่าตัวเองก็ผิดกฎหมายเช่นกัน ตั้งราคาค่าโดยสารที่สูงเกินควร เช่น จากหน้าโลตัสคำเที่ยง อย่างต่ำสุด 80 บาท กาดหลวง ประตูท่าแพ 100 บาท สถานีรถไฟ สนามบิน หรือไนท์พลาซ่า 150 บาท เป็นต้น เป็นเหตุให้ผู้โดยสารเรียกใช้บริการรถอื่น

ชาวเน็ตกล่าวว่า “ไทยเถื่อน” ทำเสียภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย

ไทยเถื่อนทำให้นึกถึงภาพที่ รปภ.สนามบินดอนเมืองทำร้ายนักท่องเที่ยว เหวี่ยงแขนฟาดหน้านักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้เรานึกย้อนกลับไปถึงเรื่องเรือฟินิกซ์ล่มที่ภูเก็ต เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับ “ไทยเถื่อน”

แต่เป็นเรื่องของการไม่รับรู้ในสิทธิและหน้าที่ของผู้อื่น รวมทั้งความเข้าใจผิดหรือสับสนใน “กฎหมาย”

คงเคยได้ยินเรื่องที่กรรมการการเลือกตั้งกล่าวถึงการที่ สนช.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่าเห็นด้วยกับประธาน กรธ. (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) เพราะถ้าร่างกฎหมายผ่านไปจนถึงขั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีปัญหาตามมา

นี่คือความ “อาจจะสับสน” ในเรื่องของกฎหมาย ถึงขั้นต้องขอ “ตีความ” ก่อนจะใช้!

อันที่จริงกฎหมายเป็นเรื่องที่มนุษย์บัญญัติขึ้น อาจจะเหมาะสมกับพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น มนุษย์ก็ควรมีสิทธิ์ที่จะยกเลิก หรือแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือเขียนขึ้นใหม่

สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี นายนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นรัฐมนตรีคมนาคม (ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีดาบอาญาสิทธิ์อย่าง ม.44) เลิกผูกขาดโควต้าแท็กซี่ ซึ่งเท่ากับหยุดปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน+ขุนศึก ออกกฎหมายและระเบียบข้อบังคับควบคุมโชเฟอร์ขับรถให้อยู่ในกรอบสารพัดเพื่อความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยของสังคม รวมทั้งมี “แท็กซี่มิเตอร์” เพื่อความเป็นธรรม ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร

ที่ผมใช้คำว่า “นายทุน+ขุนศึก” เพราะในยุคก่อนรัฐบาลอานันท์นั้น รัฐมนตรีซึ่งควบคุมโควต้าและบริหารการขนส่งมาจากอดีตนายทหารซึ่งสื่อมวลชนต่างตั้งสมญานามว่า “ขุนศึก”

เมื่อประกาศเลิกโควต้าแท็กซี่กันใหม่ๆ มีความตื่นเต้นค่อนข้างมาก ราวกับได้พบของแปลกประหลาดขึ้นในเมืองไทยอย่างที่ไม่เคยนึกฝันมาก่อน ในส่วนตัวของผมได้แต่อุทานอยู่ในใจว่า มันไม่น่าจะมีโควต้าหรือสัมปทานมาตั้งแต่เริ่มมีรถแท็กซี่คันแรกแล้ว

เราเหมือนรอผู้นำที่มีมันสมองและวิสัยทัศน์เข้ามาแก้ปัญหา-เท่านั้น