E-DUANG : ผลสะเทือน โซเชียล มีเดีย กับ การตีทะเบียนหมาแมว

กรณีครม.มีมติรับทราบหลักการร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรม และการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ ไม่เพียงเป็นตัวอย่างอันดีของกระ บวนการทำงานที่ขาดความรอบคอบรัดกุม

หากยังสะท้อนให้เห็นผลสะเทือนอันล้ำลึก กว้างขวางและรวดเร็วของ “โซเชียล มีเดีย”

นี่ไม่เพียงเป็นงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ที่สำคัญงานนี้ผ่านการรับทราบในที่ประชุมครม.เมื่อวันพุธที่ 10 ตุลาคม

และอีกเพียง 2 วันต่อมาก็ต้องระงับยับยั้ง

เพียง 2 วันเท่านั้นที่มีการแถลงโดยโฆษกรัฐบาล ความไม่พอใจก็แผ่กว้างราวกับไฟลามทุ่ง

นี่คือพลานุภาพแห่ง”โซเชียล มีเดีย”

 

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้สามารถปลุกและกลายเป็น”กระแส”ในโซเชียล มีเดีย ได้อย่างรวดเร็ว

คำตอบ 1 เพราะจุดอ่อน ช่องโหว่ของกฎหมาย

เหมือนกับเป็นความหวังดี แต่ก็กลายเป็นความหวังดีที่มีสภาพประสงค์ร้ายขึ้นมา เพราะเท่ากับเป็นการผลักภาระให้ประชาชน

ขณะที่รัฐบาลฝันหวานว่าจะสามารถกวาดเอา”เงิน”จากเจ้าของหมา แมวได้อย่างสบาย-สบาย

กลายเป็น 1 ในช่องทางหา”รายได้”

เพียง 1 วันก็ก่อ “ปฏิกิริยา”อย่างกว้างขวางผ่าน”โซเชียล มีเดีย” อย่างคึกคัก ส่งต่อข้อความและความรู้สึกออกไปอย่างรวดเร็ว ลึกซึ้ง

จาก”ออนไลน์”ก็กลายเป็นข่าวทางสื่อโทรทัศน์และสื่อหนังสือพิมพ์

ในที่สุดก็ต้องระงับยับยั้งอย่างเงียบ-เงียบ

 

บทเรียนจากกรณีตีทะเบียนหมาและแมวอย่างเหวี่ยงแหก็เหมือนกับกรณีห้ามนั่งท้ายรถกระบะ

สะท้อนว่าไม่รู้จัก”สังคมไทย”อย่างเพียงพอ เป็นจริง

สะท้อนว่าไม่ตระหนักในบทบาทและความหมายของสื่อโซ เชียล มีเดีย อย่างเป็นจริง ว่าสามารถสร้างความเห็นร่วมกระทั่งกลายเป็นกระแสในทางสังคมในที่สุด

โซเชียล มีเดีย คือพื้นที่ใหม่ในการสร้าง”ประชามติ”