ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 ตุลาคม 2561 |
---|---|
เผยแพร่ |
มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส
กฎหมายลาวที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง
มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ ขอสนองนโยบายรัฐบาล ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ประชาคมอาเซียน
ด้วยจะพาไปมองกฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องหรือนักลงทุนควรจะรับรู้และเข้าใจ ก่อนที่จะไปดำเนินกิจการใดๆ
กฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างของลาว นอกจากจะมีมากมายเหมือนกฎหมายในเมืองไทยแล้ว
ยังเกี่ยวพันไปกับนโยบายของรัฐ กิจการกระทรวง และเมืองสำคัญต่างๆ คล้ายกัน
จากการศึกษาของนายพิละสัก สีหาวง นิสิตลาวที่มาศึกษาปริญญาโทที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใช้เวลารวบรวมกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ มากมายไว้ในวิทยานิพนธ์เล่มหนา
มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างของลาว เริ่มจาก กดหมาย ที่มีลำดับศักดิ์เท่ากับ พระราชบัญญัติ ของไทย ลัดถะบันยัด เท่ากับ พระราชกำหนด ดำลัด เท่ากับ พระราชฎีกา และคำสั่ง ข้อตกลง คำแนะนำ ข้อกำนด แจ้งกาน และ ละเบียบ ที่รวมเทียบได้กับ กฎกระทรวง
กดหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง มีทั้งหมด 17 ฉบับ เกี่ยวกับกานก่อสร้าง (การก่อสร้าง) ผังเมือง ที่ดิน ปกปักฮักสาสิ่งแวดล้อม (ปกปักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม) มอละดกแห่งชาด (มรดกแห่งชาติ) กานขนส่งทางบก ชนละปะทาน (ชลประทาน) น้ำปะปา กานสะกัดกั้นและต้านอักคีไพ (การป้องกันอัคคีภัย) ฯลฯ
ส่วน ลัดถะบันยัด มีอยู่ 4 ฉบับ เกี่ยวกับกานอะนุลักมอละดกแห่งชาติ (การอนุรักษ์มรดกแห่งชาติ) พาสีที่ดิน ฯลฯ
เช่นเดียวกับ ดำลัด อีก 13 ฉบับ เกี่ยวกับคนพิกาน (คนพิการ) ป่าสะหงวน หอพิพิทะพัน (หอพิพิธภัณฑ์) ฯลฯ
ยังมีกฎกระทรวงอีก 42 ฉบับ ที่เป็นเรื่องเฉพาะ เช่น การสร้างบ้านและสุ่มย่าน (ชุมชน) มาดตะถานชั้นของโฮงแฮม (มาตรฐานโรงแรม) มาดตะถานโรงงานผลิตดินจี (อิฐ) ฯลฯ
ที่เหมือนกันกับไทย คือ กฎระเบียบที่เกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารในลาว อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหลายกระทรวง ได้แก่ โยทาทิกาน (โยธาธิการ) และขนส่ง ถะแหลงข่าววัดทะนะทำ และกานท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการค้า ซับพะยากอนทำมะชาด (ทรัพยากรธรรมชาติ) และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ เช่น แขวงหลวงพะบาง แผนกโยธาธิกานและขนส่ง นะคอนหลวงเวียงจัน เขตเสดถะกิดสะเพาะ (เขตเศรษฐกิจเฉพาะ) เป็นต้น
โดยกฎหมายที่เกี่ยวกับการก่อสร้างทั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มที่ดินและผังเมือง 15 ฉบับ ควบคุมอาคารและก่อสร้าง 52 ฉบับ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน 17 ฉบับ และวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอีก 5 ฉบับ
สำหรับรายละเอียดของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น สอบถามได้จากหน่วยงานต่างๆ ในลาวที่อ้างถึง หรือจะอ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเผยแพร่ไว้หลายช่องทาง
ดูเหมือนว่า เนื้อหาในกดหมายลาว มีความละม้ายคล้ายคลึงกับกฎหมายไทยพอสมควร นับเป็นโอกาสของคนไทยและลาว ที่จะทำงานร่วมกัน หรือไปทำงานในต่างถิ่น ได้ไม่ยากนัก
มีเพียงบางเรื่องที่แตกต่าง และที่แตกต่างอย่างมาก เห็นจะเป็นเรื่อง ศาลพระภูมิ ที่นิยมก่อสร้างในเมืองไทย โดยสถาปนิกและเจ้าของโครงการมักจะออกแบบก่อสร้างอย่างใหญ่โต ทั้งแบบประเพณี และแบบร่วมสมัย และสร้างในตำแหน่งโดดเด่นด้านหน้าอาคารหรือโครงการ
ซึ่งในเรื่องนี้ ใน สปป.ลาวกลับจะควบคุมต่างออกไป ดังความใน แจ้งกาน ห้ามให้สำนักงาน องกอนทุละกิดของลัดและเอกชน ปูกส้างหอบูชา สานพะพูม และหอผี ไว้ด้านหน้าสำนักงาน และเฮือนแบบเปิดเป็น และโลดโผน
ซึ่งหมายถึง การห้ามไม่ให้สำนักงานและองค์กรธุรกิจของรัฐและเอกชน ปลูกสร้างหอบูชา ศาลพระภูมิ และหอผี ไว้หน้าสำนักงาน และห้ามก่อสร้างใหญ่โตหรือมีรูปแบบพิสดาร