ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (14)

ในตอนที่แล้ว เราได้บรรยายถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญในโปแลนด์จนบานปลายกลายเป็นวิกฤตรัฐธรรมนูญ

ในตอนนี้จะกล่าวถึงกรณีของตุรกีซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองกับศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง โดยมีสาเหตุมาจากศาลรัฐธรรมนูญเข้าขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่ออุดมการณ์แบบ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก บิดาของตุรกีสมัยใหม่

ตามรัฐธรรมนูญตุรกี 1961 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของรัฐบัญญัติและข้อบังคับการประชุมสภาแห่งชาติ ดังนั้น วัตถุแห่งคดีตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในศาลรัฐธรรมนูญ ได้แก่ รัฐบัญญัติ และข้อบังคับการประชุมสภาแห่งชาติเท่านั้น

ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ภายหลังใช้รัฐธรรมนูญ 1961 มาได้ 9 ปี ความขัดแย้งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภาก็เริ่มขึ้นโดยมีมูลเหตุมาจากรัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาขัดขวาง

ตามรัฐธรรมนูญ 1961 บุคคลซึ่งถูกลงโทษในการกระทำความผิดบางประเภทไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับการนิรโทษกรรมในภายหลังก็ตาม

ต่อมา รัฐสภาได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว โดยตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เลขที่ 1188 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 1969 เพื่อตัดถ้อยคำว่า “แม้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับนิรโทษกรรม” ออกไป นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ บุคคลที่กระทำความผิดบางประเภทและได้รับนิรโทษกรรมแล้วย่อมมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยตัดถ้อยคำเพียง 4 คำว่า “affa ugramis olsalar da” (แปลว่า “แม้บุคคลนั้นจะได้รับนิรโทษกรรม”) ส่งผลให้มีบุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองจำนวนมากจากพรรค Democrat ที่ถูกตัดสินลงโทษจากคดี Yassiada ภายหลังรัฐประหาร 27 พฤษภาคม 1960

 

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกองทัพกับพรรคการเมือง และระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา

พรรคแรงงานได้เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เลขที่ 1188 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 1969 ขัดกับรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญใน คำวินิจฉัยลงวันที่ 16 มิถุนายน 1970 ยืนยันว่าตนมีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็น “กฎหมาย” ประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับกฎหมายอื่น

ในเมื่อรัฐธรรมนูญนี้ได้กำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งในด้านกระบวนการและเนื้อหาไว้ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเคารพเงื่อนไขทางเนื้อหาและกระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่

ในส่วนของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ 1961 มาตรา 155 กำหนดให้การเสนอกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาขึ้นไป การลงมติให้ความเห็นชอบต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาขึ้นไป และห้ามใช้กระบวนการตราแบบฉุกเฉินเร่งด่วน

นอกจากนี้ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดให้การลงมติในร่างกฎหมายต้องกระทำสองครั้ง โดยครั้งแรกลงมติรายมาตรา และครั้งที่สองลงมติทั้งฉบับ

ในส่วนของข้อจำกัดทางเนื้อหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ได้ห้ามมิให้เสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อความเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญยังได้ขยายความต่อไปว่า

คำว่า “สาธารณรัฐ” ไม่ได้หมายความว่า “สาธารณรัฐ” เท่านั้น แต่หมายถึง “ระบอบสาธารณรัฐ” ซึ่งแสดงออกให้เห็นในบทบัญญัติมาตรา 1 มาตรา 2 อันได้แก่ สาธารณรัฐ ชาตินิยม ประชาธิปไตย รัฐแยกออกจากศาสนา สังคม การปกครองโดยกฎหมายที่ตั้งอยู่บนสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในคำปรารภ ดังนั้น กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจกระทบหรือละเมิดหลักการดังกล่าวได้

ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยมติ 8 ต่อ 7 วินิจฉัยว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกระบวนการตราตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงต้องสิ้นผลไป และไม่จำเป็นต้องพิจารณาต่อว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้มีเนื้อหากระทบต่อความเป็นสาธารณรัฐหรือไม่

 

ในปีถัดมา ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ในคราวนี้ รัฐสภาได้ตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เลขที่ 1254 ลงวันที่ 17 เมษายน 1970 เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาออกไปอีก 1 ปี 4 เดือน พรรคแรงงานได้เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยลงวันที่ 3 เมษายน 1971 ยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิมว่าตนมีอำนาจตรวจสอบว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทบกับข้อจำกัดทางเนื้อหาที่ว่าด้วยความเป็นสาธารณรัฐหรือไม่

โดยในครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายข้อจำกัดทางเนื้อหาออกไป นอกจากจะยืนยันว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบต่อสาธารณรัฐ ชาตินิยม ประชาธิปไตย รัฐแยกออกจากศาสนา สังคม และหลักการปกครองโดยกฎหมายที่ตั้งอยู่บนสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในคำปรารภแล้ว

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังต้องสอดคล้องกับพื้นฐานของความอารยะร่วมสมัย และไม่กระทบต่อความเชื่อมโยงและความเป็นระบบของรัฐธรรมนูญทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เลื่อนการเลือกตั้งวุฒิสภาออกไปนั้นตราขึ้นโดยชอบตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ด้วยมติ 10 ต่อ 5 และมีเนื้อหาที่ไม่กระทบต่อความเป็นสาธารณรัฐและหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ด้วยมติ 11 ต่อ 4

จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญตุรกีได้ยืนยันอำนาจการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 1961 ไม่ได้ให้อำนาจ โดยศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบทั้งกระบวนการตราและเนื้อหาของกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยให้กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปหนึ่งฉบับ โดยอาศัยเหตุที่ว่าตราขึ้นโดยไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนด

 

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญตุรกีได้ประกาศเองว่าตนมีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งในทางรูปแบบและกระบวนการตราและในทางเนื้อหา ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้เลย ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญขึ้น

รัฐสภาตุรกีตัดสินใจเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 1971 เพื่อกำหนดขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน

โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เฉพาะรูปแบบและกระบวนการตราเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจตรวจสอบว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่กระทบกับหลักความเป็นสาธารณรัฐหรือหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญทั้งระบบได้

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ยัง “ตีความ” รัฐธรรมนูญเพื่อเข้ามาตรวจสอบว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่กระทบกับหลักความเป็นสาธารณรัฐหรือหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญทั้งระบบหรือไม่ได้อยู่ดี