เกษียร เตชะพีระ : กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยได้ใช้ประชาธิปไตยกันมาอย่างไร?

เกษียร เตชะพีระ

ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน ย้อนอ่าน 30 ปี 14 ตุลาฯ (2)

กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยได้ใช้ประชาธิปไตยกันมาอย่างไร?

อุดมคติ หลักการและสถาบันระบอบประชาธิปไตยถือกำเนิดและวิวัฒน์ขึ้นในสังคมตะวันตก กล่าวในแง่นี้สังคมไทยเรารับระบอบประชาธิปไตยมาทีหลังหรือยืมเขามา มันมิได้ถือกำเนิดขึ้นในเนื้อดินทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเราเอง

ทว่ากระบวนการยืมประชาธิปไตยมาจากตะวันตกของเมืองไทยเรานั้น มิใช่ทำไปอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบ หรือยกเอามาครอบลงทีเดียวทั้งหมด

ตรงกันข้าม ประวัติการยืมประชาธิปไตยเข้ามาใช้ในสังคมไทยบ่งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชนต่างๆ ที่เติบโตขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจของไทยเราเลือกสรรหยิบยืมเอามาเฉพาะบางส่วนบางตอน แล้วนำมาดัดแปลงแต่งเสริมใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มตน

หากจะเปรียบไปก็คือกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยยืมประชาธิปไตยจากตะวันตกมาใช้ เสมือนมันเป็นเทคโนโลยีทางการเมืองชนิดหนึ่ง

ไม่ต่างจากการยืมรถถัง เครื่องบิน หรือคอมพิวเตอร์จากตะวันตกมาใช้

และจุดประสงค์ในการใช้นั้นก็เพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนขึ้น

ฉะนั้น ในขณะที่ระบอบเสรีประชาธิปไตยในตะวันตกถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มกระฎุมพีผู้มีทรัพย์ในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากสถาบันกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ ระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยเรากลับถือกำเนิดขึ้นโดยเป็นเครื่องมือของกลุ่มข้าราชการในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

หลัก 6 ประการของคณะราษฎรซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการทหารและพลเรือนระดับกลางเกือบทั้งหมดมีขึ้นก็เพื่อเข้าแทนที่หลักสมบูรณาญาสิทธิ์ของระบอบการปกครองแบบเดิม

สถาบันรัฐธรรมนูญถูกนำมาจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้กฎหมาย แทนที่จะอยู่เหนือกฎหมายคือเป็นผู้ออกกฎหมายดังก่อน

สถาบันรัฐบาลเข้าบริหารประเทศแทนคณะเสนาบดีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งแต่เพียงพระองค์เดียว

และสถาบันรัฐสภาก็เข้ามารวบอำนาจอธิปัตย์ทางนิติบัญญัติจากองค์ราชาธิปัตย์เดิม

แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากความเป็นข้าราชการของคณะราษฎรทำให้การกระจายอำนาจรัฐออกไปนอกระบบราชการเกิดขึ้นแต่เพียงในระดับจำกัด

สถาบันรัฐสภาอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการผ่านสมาชิกรัฐสภาประเภทแต่งตั้ง

สถาบันพรรคการเมืองถูกชะงักการเติบโตไว้เป็นเวลากว่าสิบปี

ในขณะที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนเองถูกควบคุมตรวจตรา โดยการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ของรัฐบาล กรมตำรวจ ศาลพิเศษและกลไกของการปกครองอื่นๆ

ข้อสังเกต 2 ประการที่น่าจะทำไว้ในตอนนี้เกี่ยวกับการนำเข้าประชาธิปไตยของระบบราชการไทยก็คือ :

1) การนำเข้ามิใช่นำเข้ามาอย่างเบ็ดเสร็จ หากแต่นำเข้าอย่างมีการเลือกสรร กล่าวให้เป็นรูปธรรมก็คือ ในบรรดาหลักการและสถาบันประชาธิปไตยตะวันตกทั้งหลายทั้งปวงนั้น คณะราษฎรเลือกเน้นสร้างบางสถาบัน คุมกำเนิดบางสถาบัน และดัดแปลงบางสถาบัน ดังรายละเอียดคร่าวๆ ข้างต้น

2) พึงต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า การที่ระบบราชการเป็นผู้นิยามและใช้ประชาธิปไตยต่อต้านพลังศักดินาในช่วงนี้มิได้หมายความว่าระบบราชการสามารถผูกขาดการใช้ประชาธิปไตยไว้ผู้เดียว หากแต่มีช่องว่าง โอกาสและความพยายามของพลังสังคมกลุ่มอื่นที่จะเข้ามาใช้หรือร่วมใช้ประชาธิปไตยเพื่อชิงอำนาจจากระบบราชการเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น พระราชหัตถเลขาเนื่องในคราวสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7 ก็คือการใช้หลักประชาธิปไตยมาวิพากษ์การปกครองของระบบราชการผู้นำประชาธิปไตยเข้ามาแต่ต้นเอง

หรือการที่ฝ่ายอนุรักษนิยมศักดินาตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อต่อสู้กับกลุ่มคณะราษฎรในเวทีรัฐสภา และพลังนักการเมืองท้องถิ่นทางหัวเมืองที่ตั้งพรรคการเมืองและเข้าสู่ระบบรัฐสภา ก็เป็นการใช้เครื่องมือของระบบราชการสู้กับอำนาจระบบราชการเช่นกัน

ด้วยกรอบการมองเช่นนี้ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนต่อเผด็จการทหาร 3 ทรราชเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นการที่นายทุนร่วมกับคนชั้นกลางในเมืองต่อสู้กับระบบราชการด้วยเครื่องมือประชาธิปไตยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าประเด็นที่จุดชนวนเหตุการณ์ 14 ตุลาคมขึ้นนั้น คือการเรียกร้องสถาบันรัฐธรรมนูญจากคณะปฏิวัติ 3 ทรราช

หลังเหตุการณ์ สถาบันการเมืองที่ถูกเน้นความสำคัญมากได้แก่สถาบันรัฐสภาและพรรคการเมืองซึ่งครอบงำโดยนายทุนและสถาบันอิสระนอกรัฐสภาซึ่งประชาชนเป็นผู้จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิผลประโยชน์ของตน

ทิศทางการเมืองในทศวรรษกว่าหลังปี 2516 มาก็ยังคงเป็นการต่อรองชิงอำนาจจากระบบราชการของนายทุนโดยใช้สถาบันรัฐสภาและพรรคการเมือง เช่น การจำกัดอำนาจของวุฒิสภาลงเรื่อยๆ การพยายามสร้างและคุมพรรคการเมืองให้เป็น “ธุรกิจการเมือง” การเสนอ เรียกร้องให้ปฏิรูประบบราชการและกระจายอำนาจราชการออกไป ฯลฯ

ในทำนองเดียวกัน ระบบราชการก็ไม่ยอมปล่อยให้นายทุนใช้ประชาธิปไตยอยู่ฝ่ายเดียว หากพยายามเข้ามาเล่นเกมอำนาจในเวทีรัฐสภาและพรรคการเมืองด้วย เช่น เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟื้นอำนาจของวุฒิสภา ซื้อตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนในการลงมติครั้งสำคัญ โจมตี ปั่น และบ่อนทำลายพรรคการเมืองด้วยสื่อสารมวลชนในมือของตน พยายามตั้งพรรคการเมืองของอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือพรรคการเมืองภายใต้การสนับสนุนของกองทัพ แทรกแซงและควบคุมสถาบันอิสระของมวลชนนอกรัฐสภา เช่น สหภาพแรงงาน

ไปจนถึงกระทั่งสงวนเสียงชี้ขาดอย่างไม่เป็นทางการในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ขู่และพยายามทำรัฐประหาร

จากการหันไปมองประวัติการใช้ประชาธิปไตยของกลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยดังกล่าว เราอาจสรุปขั้นต้นได้ว่า :

1) ระบอบประชาธิปไตยอย่างน้อยในเมืองไทยไม่จำต้องเป็นเครื่องมือทางการเมืองเฉพาะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือทางการเมืองเฉพาะของชนชั้นนายทุนตามทฤษฎีตะวันตกบางทฤษฎี

ตรงกันข้าม ประวัติการนิยาม เลือกสรร และใช้ระบอบประชาธิปไตยของเมืองไทยชี้ว่า กลุ่มชนต่างๆ ต่างมีความพยายามและความสามารถที่จะเข้ามานิยามและใช้ระบอบประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแสวงอำนาจให้แก่กลุ่มตนได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ พลังอนุรักษ์ศักดินา นายทุน หรือประชาชน

2) ในการที่แต่ละกลุ่มชนในสังคมไทยเข้านิยามและใช้เครื่องมือทางการเมืองชิ้นนี้ พวกเขาต่างก็นิยาม ยืม เลือกสรร ปั้นแต่ง และดัดแปลงหลักการและสถาบันระบอบประชาธิปไตยไปต่างๆ กันตามแต่ลักษณะ สถานะ กำลังของกลุ่มพวกเขาจะบัญชา

พูดง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่กลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือได้ แต่พวกเขาแต่ละกลุ่มก็เน้นย้ำ ดัดแปลงองค์ประกอบทางหลักการและสถาบันของระบอบประชาธิปไตยไปต่างๆ กัน ตามสภาพของกลุ่มเขาและสถานการณ์การชิงอำนาจ

(ยังมีต่อ)