จีนกับวัฒนธรรมการ “เลียนแบบ” สู่ผู้ที่ทำให้ “สนามรบ” เกิด “ผู้ประกอบการ” ที่โลกเกรงกลัว

“เอธิโอเปีย”

เจฟฟ์ เบซอส

เจ้าของบริษัท อเมซอน ดอตคอม (Amazon.com)

บริษัทขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผู้สั่นสะเทือนวงการ “ค้าปลีก”

เขาเคยเผยเคล็ดลับการทำธุรกิจที่สำคัญ

เรียกว่า “ฟลายวีล (Flywheel)”

ทำของที่ลูกค้าต้องการให้ดีที่สุด

เมื่อลูกค้ามาใช้แล้ว คุณจะได้ทั้งเงิน ทั้งข้อมูล

เอาเงินที่ได้ไปลดราคาสินค้า พัฒนาบริการให้ลูกค้า

เอาข้อมูลไปพัฒนา “สมอง” ของผลิตภัณฑ์ ทำให้รู้ใจลูกค้าที่สุด

ลูกค้าก็จะเกิดความพึงพอใจ กลับมาใช้สินค้าใหม่

คุณก็จะได้เงิน และข้อมูลมากที่สุดอีก

บริษัทใดก็ตามที่ทำให้ “ฟลายวีล” นี้เกิดขึ้น

คู่แข่งจะไม่มีทางตามทัน

บริษัทระดับโลกอย่างกูเกิล หรือเฟซบุ๊ก

ก็ล้วนแต่มี “ฟลายวีล” ด้วยกันทั้งสิ้น

พวกเขาจะปิดประตูแพ้

จริงหรือ?

เมื่อวันก่อน ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า

“AI Super-Powers China, Silicon Valley and the New World Order”

เขียนโดย ไค-ฟู ลี หัวเรือใหญ่ของกูเกิล ประเทศจีน

พูดบอกเล่าเรื่องราวของ “ปัญญาประดิษฐ์”

ที่ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศจีน และซิลิคอนวัลเลย์ ที่อเมริกา

เมื่อสมัยสักสิบกว่าปีก่อน

ถ้าพูดถึงสินค้าของเมืองจีน เราก็มักจะนึกถึงสินค้า “ลอกเลียนแบบ”

คุณภาพปานกลาง ถึงคุณภาพแย่

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริงครับ

หลายปีผ่านไปในวงการเทคโนโลยี ก็เกิดเหตุการณ์ซ้ำๆ เช่นเดิม

จากชายผู้หนึ่งที่ชื่อว่า “หวังเซียง”

หวังเซียงได้มีโอกาสไปร่ำเรียนที่ประเทศอเมริกา

เป็นเวลาใกล้เคียงกับช่วงที่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก”

เริ่มที่จะปล่อย “เฟซบุ๊ก” ให้เพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยได้ใช้ในการทำความรู้จักกัน

“หวังเซียง” เห็นเป็นโอกาสที่ดีในการทำธุรกิจ

จึง “ลอกเลียนแบบ” เลย

เอามาทำที่เมืองจีน และได้ผลสำเร็จประมาณหนึ่ง

แต่ไม่ใช่แค่นั้น

ในเวลาอีกไม่กี่ปี

หวังเซียงยังตั้งบริษัทเพิ่มเติมอีกสองบริษัท

เพื่อลอกเลียนแบบบริษัท “ทวิตเตอร์ (Twitter) และกรุ๊ปปอน (Groupon)”

ซึ่งขณะนั้นก็เริ่มที่จะโด่งดังที่ประเทศอเมริกา

ที่ว่าลอกเลียนแบบนั้น เป็นเพราะหน้าตาของเว็บไซต์เหมือนเป๊ะ

ถอดแบบมาจากต้นฉบับ

คนจีนด้วยกันเองยังรู้สึก “เขิน”

หากแต่ว่า “หวังเซียง” เองก็เป็นคนหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแส “สตาร์ตอัพ (Start-Up)” ในเมืองจีนได้ไม่น้อย

จะว่าไปแล้ว

บริษัทอย่างอาลีบาบาเองก็มีโมเดลธุรกิจที่คล้ายๆ กับ “อเมซอน” ในช่วงแรกๆ

“ไป่ตู้” เองก็คล้ายกับ “กูเกิล” เสียเหลือเกิน

“วีแชต” เองก็ไม่แตกต่างจากเว็บแชตอย่าง “วอตส์แอพพ์ (Whatsapp)”

แต่ว่าทำไมบริษัทข้างต้นเหล่านี้กลับกลายเป็น “มหาอำนาจ” ไปได้

สร้างรายได้หลายแสนล้านในปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้มีคำตอบง่ายๆ ครับ

หาก “ไอน์สไตน์” ไปเกิดในประเทศ “เอธิโอเปีย”

เขาก็คงจะขาดสารอาหาร

เติบโตเป็น “นักวิทยาศาสตร์” ระดับโลกไม่ได้

ปัญญาประดิษฐ์ก็เช่นกัน

ไม่ว่าไอเดียจะดีเลิศแค่ไหน

หากเกิดในประเทศที่มี “ประชากร” น้อย ข้อมูลน้อย

ปัญญาประดิษฐ์ก็ยากที่จะเติบโต

ในโลกของปัญญาประดิษฐ์

คนที่มี “ไอเดีย” ที่ดีที่สุด

อาจจะไม่ใช่คนที่ชนะเสมอไป

เด็กคนหนึ่งจะเติบโตได้

มีแค่ “ดีเอ็นเอ” ที่ดีติดตัวมาตอนเกิดคงจะไม่พอ

เขาจะต้องมี “อาหาร” รับประทานด้วย

หากเราเปรียบปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนเด็กคนหนึ่งแล้ว

อาหารก็คือ “ข้อมูล” นั่นเอง

ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนที่มีประชากรกว่าพันล้านคน ได้ผลิตข้อมูลออกมามากมาย

ผู้ประกอบการจึงสามารถพัฒนา “ปัญญาประดิษฐ์” ได้อย่างรวดเร็ว

เรียกได้ว่าเร็วกว่าคนเก่งๆ จบมหาวิทยาลัยดีๆ ที่แถบอเมริกาด้วยซ้ำไป

นี่คือปัจจัยแรก ที่ทำไมจีนจึงจะชนะอเมริกาในหัวข้อที่สำคัญนี้

ปัจจัยที่สอง ที่สำคัญก็คือ คนอย่าง “หวังเซียง” นี่แหละที่มีอยู่มากมาย

ในโลกของสตาร์ตอัพเมืองจีน เป็นเหมือน “สนามรบ” ก็ว่าได้

ใครก๊อปใครได้ ก็ก๊อปเลย

ใครจะขโมยคนของใครได้ ก็ขโมย แย่งตัวกันอย่างไม่เกรงใจ

ใครที่อ่อนแอ ก็จะเป็นเหยื่อของผู้ที่แข็งแกร่ง

คนที่จะชนะคือคนที่พัฒนาของใหม่ๆ ได้อยู่ตลอดเวลา

และสนามรบแห่งนี้ก็ก่อกำเนิด “ผู้ประกอบการ” ที่มีแผลเต็มตัว

พร้อมต่อสู้ในเวทีโลก ในแบบที่ประเทศอื่นๆ ทำไม่ได้

คนที่ชนะในจีนได้ ก็จะเป็นคนที่ชนะได้ระดับโลกอย่างไม่ยากเย็น

“แจ๊ก หม่า” คงจะเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

FILE PHOTO: Alibaba Group Executive Chairman Jack Ma gestures as he attends the 11th World Trade Organization’s ministerial conference in Buenos Aires, Argentina December 11, 2017. REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

วัฒนธรรมการ “เลียนแบบ” อย่างไม่เกรงใจนี่แหละ

ทำให้ “สนามรบแห่งนี้” สร้าง “ผู้ประกอบการ” ที่โลกเกรงกลัว

อาลีบาบาที่กำลังเข้าไปในประเทศอเมริกาอย่างเงียบๆ จะทำให้เกิดอะไรขึ้น

ไป่ตู้ ที่วิจัยรถยนต์ไร้คนขับ ไม่ต่างจากของกูเกิลอย่างเงียบๆ

ฟลายวีลของอเมซอน กูเกิล เฟซบุ๊ก จะยังใช้ได้ผลอยู่อีกนานมั้ย

รอดูกันยาวๆ ครับ