เกิดระบบแฟรนไชส์ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชุดมีชัย ฤชุพันธ์ ได้อย่างไร / ฉบับประจำวันที่ 12-18 ตุลาคม 2561

แฟรนไชส์ มีความหมายว่า กิจการที่แตกสาขาออกมาจากบริษัทแม่ โดยเจ้าของกิจการร่วมทุนกับบริษัทแม่ และมีการแบ่งผลประโยชน์กัน.
ดูตามความหมายแล้ว
แม้จะไม่ตรงเป๊ะๆ แต่พรรคการเมืองไทย ดูจะดำเนินไปในลักษณะคล้าย ระบบแฟรนไชส์ มากขึ้นทุกที
ว่าที่จริง นี่ไม่ใช่สิ่งเหนือความคาดหมาย
เพราะอย่างที่ทราบกัน รัฐธรรมนูญฉบับชุดมีชัย ฤชุพันธ์ ได้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม
มีเป้าหมายชัดเจน ที่จะไม่ให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด ครองเสียงข้างมาก ในสภา
จึงออกแบบระบบการเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองเล็กลง หวังให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม
เพื่อที่จะไม่ให้เกิด ภาวะเช่นพรรคไทยรักไทยพลังประชาชน และเพื่อไทย ผูกขาดบริหารประเทศงเช่นที่ผ่านมา
ขณะที่นักวิชาการหรือพรรคการเมือง ต่างวิพากษ์วิจารณ์ ระบบเลือกตั้งรูปแบบนี้ว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ มีโอกาสที่จะซื้อเสียงมากขึ้น และไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง ฯลฯ
และที่สำคัญ ไม่มีหลักประกันว่า จะควบคุมให้พรรคการเมือง เดินตามระบบอย่างเซื่องๆ
ปราศจากการปรับตัว ให้ได้ประโยชน์จากหลักเกณฑ์ที่วางไว้
ซึ่งบัดนี้ก็เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว ในฝั่งฟากพรรคเพื่อไทยที่ได้วางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยการ”แยกกันเดิน ร่วมกันตี”
ผ่านเครือข่าย “เพื่อ”
ทั้งเพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ และอาจจะมีเพื่ออื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีก
ยุทธศาสตร์นี้ ถือเป็น การใช้”หอกคืนสนอง” รัฐธรรมนูญฉบับ”มีชัย”
และยังเป็นการถ่วงดุล ต่อกร ต่อสู้ กับ กลุ่ม “พลัง”ที่เติบโต คู่มากับรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และอำนาจของ คณะรัฐประหาร
ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนปฏิรูป พลังชาติไทย พลังธรรมใหม่ พลังพลเมืองไทย ฯลฯ
ไม่ให้ ผงาดคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จง่ายๆ อย่างที่ปูทาง”ฝัน”เอาไว้
ศึกแฟรนไชส์ การเมือง ระหว่าง กลุ่ม”เพื่อ”กับกลุ่ม”พลัง” จึงย่อมดุเดือดเลือดพล่านอย่างไม่ต้องสงสัย
—————-