เหตุและผลที่ต้อง “เที่ยว” พยายามเพิ่มวันหยุดกันทุกวิถีทาง

อย่าว่าแต่การบริหารเศรษฐกิจระดับประเทศเลยที่จะต้องเปิดทางให้การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสูงขึ้น ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ไม่อยากจะพูดถึงกัน ทำให้การส่งออกเผชิญกับอุปสรรคที่จะต้องใช้การรอเวลาเท่านั้นที่จะแก้ไข และส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่ต้องลดลงตาม ต่อเนื่องถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่ได้รับผลจากรายได้ที่ลดลง การกระตุ้นให้คนต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในไทยจึงเพิ่มความสำคัญที่จะก่อกำลังซื้อไปหมุนเศรษฐกิจ

ความหวังจากการลงทุนภาครัฐในประเทศที่ประชาชนอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ กับการเสียภาษีในภาวะที่รายได้ชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั่วหน้า

ประเทศมีความหวังจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

ขณะที่ในจังหวัดต่างๆ คาดหวังว่าคนจังหวัดอื่นจะเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดของตัว

เหตุผลก็เป็นเช่นเดียวกัน รายได้จากผลผลิตการเกษตรตกต่ำ เนื่องจากขาดการบริหารจัดการ ความอ่อนด้อยในเรื่องการตลาด ไม่มีความสามารถในการทำมาค้าขาย ส่งผลให้โทษเกษตรกรว่าผลิตมาจนล้นเกิน และทำให้ราคาตกต่ำ

การแก้ไขที่มุ่งไปที่ลดการผลิตเพื่อหวังว่าพืชผลน้อยลงจะทำให้ราคาสูงขึ้นโดยไม่คำนึงถึงว่านั่นเป็นการลดศักยภาพการผลิตของเกษตรกรทำให้รายได้ลดลงตั้งแต่ยังไม่เริ่มขาย

หนำซ้ำเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคอื่นเนื่องจากนโยบายทำให้สินค้าขาดแคลน

เพียงแต่ความหวังที่จะเห็นความเชี่ยวชาญในเชิงการตลาดในยุคสมัยเช่นนี้เป็นเรื่องที่หวังเกินความเป็นจริง เพราะกระทั่งการดำเนินนโยบายเลียนแบบเหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วไปไม่รอด

เพราะเลียนแค่รูปแบบแต่เหมือนไม่เข้าใจผลึกภูมิปัญญาของโครงการที่ไปเลียนแบบมา

ในสภาพที่กำลังซื้อในท้องถิ่นหดหาย แถมถูกกลไกลการปกครองบังคับบัญชาให้ต้องลดการเพาะปลูก บรรดาผู้มีหน้าที่บริหารจัดการท้องถิ่นจึงเหลือทางรอดที่เป็นสูตรสำเร็จหนึ่งเดียวคือกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด

มีการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวมากมาย

ว่าไปวิธีนี้น่าจะพอมีความหวังอยู่บ้าง เพราะหากย้อนกลับไปดูผลสำรวจของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ในเรื่อง “พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทย พ.ศ.2559” (ในรอบปี 2558) จะพบว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้ว คนไทยเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ

คนเดินทางท่องเที่ยวรายปี ซึ่งนิยามไว้ที่เดินทางข้ามจังหวัด

ปี 2554 มีร้อยละ 54.8 ปี 2555 เป็นร้อยละ 57.8 ปี 2556 เป็นร้อยละ 64.7 ปี 2557 ร้อยละ 64.9 และปี 2559 ร้อยละ 65.2

อาจจะเป็นเพราะถนนหนทางสะดวกสบายขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนคิดที่จะเดินทางมากขึ้น เพราะจากสถิติร้อยละ 67.0 เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ร้อยละ 15.9 เดินทางด้วยรถโดยสาร รถตู้ ร้อยละ 13.5 ด้วยรถเช่าต่างๆ และร้อยละ 3.6 ด้วยรถไฟ เครื่องบิน

หรืออื่นๆ

การท่องเที่ยวแต่ละครั้งใช้เงินกันพอสมควร โดยเทียบต่อหัวแต่ละนักท่องเที่ยวที่มาจากจังหวัดใด โดยเฉลี่ย จะออกมาดังนี้

คน กทม. 3,984 บาท คนภาคกลาง 2,458 บาท คนภาคตะวันออก 3,061 บาท คนภาคเหนือ 2,151 บาท คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,404 บาท คนภาคใต้ 3,356 บาท

ถือเป็นการใช้จ่ายที่กระตุ้นกำลังซื้อได้พอสมควร หากเป็นภาวะปกติ

แต่ในเวลานี้ ที่อารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อกระเป๋าสตางค์ตัวเองเปลี่ยนแปลงไป จะหวังการท่องเที่ยวว่าจะช่วยกู้เศรษฐกิจในท้องถิ่นได้แค่ไหน ดูจะเป็นคำถามที่ไม่น่าจะมีใครให้คำตอบได้ชัดเจนนัก

แม้จะพยายามเพิ่มวันหยุดยาวกันทุกวิถีทางจนมีแทบทุกเดือน

ทว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการ ตั้งแต่การวางนโยบาย จนกระทั่งลงรายละเอียดของการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดการจูงใจอยากท่องเที่ยว