เพ็ญสุภา สุขคตะ : 84 ปี “อินสนธิ์ วงค์สาม” การเรียนรู้-ครูบาศรีวิชัย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เจ้าหนานหมื่นผู้รู้ใจบุตรชาย
และเรื่องเล่าถึง “ครูบาเจ้าศรีวิชัย”

เจ้าหนานหมื่น วงค์สาม บิดาของคุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม

ถือว่าเป็นผู้มีส่วนช่วยผลักดันให้คุณลุงอินสนธิ์ก้าวเดินสู่เส้นทางศิลปินอย่างสง่างาม

เนื่องจากเจ้าหนานหมื่นเป็นผู้รู้ใจบุตรชายเป็นอย่างดี

คือรู้ใจว่าบุตรชายคนนี้ก็ไม่ประสงค์จะทำไร่ไถนาเหมือนชายหนุ่มทั่วๆ ไป แต่กลับมีใจฝักใฝ่ในเชิงช่างเหมือนตน

แล้วจะทำเช่นไร ในเมื่อยุคก่อนสังคมชนบทไม่ได้มีการค้าขายข้าวเหนียวข้าวเจ้าอย่างเป็นล่ำเป็นสันเช่นทุกวันนี้ ทุกครัวเรือนต่างปลูกข้าวกินกันเอง และหากเหลือก็จะส่งไปขายที่ภาคกลาง

แต่เจ้าหนานหมื่นไม่ยอมทำนา เยี่ยงนี้แล้วครอบครัวมิต้องกินหญ้ากันดอกรึ

“พ่อของลุงฉลาดมาก ท่านไปซื้อกระบุงใส่ข้าวใบใหญ่ๆ จากตลาดในเชียงใหม่คราวละ 20-30 ใบ เอามาแจกชาวนาเพื่อนบ้านแต่ละหลัง ซึ่งทุกคนดีใจมาก เพราะสมัยก่อนกระบุงเป็นของหายาก พวกเขาได้มีกระบุงเก็บข้าว เมื่อก่อนสังคมแต่ละหมู่บ้านแทบจะถูกตัดขาดจากกันและกัน เพราะฤดูน้ำหลากแม่กวงและแม่ทาน้ำท่วมท้นเอ่อ คนลงเรือหางแมงป่องเอาข้าวลงไปขายที่นครสวรรค์ไม่ได้ หากไม่มีกระบุง ข้าวก็จะถูกปล่อยตากแดดตากลมตามยุ้งฉาง พวกเขาได้กระบุงของพ่อลุงนี่แหละ ที่พ่อเอาไปแลกข้าวเขามา”

“ทำให้ครอบครัวลุงได้มีข้าวกินแม้เป็นครอบครัวเดียวที่ไม่ยอมทำนา”

 

นอกจากนี้แล้ว คุณลุงยังเล่าว่า เจ้าหนานหมื่นยังเป็นคนที่มีชีวิตร่วมสมัยกับ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนา” อีกด้วย

ถ้าเช่นนั้น เจ้าหนานหมื่นอาจเป็นหนึ่งในสล่าที่ติดสอยห้อยตามรับใช้ใกล้ชิดในกระบวนการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั่วล้านนามากกว่า 300 แห่งของครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยกระมัง

คุณลุงกลับตอบว่า “พ่อของลุงเป็นสล่าอิสระ ไม่ยอมสังกัดใคร จึงไม่ได้ติดตามครูบาเจ้าศรีวิชัยไปสร้างวัดต่างๆ แต่อย่างใด กอปรกับช่วงวัยหนุ่มต้องทำมาหากิน รู้แต่ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสนใจเรื่อง “12 นักษัตร” มาก ทางเหนือเรียก “ตัวเปิ้ง” ซึ่งเรื่อง 12 นักษัตรนี้ เป็นอิทธิพลมาจากจีน พ่อของลุงก็รับจ้างเขียนภาพด้านหลังแผ่นกระจกเป็นรูปตัวเปิ้งปีนักษัตรต่างๆ ขายด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้ายุคครูบาเจ้าศรีวิชัย ความนิยมในเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมี”

เมื่อถามว่า เคยเห็นครูบาเจ้าศรีวิชัยร่างแบบอาคารด้วยสายตาของเจ้าหนานหมื่นแบบสดๆ บ้างหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ ทุกคนพยายามค้นหา “พิมพ์เขียว” หรือกระดาษสเกตช์ผลงานที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยออกแบบวัดต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง คืออยากเห็นลายมือจริงๆ ของครูบา แต่ไม่มีให้เคยเห็นตามวัดใดๆ เลย แม้กระทั่งวัดบ้านปาง

“พ่อของลุงเล่าว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยลายมือสวยมาก สามารถสเกตช์ภาพได้เองจริง บางครั้งความรู้สึกทางศิลปะโลดแล่นพรั่งพรูพวยพุ่งจนถึงขีดสุด ท่านครูบาต้องเขียนแบบสองมือพร้อมกันเลย เพราะเกรงจะลืม เรื่องที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเขียนแบบได้สองมือซ้าย-ขวานี้ ไม่ใช่เรื่องโม้นะ พ่อของลุงเอ่ยชมให้ลุงฟังมาตลอด”

“สำหรับกระดาษร่างแบบที่ทุกคนตามหานั้น ไม่ต้องไปตามหรอก คงไม่เหลือให้เห็นแล้ว เพราะสมัยก่อนไม่มีกระดาษพิมพ์ขงพิมพ์เขียว หรือกระดาษขาวใช้ร่างแบบขนาดใหญ่อะไรนั่น ครูบาเจ้าศรีวิชัยและสล่าสร้างวัดในอดีตจะใช้ “ถุงปูน” เป็นกระดาษร่าง เพราะถุงปูนนี้ด้านหนึ่งจะมีความด้าน มีปั๊มยี่ห้อตราที่สั่งมาจากกรุงเทพฯ อีกด้านอาบมัน ทำให้ถุงปูนนี้มีความเหนียวคงทน เมื่อร่างเสร็จ ก่อสร้างเสร็จ คนงานของครูบาก็จะเอามาใช้ห่ออุปกรณ์ ห่อไปห่อมาก็ขึ้นสนิม”

“หรือบางครั้งก็เอาถุงปูนที่มีแบบสเกตช์นั้นไปกอบโกยเศษเหล็กเศษปูนเอาไปเผาไฟทิ้งอีก”

เราก็พอเข้าใจได้ว่า ในอดีตยังไม่มีแนวคิดเรื่องที่จะเก็บรักษาลายมือแบบร่างศิลปะของบุคคลสำคัญ เพื่อเชิดชูคุณค่าในฐานะเอกสารจดหมายเหตุแบบปัจจุบัน แม้จะรู้สึกเสียดาย แต่อย่างน้อยที่สุดข้อมูลจากคุณลุงส่วนนี้ก็ทำให้เราทราบว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยร่างแบบศิลปสถาปัตยกรรมบนถุงปูน

 

นอกจากนี้ ตัวคุณลุงอินสนธิ์เอง ก็ยังทันได้ร่วมงานศพครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วย เพราะงานพระราชทานเพลิงศพมีขึ้นในปี 2489 ซึ่งคุณลุงเกิดปี 2477 ช่วงนั้นคุณลุงก็มีอายุ 11 ย่าง 12 ขวบแล้ว

“ก่อนเผาศพครูบาเจ้าศรีวิชัยปี 2489 ประมาณปี 2483 หลังครูบาเจ้ามรณภาพได้แค่ปีเดียว มีขบวนลากจูงศพครูบาเจ้าจากวัดบ้านปาง อำเภอลี้ ผ่านมาตั้งศพแวะพักตามวัดต่างๆ หนึ่งในวัดเหล่านั้นมีวัดอินทขีลด้วย ศพครูบาเจ้าตั้งอยู่นอกวัด ริมน้ำแม่ทา ยุคนั้นตรงกับครูบาอินทวงค์ สมัยก่อนวัดอินทขีลชื่อวัดป่าซาง (ป่าซางเฉยๆ ไม่มีหลวง ไม่มีน้อย ไม่มีงาม ต่อท้าย) ลุงอายุเพียง 6 ขวบ ก็พยายามป่ายปีนดูโลงศพที่ชาวกะเหรี่ยงเขาเคลื่อนขบวนมาไว้ที่หน้าวัดป่าซางด้วย แต่จำความอะไรไม่ค่อยได้”

“งานพระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัยปี 2489 ที่วัดจามเทวี ลุงเริ่มรู้ความ เพราะอายุ 11 ย่าง 12 ขวบแล้ว เห็นคนร้องห่มร้องไห้กันไม่หยุด คนแน่นงานแทบจะเหยียบกันตาย มืดฟ้ามัวดินจริงๆ เผาศพตอนเที่ยงคืนของวันที่ 21 มีนาคม ในงานมีโรงทาน มีวงป้าดก๊อง (พาทย์ฆ้อง) มีคณะตลก มีช่างซอ และข้อสำคัญคือมีเวทีเตะลูกกูย ลุงก็มักไปป้วนเปี้ยนแถวเวทีมวยมากกว่าที่จะโฟกัสเรื่องเมรุเผาศพครูบาเจ้า”

คุณลุงอินสนธิ์ วงค์สาม จึงถือว่าเป็นบุคลากรอีกผู้หนึ่งที่ยังมีชีวิต ที่เคยทันไปร่วมงานศพครูบาเจ้าศรีวิชัย

 

ฝากเรียนเพาะช่างกับ “ทวี นันทขว้าง”
แต่สุดท้ายได้เข้าเตรียมศิลปากร

เจ้าหนานหมื่น วงค์สาม ได้พาอินสนธิ์บุตรชายคนโตหลังจากที่เรียนจบจากโรงเรียนจักรคำคณาทรในชั้น ม.6 (ระบบเก่ามีถึง ม.8 ดังนั้น ม.6 สมัยก่อนเทียบได้กับ ม. 4 ในยุคปัจจุบัน) ไปพบอาจารย์ “ทวี นันทขว้าง” ผู้ซึ่งมีอายุมากกว่าคุณลุงอินสนธิ์ร่วม 10 ปี ที่โรงเรียนเพาะช่าง สถานที่ทำงานของอาจารย์ทวี ทั้งในฐานะญาติ (บิดาของอาจารย์ทวีเป็นลูกพี่ลูกน้องกับมารดาของแม่เปาคำ วงค์ต๊ะ ของคุณลุงอินสนธิ์) และทั้งในฐานะผู้มีใจรักศิลปะเหมือนๆ กัน

โดยมุ่งหมายจะฝากฝังให้คุณลุงอินสนธิ์สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งสมัยก่อนมีหลักสูตรที่คล้ายๆ ปวช. 2 ปี เทียบได้กับชั้นสูงสุดของมัธยมปลาย และหากเรียน 3 ปีก็จะเทียบได้กับ ปวส.

อาจารย์ทวีกลับแนะนำว่า อยากให้อินสนธิ์สอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมศิลปากร (อดีตคือโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ต่อมาคือวิทยาลัยช่างศิลป์) มากกว่า เพราะเมื่อจบจากที่นั่นแล้ว ก็จะสามารถเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เลย

คือช่วงนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กำลังเปิดหลักสูตรใหม่ให้ผู้จบโรงเรียนเตรียมศิลปากร สามารถเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้อย่างต่อเนื่องเลย

คุณลุงอินสนธิ์จึงไม่ได้ฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์ทวีที่เพาะช่าง แต่เบนเข็มไปเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมศิลปากร และคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แทน ในรุ่นที่ 10 (เข้าเรียนปี 2496)

เพื่อนร่วมรุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) อาจารย์เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ (อดีตอาจารย์ “หมอดู” แห่งคณะมัณฑนศิลป์) อาจารย์รูปหล่อขวัญใจสาวๆ นิพนธ์ ผริตะโกมล เป็นต้น

เวลาที่คุยถึงอาจารย์ทวี นันทขว้าง กับคุณลุงทีไร คุณลุงมักปรารภว่า น่าแปลกที่งานของอาจารย์ทวีมีราคาสูงมาก สูงลิบลิ่วตั้งแต่แกยังหนุ่มๆ แต่ที่ลำพูนกลับไม่มีหอศิลป์ หรือแกลเลอรี่ที่เป็นอนุสรณ์แสดงงานศิลปะสำหรับให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษางานของท่านเลย งานส่วนใหญ่กระจายอยู่ตามแกลเลอรี่ในกรุงเทพฯ และต่างประเทศ

ทั้งๆ ที่ท่านก็เป็นศิลปินแห่งชาติชาวลำพูน

 

เรียนอยู่ดีๆ ถูกส่งไปบวช 1 เดือน

คุณลุงอินสนธิ์เล่าว่า วิชาช่างศิลปะเกือบทุกแขนงนั้น คุณลุงได้เรียนรู้มาแล้วอย่างลึกซึ้งจากเจ้าหนานหมื่นผู้เป็นพ่อ ไม่ว่างานเขียนสีบนกระจก งานติดกระจกจืน งานเจียระไนทอง งานแกะสลักเครื่องเงิน งานลงรักรดน้ำปิดทองล่องชาด (ลายคำน้ำแต้ม) รวมถึงงานแกะไม้ เพราะคุณลุงติดสอยห้อยตามบิดาไปช่วยบูรณะวัดต่างๆ ในลำพูนอยู่นานหลายปี

จึงทำทุกอย่างเป็นโดยสายเลือดและจิตวิญญาณอยู่แล้ว

“ทำให้หลายๆ วิชา ลุงแอนตี้ไม่เข้าชั้นเรียนเลย เพราะช่วงนั้นลุงทระนงตนว่ามีวิชาความรู้เหนือกว่าคนที่มาสอน ซึ่งอาจารย์ที่ทำหน้าที่ช่วยอาจารย์ศิลป์สอนวิชาต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนหนุ่ม เพิ่งจบศิลปากรกันมาหมาดๆ ใหม่ๆ บ้างเป็นศิษย์ก้นกุฏิอาจารย์ศิลป์ตั้งแต่สมัยโรงเรียนประณีตศิลปกรรม บ้างก็เป็นรุ่นพี่ลุงไม่กี่ปี บางคนสอนแบบมีแต่ทฤษฎี แต่ปฏิบัติไม่เป็น บางคนพูดภาษาอังกฤษยังไม่คล่อง ลุงจึงบอยคอตไม่เข้าเรียนสักวิชาเลย ยกเว้นเฉพาะวิชาของอาจารย์ศิลป์คนเดียว”

“อาจารย์หนุ่มๆ พวกนั้นโกรธจัด หัวฟัดหัวเหวี่ยง ฟ้องอาจารย์ศิลป์ให้ลงโทษลุงด้วยการไล่ออก หาว่าลุงหัวดื้อ คือลุงจะเป็นคน “พูดน้อยต่อยหนัก” ไม่มีปากไม่มีเสียงกับใคร ไม่พูดอะไร แต่ดื้อเงียบ ภาษากลางเรียก “หัวรั้น” หรือ “ดื้อตาใส” ภาษาเมืองเรียก “หลึก” อาจารย์ศิลป์เรียกลุงไปคุย ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ลุงก็ไม่พูด”

“สุดท้าย อาจารย์ศิลป์มีมติ ขอให้มหาวิทยาลัยศิลปากรแค่ภาคทัณฑ์ลุงด้วยการส่งไปปฏิบัติธรรมสัก 1 เดือนดูก่อน คือยังไม่ถึงกับต้องไล่ออก เพื่อให้ลุงสงบจิตสงบใจลงบ้างแล้วกลับมาเรียนต่อ วัดที่ลุงถูกส่งไป ก็ไม่ให้อยู่ในลำพูนนะ เดี๋ยวจะไปวุ่นวะวุ่นวายกับตุ๊เจ้าที่รู้จักกันอีก อาจารย์ศิลป์ส่งลุงไปบวชที่วัดพระธาตุดอยสุเทพโน่น”

ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ ในยุคเมื่อ 60 ปีก่อน เปลี่ยววิเวกมาก หาใช่แหล่งท่องเที่ยวคึกคักแบบทุกวันนี้ไม่ คุณลุงอินสนธิ์บอกว่าวัดเงียบเป็นป่าช้า คุณลุงต้องปฏิบัติธรรมจริงๆ โดยทางวัดคอยควบคุมวิธีปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามที่อาจารย์ศิลป์ขอร้อง บางครั้งก็ส่งคุณลุงไปอยู่ที่เขาลูกหนึ่งใกล้ๆ ดอยสุเทพ

แต่ก็แหมอีกนั่นแหละ ดวงคนจะโกอินเตอร์ซะอย่าง อุตส่าห์ถูกส่งมาบวชและปฏิบัติธรรมที่วัดบนเขาห่างไกลชุมชนขนาดนี้แล้ว แม้กระนั้นพระภิกษุพี่เลี้ยงที่คอยดูแลสอนกัมมัฏฐานคุณลุงก็ยังเป็น “พระวิปัสสนาลูกครึ่งอังกฤษ-มาเลย์” เข้าอีก คุณลุงจึงได้หัดฟุตฟิตฟอไฟกับพระพี่เลี้ยงรูปนั้นจนสนุกปาก

ผ่านไปหนึ่งเดือน กลับมาเรียนต่อที่ศิลปากร ปรากฏว่าคราวนี้คุณลุงเข้าเรียนตามปกติ ไม่มีทิฐิมานะใดๆ ต่อครูหนุ่มน้อยทั้งหลาย ที่คุณลุงเคยปรามาสว่าฝีมืออ่อนด้อย หรือเก่งน้อยกว่าตนอีกต่อไป

การบวชนี่ก็ดีนะคะ คนเหนือเขาบอกว่า จะทำให้จาก “คนดิบ” กลายมาเป็น “คนสุก” (สุข) ได้