จริงหรือ? ที่เขาว่า “คนรวยมีลูกยาก คนจนมีลูกง่าย”

หลายคนคงคุ้นชินกับประโยค “คนรวยมีลูกยาก คนจนมีลูกง่าย” ซึ่งเคยถูกตั้งคำถามมาแล้วหลายหน ทั้งในโลกโซเชียลและวงสนทนาต่างๆ

หลายคนเห็นด้วย แต่ก็มีไม่น้อยที่เห็นแย้งประโยคดังกล่าว โดยใช้เหตุผลซึ่งอ้างอิงจากความรู้สึกของตนเอง ทว่าปราศจากข้อพิสูจน์ยืนยันตามหลักวิชาการ

ความไม่ชัดเจนจึงดำรงอยู่ ท่ามกลางฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านสมมุติฐานชวนถกเถียงข้างต้น

ปัญหาการมีบุตรยากถือเป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลจำนวนและอัตราเกิดมีชีพและตายทั่วราชอาณาจักรของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการเกิดมีชีพต่อ 1,000 คน ลดหลั่นลงมาต่อเนื่อง

ใน พ.ศ.2526 มีอัตราอยู่ที่ 21.3 แต่ใน พ.ศ.2560 อัตราการเกิดมีชีพเหลือเพียง 10.6 เท่านั้น

ทั้งที่ปัจจุบันมีผู้มาปรึกษาแพทย์เรื่องการมีบุตรสูงขึ้นกว่าสมัยก่อน คำถามน่าสนใจตามมาคือ ทำไมอัตราการเกิดถึงลดลงเรื่อยๆ

ถ้าลองสังเกตกลุ่มคู่รักผู้มีชื่อเสียง ทั้งดารา-นักแสดง หรือแม้แต่ผู้มีหน้ามีตาในสังคม หลายคู่ต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบผลสำเร็จในการให้กำเนิดบุตร หรือบางคู่อาจไม่ประสบความสำเร็จเลย

ขณะที่ข่าวบนหน้าจอทีวีหรือในสื่อโซเชียล กลับรายงานปัญหาสังคมอันเกิดจากพ่อ-แม่ที่ให้กำเนิดบุตรโดยไม่มีความพร้อม บ่อยครั้งขึ้น

หรือนี่คือข้อพิสูจน์ว่าประโยค “คนรวยมีลูกยาก คนจนมีลูกง่าย” นั้นเป็นจริง?

รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก “ศูนย์ผู้มีบุตรยาก เจ้าพระยา-จินตบุตร” เปิดเผยว่า การมี/ไม่มีบุตรไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “เศรษฐานะ” โดยตรง แต่เงื่อนไขดังกล่าว รวมถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป นับเป็นปัจจัยทางอ้อมต่อปัญหานี้

ดังจะเห็นว่าในยุคนี้ ทุกคนต้องเรียนหนังสือ หางานทำเพื่อสร้างฐานะ เมื่อฐานะพร้อมแล้วจึงตัดสินใจมีลูก ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นก็เลยวัยที่ธรรมชาติกำหนดเรียบร้อยแล้ว

รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมีบุตรยาก “ศูนย์ผู้มีบุตรยาก เจ้าพระยา-จินตบุตร”

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า พื้นฐานที่สำคัญ หนึ่ง คือการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของโอกาส โดยเฉพาะเราพูดถึงในผู้หญิงเป็นหลักละกัน ในผู้หญิง ความสามารถในการเจริญพันธุ์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือโอกาสที่เขาจะท้องง่ายๆ ตามธรรมชาติ ตัวที่เป็นเหตุตั้งต้นคือรังไข่ รังไข่จะทำงานได้ดีที่สุดในช่วงวัยอายุประมาณ 20-30 ปี

“หลังจากนั้น วัยหลัง 30 ปี เป็นวัยที่โอกาสท้องหรือความสามารถในการเจริญพันธุ์ก็จะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุ หลัง 35 จะเป็นวัยที่กราฟมันเริ่มจะลงเร็วขึ้น ถ้าถึงวัย 40 ไปแล้ว โอกาสจะลดลงแบบเร็วมาก เรียกว่าปีต่อปีเลย ซึ่งส่วนใหญ่ 50 ปี รังไข่ก็จะหมดสภาพแล้ว” รศ.นพ.สุภักดีอธิบาย

ขณะที่ในกลุ่มของเพศชาย อายุไม่ส่งผลมากนัก ยกเว้นเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาเนื่องจากคุณภาพอสุจิลดลง

เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าค่านิยมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงและประเด็น “เศรษฐานะ” ได้ส่งผลกระทบโดยอ้อมแต่สำคัญ ต่อธรรมชาติในการให้กำเนิดบุตรของมนุษย์

“กลุ่มที่มีฐานะดี การศึกษาดี มีความพร้อมทุกอย่าง แต่เขามาเริ่มเวลาที่ต้องการมีลูกจริงๆ ช้าแล้ว ก็เลยมีลูกยาก ในขณะกลุ่มที่อาจจะเศรษฐานะไม่ดีนัก เขาอาจจะเริ่มต้นครอบครัวเร็ว บางทีอายุ 20 ต้นๆ เขาก็โอเค แต่งงานกันแล้ว มีลูก ก็มีลูกง่ายๆ ตามธรรมชาติ

“ก็เลยเป็นภาพที่เราได้เห็นกันทั่วว่า คนรวยมีลูกยาก คนฐานะไม่ค่อยดีนักมีลูกง่าย มีลูกเยอะ” รศ.นพ.สุภักดีกล่าว

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องอายุ ยังมีประเด็นความผิดปกติทางร่างกาย ที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก

รศ.นพ.สุภักดีเผยว่า ในกรณีเพศหญิง ส่วนใหญ่อาจจะเกิดจากความผิดปกติที่ตัวมดลูก เช่น เป็นเนื้องอกในมดลูก การตกไข่ไม่ปกติ หรือว่าในกรณีมีความผิดปกติข้างใน เช่น มีพังผืดในช่องเชิงกราน เรียกว่า “ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่” ซึ่งจะพบประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีลูกยาก

ส่วนในผู้ชาย ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องอสุจิไม่ปกติ คือจำนวนตัวอสุจิน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่ประมาณ 20 ล้านตัวต่อ 1 ซีซี แต่การมีอสุจิ 20 ล้านตัวต่อ 1 ซีซี ก็ใช่ว่าจะมีลูกได้ง่ายๆ เพราะต้องดูอัตราการว่ายของอสุจิด้วย

“จริงๆ แล้วในคนทั่วๆ ไป ที่เขามีลูกกันเองโดยธรรมชาติ จะมีอสุจิสัก 40-80 ล้านตัวต่อซีซี แล้วอัตราการว่าย 40-50 เปอร์เซ็นต์ อาจจะไม่ได้ว่ายทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ทุกตัวก็ได้ นอกจากนี้ ต้องดูรูปร่างของอสุจิด้วย ว่าเป็นอสุจิที่ปกติไหม เมื่อเทียบกับคนทั่วๆ ไป” รศ.นพ.สุภักดีให้ความรู้

อัตราเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงการมีลูกตามธรรมชาติได้หรือไม่ได้ของเพศชาย หากแต่หมายถึงโอกาสในการทำให้ตั้งครรภ์

รศ.นพ.สุภักดีบอกว่า ชายหลายคนอาจจะมีอสุจิต่ำกว่าเกณฑ์ก็จริง แต่สามี-ภรรยาจำนวนหนึ่งกลับประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดบุตร แม้พ่อบ้านต้องเจอปัญหาเรื่องคุณภาพอสุจิ

เพราะสุดท้ายแล้ว ผู้ไม่มีโอกาสมีลูกตามธรรมชาตินั้น จะต้องเป็นบุคคลผู้มีจำนวนอสุจิเท่ากับ “0” หรือ “เป็นหมัน”

หลายคนมักมีความเชื่อว่าการออกกำลังกายและกินอาหารเสริมจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องมีลูกยาก แต่ รศ.นพ.สุภักดีให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผลวิจัยหรือผลการศึกษาที่ยืนยันว่ากิจกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อการมีบุตรโดยตรง แต่อาจช่วยในเรื่องของสุขภาพและกำลังใจมากกว่า

“ผู้หญิงบางคนถามว่า ต้องไปกินยาอะไร กินอาหารอะไร ไปดูแลสุขภาพดีไหม ให้แข็งแรง รังไข่จะได้แข็งแรง ไม่จริงหรอก ช่วยไม่ได้ เพราะว่ารังไข่เป็นอะไรที่ช่วงอายุเขาสั้น ช่วงชีวิตของเขาสั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเขาไปแล้ว เขาก็ไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้

“ส่วนของผู้ชายบางคนบอกว่าไปกินหอยนางรม กินซิงก์ กินอะไรพวกนี้ มันอาจจะไปช่วยทางด้านสมรรถภาพทางเพศมากกว่า แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอสุจิ”

รศ.นพ.สุภักดีแนะนำว่า ถ้าพ่อ-แม่คู่ไหนยังมีอายุอยู่ในช่วงเวลาที่ดีและร่างกายเป็นปกติ ก็ยังพอมีเวลาที่จะสามารถมีลูกตามธรรมชาติได้

แต่หากร่างกายไม่ปกติและเริ่มมีอายุเกินช่วงเวลาเหมาะสมแล้ว ก็ไม่ควรเสียเวลากับ “สิ่งที่ไม่ใช่” เพราะอาจส่งผลให้หมดโอกาสตั้งครรภ์

ทั้งนี้ เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์หรือที่เรียกว่าการทำ “เด็กหลอดแก้ว” อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งสามารถช่วยสานฝันให้แก่คุณพ่อคุณแม่ผู้มีบุตรยาก แม้จะไม่ใช่วิธีการตามธรรมชาติก็ตาม