หากผู้มีอำนาจ ‘สำนึก’ ถึงอนาคตของประเทศ

โอกาสสู่ความเชื่อมั่น

บ้านเมืองต้องการความสงบ เพราะความเรียบร้อยเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น อันส่งผลสูงต่อโอกาสในการพัฒนาประเทศ

แต่ความสงบที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นนั้น ไม่เพียงไม่ใช่ความสงบที่เกิดจากการใช้อำนาจกดข่ม เพื่อสยบทุกความเคลื่อนไหว เพราะการบริหารประเทศที่สร้างความเคยชินในการใช้อำนาจบังคับให้เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจต้องการนั้น ยิ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นย่ำแย่ลงไปอีก

ด้วยว่าการละเมิดข้อตกลง หรือเรื่องที่ควรจะเป็นเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

ความสงบเรียบร้อยที่ต้องการจึงเป็นในทางที่ทุกคนทุกฝ่ายรู้หน้าที่ของตัวเองตามบทบาท ตามอาชีพ เคารพในบทบาทหน้าที่ของผู้อื่น ไม่เข้าไปคุกคามก้าวก่าย หรือยึดครองทำแทน

กระทั่งนำตัวเองไปอยู่ในสภาพต้องทำท่าว่า “เก่งทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องในหน้าที่ตัวเอง”

ความสงบที่ได้ทำให้สังคม หรือประเทศได้รับความเชื่อถือ จึงไม่ใช่เรื่องการใช้อำนาจกดข่ม แต่เป็นความสงบเพราะต่างคนต่างเชื่อมั่นเพื่อนรjวมสังคมว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี

เพราะปรารถนาความสงบแบบเชื่อมั่นในกันและกันนี่เองที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกดี มีความหวังขึ้นมาหลังจากที่ผู้มีอำนาจประกาศนำประเทศกลับสู่รัฐบาลประชาธิปไตย โดยจะให้มีการเลือกตั้งในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

เป็นความยินดีปรีดาของประชาชนว่าการเลือกตั้งจะนำความสงบในรูปแบบที่สร้างความเชื่อมั่นได้กลับมาให้ประเทศอยู่ในภาวะที่พัฒนาได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม จะพบว่ายังมีความห่วงกังวลอยู่ในเรื่องความสงบจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่หลังเลือกตั้ง

เหตุที่ก่อให้เกิดความกังวลดังกล่าวคือ การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาเป็นที่รับทราบกันว่าแค่กติกาโครงสร้างอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกันอยู่แล้วว่าเอื้อให้อำนาจนอกระบบมากกว่าอำนาจที่มาจากประชาชน

ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้การเมืองหลังการเลือกตั้งอยู่ในความเรียบร้อยจึงจำเป็นต้องไม่เพิ่มเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

ดูเหมือนประชาชนเองเล็งเห็นปัญหานี้อยู่ไม่น้อย

เมื่อ “สวนดุสิตโพล” สำรวจความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งปีที่จะเกิดขึ้น ในคำถามที่ว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ประชาชนวิตกกังวลเรื่องอะไรบ้าง

มากที่สุดร้อยละ 41.03 จึงตอบว่ากังวลเรื่องความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นกลาง ซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง รองลงมาร้อยละ 33.79 เป็นเรื่องความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้ง การสร้างสถานการณ์วุ่นวายปั่นป่วน ร้อยละ 16.44 เรื่องการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวที่ไม่เป็นจริง ร้อยละ 14.03 เป็นเรื่องอื่นๆ เช่น คนที่มาบริหารประเทศ นโยบายสร้างภาพ กลัวว่าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีก

ผลสำรวจนี้ย่อมยืนยันได้ว่า แม้จะปรารถนาให้มีการเลือกตั้ง แต่ห่วงว่าผลการเลือกตั้งจะไม่ได้รับการยอมรับมีอยู่สูงในใจ

เป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งในทุกระดับ จะต้องทำให้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีข้ออ้างในเรื่องไม่ยอมรับ

ไม่ใช่ทำโดยใช้อำนาจ และกำลังบังคับให้ยอมรับ

แต่ต้องเป็นการทำให้ยอมรับด้วยเหตุด้วยผล

ดังนั้น ผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง หากมีสำนึกถึงอนาคตของประเทศที่จำเป็นต้องพัฒนาไปด้วยเงื่อนไขแห่งความสุขสงบเรียบร้อย ในแบบที่สร้างความเชื่อมั่นให้ในประเทศและต่างประเทศได้ จะต้องเอาจริงเอาจัง เข้มแข็งที่จะจัดการเลือกตั้งให้เกิดความโปร่งใส

ไม่ให้มีอำนาจใดมาทำในสิ่งที่เบี่ยงเบนผลการเลือกตั้งไปจากความบริสุทธิ์ยุติธรรมได้

ถ้าสำนึกนี้เกิดขึ้นได้

โอกาสที่ประเทศจะกลับสู่การก้าวไปในอนาคตที่ดีได้ จะยังมีอยู่