กรองกระแส/2 แนวการเมือง เผด็จการ ประชาธิปไตย ผลผลิตจาก คสช.

กรองกระแส

 

2 แนวการเมือง

เผด็จการ ประชาธิปไตย

ผลผลิตจาก คสช.

 

มิใช่ว่าด้วยพลังของพรรคเพื่อไทย มิใช่ว่าด้วยพลังของพรรคอนาคตใหม่ มิใช่ว่าด้วยพลังของพรรคประชาชาติไทย จะก่อให้เกิดแนวรบ 2 แนวขึ้นในสมรภูมิการเลือกตั้งได้

ตรงกันข้าม บทบัญญัติของ “รัฐธรรมนูญ” ต่างหากที่เป็นปัจจัย

ตรงกันข้าม มโนและปณิธานทางการเมืองที่ต้องการในการสืบทอดอำนาจของ “คสช.” ต่างหากที่เป็นปัจจัย

ทุกอย่างเริ่มต้นจาก “รัฐประหาร”

ทุกอย่างเริ่มต้นจากความต้องการในการดำรงอยู่ในอำนาจ เริ่มต้นจากความรู้สึกหวงแหนต่ออำนาจอันได้มาจากกระบวนการรัฐประหารต่างหากที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อสนองตอบต่อเจตจำนงทางการเมือง

และนั่นแหละคือรากฐานและต้นตออย่างแท้จริง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งก็จะเกิดแนวรบ 2 แนวขึ้นอย่างเด่นชัด ไม่มีแนวรบด้านที่ 3

 

แนวทาง คมช.

แนวทาง คสช.

แม้รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะมีจุดร่วมอย่างเดียวกันคือ การโค่นล้มและทำลายพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย แต่ก็มีจุดต่างอย่างสำคัญในเรื่องของวิธีการและความเข้มข้น

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คมช.ดำรงอยู่ในลักษณะชั่วคราว จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญและมอบอำนาจให้กับพันธมิตรอย่างที่เรียกว่า “แผนบันได 4 ขั้น”

แม้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 จะล้มเหลว

แต่ด้วยการเคลื่อนไหวของเครือข่ายไม่ว่าจะโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและยึดกุมแนวทางตุลาการภิวัฒน์ ในที่สุดก็โค่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้ในเดือนพฤศจิกายน 2551 และองค์ประกอบตาม “แผนบันได 4 ขั้น” ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างที่เรียกว่าจาก “ค่ายทหาร”

ชัยชนะจากการล้อมปราบในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 อาจทำให้เกิดความมั่นใจจึงได้มีการยุบสภา แต่แล้วการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ก็ซ้ำรอยเดิมอีกด้วยชัยชนะของพรรคเพื่อไทย จึงมีความจำเป็นต้องก่อการเคลื่อนไหวผ่าน กปปส. และลงเอยด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 พร้อมกับการสรุปบทเรียนและยกระดับให้เข้มยิ่งกว่ากระบวนการของ คมช.

นั่นก็คือ คสช.เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตนเอง เผด็จการอำนาจและดำเนินการผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มข้น ที่สำคัญคือไม่วางมือจากอำนาจเหมือนกับยุค คมช. หากแต่แน่วแน่ในการสืบทอดอำนาจอย่างเต็มพิกัด

คสช.แปรเปลี่ยนจากที่เคยแสดงตนเป็น “กรรมการ” กลายเป็น “ผู้เล่น” ด้วยตนเอง

 

รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร 2557

หากมองอย่างแยกส่วนคล้ายกับว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นคนละส่วนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่คนละเวลาเท่านั้น

หากมองผ่านเป้าหมายรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยังคงดำรงจุดมุ่งหมายเดียวกันกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพียงแต่เปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาเป็นพรรคเพื่อไทยเท่านั้นเอง

องคาพยพทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าผ่านพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังชาติไทย ล้วนแต่มีเครือข่ายทางการเมืองที่เคยมีบทบาทในรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ไปมีบทบาทอยู่ด้วยทั้งสิ้น

การก่อรูปของพรรคเหล่านี้คือความเข้มของ คสช.ที่เหนือกว่า คมช. และเท่ากับเป็นการลงมาเล่นด้วยตนเองโดยตรง

เท่ากับทำให้แนวรบเดิมมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

ยิ่ง คสช.สำแดงเจตจำนงในการรักษาอำนาจและสืบทอดอำนาจแข็งแกร่งและมั่นคงมากเพียงใดยิ่งทำให้แนวรบ 2 แนวก่อรูปขึ้นอย่างเป็นระบบมากเป็นลำดับ เท่ากับเป็นการเสนอและก่อให้เกิด 2 แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองโดยอัตโนมัติ

1 แนวทางเอาด้วยกับ คสช. 1 แนวทางไม่เอาด้วยกับ คสช.

1 แนวทางเอาด้วยกับรัฐประหาร และ 1 แนวทางไม่เอาด้วยกับรัฐประหาร

 

การต่อสู้ 2 แนวทาง

ผลผลิตจาก “คสช.”

 

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง สถานการณ์จะค่อยๆ จัดระบบ วางแนวให้กับแต่ละพรรคการเมืองมากยิ่งขึ้น

1 ย่อมเป็นแนวของ คสช. 1 ย่อมเป็นแนวที่ไม่ใช่ของ คสช.

แนวทางแรกย่อมแสดงให้เห็นความล้ำเลิศ ความยอดเยี่ยมในผลงานตลอด 4-5 ปีของ คสช. แนวทางหลังย่อมแสดงให้เห็นความบกพร่อง อ่อนด้อย และความล้มเหลวตลอด 4-5 ปีที่ขึ้นมามีอำนาจของ คสช.

เป็นการต่อสู้ทั้งในพรมแดนทางเศรษฐกิจ เป็นการต่อสู้ทั้งในพรมแดนทางการเมือง และก็ขมวดไปยังผลึกในทางความคิดรวบยอด

นั่นก็คือ ความคิดเผด็จการ กับความคิดประชาธิปไตย